ป็นที่น่าจับตามองในปี 2560 อย่างยิ่ง สำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าที่กำลังจะได้เดินหน้างานก่อสร้างหลังจากเปิดซองประกวดราคาไปแล้วทั้ง 3 สาย  คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี),  โมโนเรล สายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี)  และโมโนเรล สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)   โดยเฉพาะเส้นทางของสายสีเหลืองนั้น  ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ อันประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประมูลในราคาต่ำสุด  มีแนวคิดที่จะขยายเส้นทางเพิ่มเติมอีก 2.6 กิโลเมตร  จากบริเวณแยกลาดพร้าวจะก่อสร้างไปบนเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก ผ่านหน้าศาลอาญาเพื่อไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า สายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่บริเวณสถานีรัชโยธิน  ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน  ทำให้สายสีเหลืองจะมีสถานีให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง  จะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง  เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)  ขับเคลื่อนบนคานในลักษณะคร่อมราง  โดยรางวิ่งมีหน้าที่นำทาง ส่วนโครงสร้างทางวิ่งของรถไฟฟ้าเป็นทางยกระดับที่สร้างอยู่ในบริเวณทางเท้าด้านข้างถนน  หรือในแนวเกาะกลางของถนนสายหลัก  มีลักษณะโปร่ง   ใช้โครงสร้างคอนกรีตหน้าตัดรูปตัวไอ  สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 10,000-40,000 คน/ชม./ทิศทาง  ความเร็วสูงสุด  80 กม./ชม.   ใช้เงินลงทุนประมาณ  57,306  ล้านบาท

 

เจ้าของโครงการ :  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 

แนวเส้นทาง  : มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร  สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว แล้ววิ่งไปตามแนวเกาะกลางของถนนลาดพร้าว ผ่านซอยภาวนา  ถนนโชคชัย 4     จนถึงทางแยกบางกะปิ  ก่อนจะเลี้ยวขวาลงใต้เข้าถนนศรีนครินทร์  ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ที่แยกลำสาลี จากนั้นก็วิ่งไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ ผ่านทางแยกต่างระดับพระราม9  มาต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์   ผ่านแยกพัฒนาการ  ศรีนุช  ศรีอุดม  ศรีเอี่ยม  จนถึงแยกศรีเทพา  ก่อนจะเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกตามถนนเทพารักษ์  ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการที่สถานีสำโรง  และสิ้นสุดที่บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย  ระยะทางรวม 30.4  กิโลเมตร  ในเบื้องต้นมีสถานี 23 สถานี   ดังนี้

1.สถานีรัชดา   ตั้งอยู่หน้าอาคารจอดแล้วจรบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

2.สถานีภาวนา  ตั้งอยู่ปากซอยภาวนา  (ลาดพร้าว 41)

3.สถานีโชคชัย 4  ตั้งอยู่หน้าศูนย์การค้าโชคชัย 4 (ลาดพร้าว 53)

4.สถานีลาดพร้าว 71  ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 71  (สถานีในอนาคต)

5.สถานีลาดพร้าว 83   ตั้งอยู่บริเวณระหว่างซอยลาดพร้าว 83 กับซอยลาดพร้าว 85

6.สถานีมหาดไทย  ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 95  บรษัท ฟู๊ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด(สาขาลาดพร้าว)

7.สถานีลาดพร้าว 101  ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 101 ใกล้ตลาดสดลาดพร้าว

8.สถานีบางกะปิ  ตั้งอยู่หน้าห้างแม็คโคร  ใกล้กับเดอะมอลล์  บางกะปิ

9.สถานีลำสาลี  ตั้งอยู่แยกลำสาลี(ด้านทิศใต้)     เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม

10.สถานีศรีกรีฑา  ตั้งอยู่แยกศรีกรีฑา (ด้านทิศใต้)

11.สถานีพัฒนาการ  ตั้งอยู่ระหว่างจุดตัดทางรถไฟและจุดตัดถนนพัฒนาการ  เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

12.สถานีกลับตัน  ตั้งอยู่หน้าธัญญะ ช็อปปิ้ง พาร์ค และบ้านกลางเมือง  ศรีนครินทร์  (สถานีในอนาคต)

13.สถานีศรีนุช  ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของแยกศรีนุช

14.สถานีศรีนครินทร์ 38  ตั้งอยู่บริเวณปากซอยศรีนครนิทร์ 38 ใกล้ธนาคารกรุงไทย  (สถานีในอนาคต)

15.สถานีสวนหลวง ร.9  ตั้งอยู่ระหว่างห้างซีคอนแสควร์และห้างพาราไดซ์ พาร์ค

16.สถานีศรีอุดม  แยกศรีอุดม  (ด้านทิศใต้)

17.สถานีศรีเอี่ยม   ตั้งอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม  (ด้านทิศเหนือของถนนบางนา-ตราด) จุดจอดแล้วจรและศูนย์ซ่อมบำรุง

18.สถานีศรีลาซาล  ตั้งอยู่แยกศรีลาซาล (ด้านทิศใต้)

19.สถานีศรีแบริ่ง  ตั้งอยู่แยกศรีแบริ่ง (ด้านทิศใต้)

20.สถานีศรีด่าน  ตั้งอยู่ใกล้กับแยกศรีด่าน  (ด้านทิศเหนือ)

21.สถานีศรีเทพา  ตั้งอยู่ใกล้กับแยกศรีเทพา  (ด้านทิศตะวันตก)

22.สถานีทิพวัล  ตั้งอยู่ปากซอยหมู่บ้านทิพวัล

23.สถานีสำโรง ตั้งอยู่ใกล้แยกสุเทพา  ใกล้ตลาดสดเทพารักษ์   เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สำโรงที่สถานีสำโรง

 

ในส่วนของรูปแบบการลงทุนของโครงการ  จะเป็นลักษณะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP  Net  Cost  โดยภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ส่วนเอกชนจะลงทุนค่างานโยธา  ระบบรถไฟฟ้า  และขบวนรถไฟฟ้า  รวมทั้งบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา  ซึ่งจะให้ระยะเวลาสัมปทานเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน  และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี)    พร้อมกับภาครัฐจะให้วงเงินสนับสนุนค่างานโยธาแก่เอกชนในวงเงินไม่เกิน 22,354 ล้านบาท   คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2560  มีกำหนดเปิดให้บริการประมาณเดือนสิงหาคม 2563

 

จากแนวเส้นทางที่โมโนเรลสายสีเหลืองพาดผ่าน  ตั้งแต่บริเวณแยกรัชาด-ลาดพร้าว  ไปตามถนนลาดพร้าว  เข้าบางกะปิ ไปตามแนวถนนศรีนครินทร์  ถนนเทพารักษ์  จนมาสิ้นสุดที่บริเวณจุดตัดของถนนเทพารักษ์กับถนนสุขุมวิท (สถานีสำโรง ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ)  นับว่าเป็นย่านชุมชนเมือง   แหล่งธุรกิจ-ศูนย์การค้าที่หนาแน่นอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

 

ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนอื่นได้ถึง 6 สาย (ในกรณีที่ได้มีการต่อขยายเส้นทางเพิ่มของผู้ได้รับสัมปทาน) คือ 1.เชื่อมต่อกับ BTS สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่บริเวณสถานีรัชโยธิน  2.เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว, 3. เชื่อมต่อกับโมโนเรล สายสีเทา (วัชพล-ทองหล่อ)ของกรุงเทพมหานคร ที่บริเวณจุดตัดถนนลาดพร้ากับเลียบทางด่วนรามอินทราฯ, 4.รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ที่บริเวณทางแยกลำสาลี  5.เชื่อมต่อกับรถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9  และ6. เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่บริเวณสถานีสำโรง

 

ด้านราคาที่ดินตามแนวเส้นทางของโมโนเรลสายดังกล่าว  พบว่าปัจจุบันเฉพาะบริเวณช่วงต้นของถนนลาดพร้าวนั้น  ราคาที่ดินที่ติดถนนใหญ่ซื้อ-ขายกันอยู่ที่ประมาณ 400,000-500,000 บาทต่อตารางวา   หรือที่ดินย่านพัฒนาการ  ราคาซื้อ-ขายอยู่ที่ประมาณ 250,000 บาทต่อตารางวา  ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นกว่านี้แน่  หากโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนมีความคืบหน้าด้านงานก่อสร้างในอนาคต

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*