สภาวิศวกรขับเคลื่อนการแก้ไขกฎกระทรวงฯเฝ้าระวังจากเหตุการณ์กรณีศึกษา รื้อถอน ตึกถล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต กำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในส่วนของสาขาวิศวกรรมโยธาให้มีความเข้มข้นหวังช่วยลดปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากวิศวกรดูแลโครงการ ป้องกันการสูญเสียในอนาคต คาดนำเสนอต่อรมว.มหาดไทยภายใน 6 เดือน 

 

 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากกรณีที่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์รื้อถอนอาคารจนเกิดการถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ขณะนี้สภาวิศวกรได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในส่วนของสาขาวิศวกรรมโยธา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดให้ประเภทและขนาดของงานทางวิศวกรรมโยธาหลายๆ งานที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนให้เป็นประเภทและขนาดของงานวิศวกรรมควบคุมตาม พ.ร.บ. วิศวกร พ.ศ. 2542 โดยผู้ที่ทำงานวิศวกรรมควบคุมเหล่านี้ได้ จะต้องเป็นวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร

 

ทั้งนี้กฎกระทรวงฯใหม่นี้จะกำหนดประเภทและขนาดของงานวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาเพิ่มเติมจากเดิม อาทิ  1. อาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 150 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ 2 ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยเรื่องการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550

 

2. งานยกหรือเคลื่อนย้ายอาคารทุกประเภท ที่มีน้ำหนักรวมของอาคารตั้งแต่ 50 เมตริกตันขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 150 ตารางเมตรขึ้นไป

 

3.งานต่อเติม รื้อถอน หรือดัดแปลงอาคารทุกประเภท ที่ทำให้สัดส่วนของอาคารผิดไปจากแบบแปลนหรือรายการประกอบแบบที่ได้รับอนุญาตเกินร้อยละห้า หรือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10

 

4. โครงสร้างรองรับหรือติดตั้งเครื่องเล่นที่มีความสูงจากระดับพื้นที่ตั้งของเครื่องเล่นถึงระดับพื้นที่สูงสุดที่ผู้เล่นเครื่องเล่นขึ้นไปเพื่อเล่นตั้งแต่ 2.50 เมตรขึ้นไป หรือเครื่องเล่นที่เคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วตั้งแต่ 5 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป หรือมีส่วนที่ต้องใช้น้ำมีความลึกของระดับน้ำตั้งแต่ 0.80 เมตรขึ้นไป และอื่นๆ

 

โดยทั้งหมดนี้ให้เป็นวิศวกรรมควบคุม เพื่อให้ผู้ที่สามารถจะทำงานเหล่านี้ได้ต้องเป็นวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร โดยหลังจากที่กำหนดเป็นวิศวกรรมควบคุม หากผู้ที่ไปทำงานวิศวกรรมเหล่านี้ไม่ได้รับใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร แต่ทำงานไม่เป็นไปตาม  หลักปฏิบัติและวิชาการ ก็อาจมีความผิดจรรยาบรรณ มีโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

 

ศ.ดร. อมร กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนต่อไปคือการส่งเรื่องให้ คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายของสภาวิศวกร ตรวจพิจารณาร่างแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 และจัดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าในส่วนของสภาวิศวกรจะสามารถดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ และเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ ภายใน 6 เดือน หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2560

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*