นับตั้งแต่บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ดำเนินธุรกิจอสังหาฯมาตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันมีบริษัทในเครือรวมทั้งสิ้น 4 บริษัท โดยที่ผ่านมาทุกบริษัทจะบริหารงานรองรับทุกโครงการของLPN มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคจะรับรู้แบรนด์ “ลุมพินี” ที่พัฒนาคอนโดฯมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-ล่างมาโดยตลอด ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ชุมชนน่าอยู่” ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของLPN มาโดยตลอด แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วย รวมไปถึงธุรกิจอสังหาฯ โดยในยุคบูมทุกโครงการของLPN ที่เปิดตัว จะปิดการขายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดรับรู้รายได้ของLPN กลับลดลงตามลำดับ

ปรับแผนธุรกิจทั้งเครือปั๊มรายได้เพิ่ม

 

โดยนายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยว่าในปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้ประสบอุปสรรคที่ส่งผลให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ด้วยสาเหตุจากทั้งปัจจัยภายใน คือ สินค้าค้างขาย (Inventory) และกลยุทธ์การเปิดโครงการทั้งขนาดและทำเล และปัจจัยภายนอก คือ หนี้สินครัวเรือนและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject)ของกลุ่มลูกค้ากลาง-ล่าง จากปี 2558 อยู่ที่ 10% และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ในปี 2559  โดยต้องยอมรับว่ายอดรับรู้รายได้ลงมา 3 ปีซ้อน โดยในปี2559 ต่ำกว่าปี 2558 ถึง 10% (เดิมปี 2559 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 17,600 ล้านบาท แต่ได้ปรับลดลงเหลือ 13,000 ล้านบาท  โดยในช่วง 9 เดือนแรกสามารถรับรู้รายได้ 12,050 ล้านบาท) และปี 2560 การรับรู้จะต่ำกว่าปี 2559 ลงมาที่ 20%

“ขณะนี้บริษัทฯมีปัญหาสินค้าค้างขายคอนโดฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการถูกปฏิเสธสินเชื่อ หนี้ภาคครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ยอดขายปี 2559 ที่ผ่านมามาลดลงมากอยู่ที่ 8,500 ล้านบาท นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมุ่งเน้นเป็นอันดับแรก เพราะหากยังเดินหน้าด้วยแผนการลงทุนแบบเดิมๆ ปัญหาก็จะซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก เป็นความเสี่ยงด้านการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับความจริงเพื่อสร้างความเติบโตในระยะยาว”นายทิฆัมพร กล่าว

 

นายทิฆัมพร กล่าวต่อไปว่า นับจากนี้ไปบริษัทฯจะลดความถดถอยของการรับรู้รายได้ โดยในปี 2560 จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ  โดยใช้จุดแข็งขององค์กรมาเป็นความได้เปรียบ ด้วยการกำหนดให้เป็น “ปีแห่งการปรับ” หรือ “YEAR OF SHIFT” ซึ่งจะเป็นการปรับทิศทางในการดำเนินงานของ LPN และ บริษัทในเครือทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มธุรกิจในการดำเนินงาน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) คือ 1. บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN  2. บริษัท พรสันติ จำกัด หรือ PST และกลุ่มธุรกิจให้บริการ (Service Provider) คือ 1.บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด หรือ LPC 2. บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP และ3. บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด หรือ LPS

ปรับแผนรุกตลาดกลาง-บน-ลดยอดรีเจคเหลือ0%

 

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  หรือ LPN กล่าวว่าจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาด้านยอดขายและการรับรู้รายได้ โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายประมาณ 8,500 ล้านบาท  และรายได้จากการขายประมาณ 13,000 ล้านบาท  ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจะเพิ่มการพัฒนาโครงการที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้ากลาง-บนมากขึ้น จากที่ผ่านมาจะเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-ล่าง โดยในปีนี้จะกลับเข้ามารุกตลาดย่านใจกลางเมืองมากขึ้น ซึ่งมีแผนเปิดตัว 12 โครงการใหม่ รวมมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง 7 จาก 12 โครงการจะเป็นโครงการสำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-บนมูลค่าโครงการประมาณ 16,000 ล้านบาท  เจาะทำเลใจกลางเมือง หรือแหล่งที่อยู่อาศัยที่ยังมีความต้องการซื้อ โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 20,000 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดขายใน 2 ทำเลเด่น คือ ลุมพินี สวีท เพชรบุรี-มักกะสัน และ ลุมพินี เพลส บางนา กม.3 สามารถสร้างยอดขายสูงกว่า 1,700 ล้านบาท และในปีนี้ บริษัทยังตั้งเป้าหมายระบายสินค้าพร้อมอยู่ให้ได้มากที่สุดโดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,000 ล้านบาท  ขณะเดียวกันบริษัทยังต้องเพิ่มกลยุทธ์ทางการตลาดและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตราผลิตภัณฑ์ (Brand Image)ให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นระดับกลางถึงบนอีกด้วย

 

ปัจจุบันบริษัทฯมีสต็อกคอนโดฯประมาณ 13,000 มูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ที่โครงการ ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 ประมาณ 4,000 ยูนิต ซึ่งในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าที่จะระบายสต็อกให้ได้ 50% ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น

 

โดย2-3 ปีที่ผ่านมามีปัญหาความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจชะลอ เราก็เจอผมปัญหานี้ด้วยเพราะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราซึ่งเป็นลูกค้านะดับกลาง-ล่าง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็กระทบรายได้และยอดขายของเรา เราจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะ จากเดิมที่เน้นการพัฒนาโครงการตอบโจทย์ลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ซึ่งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ของเราจะต้องปรับเปลี่ยน Brand Image ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนด้วย และหน้าที่ผมตอนนี้ก็ต้องเดินหน้า Clearance Stock ที่มีอยู่ให้สดลงเพื่อสร้างรายไดิให้กับบริษัทตามเป้าหมายรายได้ปีนี้ 10,000 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จะลดลงแต่จะมีความยั่งยืนในอนาคต และยังให้กำไรที่ดี ส่วนอีกหน้าที่ของผมคือการสร้าง Backlog ใหม่ และทำให้มีรายได้กลับมาในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทตั้งงบซื้อที่ดินไว้ที่ 4,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ใช้งบที่ดินไปเกือบ 3,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการใช้ซื้อที่ดินเพื่อนำไปพัฒนาโครงการในปีนี้ที่เหลืออีก 4 โครงการ และใช้ซื่อที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการไนปีถัดไป โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่มีอยู่เพียงพอรองรับการลงทุน

 

นายโอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในปีนี้ให้เหลือ 0% จากปลายปี2559 ที่ผ่านมา มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 30% โดยตั้งเป็น KPI ให้กับทีมขาย ซึ่งการลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อให้ลดลงเหลือ 0% บริษัทจะต้องมีการตรวจสอบลูกค้าที่เข้ามาแสดงความใจซื้อโครงการของบริษัทก่อนการทำสัญญาจองซื้อ โดยลูกค้าจะต้องแสดงความยินยอมให้บริษัทเช็คเครดิตบูโร ประกอบกับการเตรียมความพร้อมก่อนการยื่นเอกสารขอสินเชื่อต่อธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการที่บริษัทเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่กระทบต่อยอดขายและรายได้ของบริษัท จากที่เกิดผลกระทบในช่วงปีที่ผ่านมา

 

“พรสันติ”รุกเปิดโครงการใหม่เพิ่ม1เท่าตัว

 

ด้าน นายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรสันติ จำกัด หรือ PSTกล่าวว่า หากเทียบกับบริษัทฯในเครือของ LPNทั้งหมด โมเดลของ PST ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด แต่มีการปรับกระบวนการด้วยการพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ของอาคารชุด โดยในปี 2560 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากถึง 8 โครงการ รวมมูลค่า 3,500 ล้านบาท  มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1 เท่าตัว ที่มีการเปิดตัวประมาณ 4 โครงการต่อปี ภายใต้ 4 แบรนด์หลัก คือ บ้านลุมพินี บ้านเดี่ยว ระดับราคา 10 ล้านบาทบวกลบ, บ้านลุมพินี ทาวน์ เรสซิเดนซ์  เป็นทาวน์เฮาส์ ระดับราคา 8 ล้านบาท,บ้านลุมพินี ทาวน์ เพลส ทาวน์เฮาส์ ระดับราคา 5 ล้านบาทบวกลบ และบ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์ ทาวน์เฮาส์ ระดับราคา 3 ล้านบาทบวกลบ

 

ภายใต้แนวทางรองรับฐานลูกค้าลุมพินีและกระจายฐานธุรกิจของ LPN  ในปี 2559 บริษัทมีรายได้จากการขายประมาณ 850 ล้านบาท และยอดขายประมาณ 1,400 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ 2,000 ล้านบาท  และยอดรับรู้รายได้ที่ 1,500 ล้านบาท  ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์การค้าชุมชนที่บริหารทั้งหมด 5 แห่ง คือ ศูนย์การค้าชุมชนขนาดเล็ก โครงการลุมพินี วิลล์ นาเกลือ วงศ์อมาตย์, ลุมพินี คอนโดทาวน์ พัทยาเหนือ-สุขุมวิท, ลุมพินี พาร์ค เพชรเกษม 98, ศูนย์การค้าชุมชน มิลล์ เพลส โพศรี จ.อุดรธานี และ มาร์เกต เพลส รังสิต-คลอง 1 ในโครงการ ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 รวมทั้งร้านค้าในชุมชนกว่า 300 ร้าน ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยใน ประชาคมลุมพินี

LPCขยายรับงานนอกชุมชน

 

นางสาวสุรัสวดี ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด หรือ LPC กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินธุรกิจตามนโยบาย CSR เพื่อช่วยเหลือสตรีด้อยโอกาสที่มีการศึกษาน้อยจนถึงไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน บางรายมีปัญหาทางครอบครัว ถูกสามีทอดทิ้งและต้องรับผิดชอบดูแลบุตร ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการบริการหลังการขายโดยเฉพาะงานบริการ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานบริการรักษาความสะอาดและงานบริการชุมชนให้กับชุมชนที่ LPN บริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีด้อยโอกาสได้เข้ามาทำงานกับบริษัท LPC จึงเป็นธุรกิจที่ปันผลกำไรคืนสู่สังคม สามารถสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สตรีด้อยโอกาสในชุมชนลุมพินีกว่า1,800 คนแล้ว สำหรับทิศทางของ LPC ปีนี้ จะขยายการช่วยเหลือคนนอกชุมชนมากขึ้น และขยายไปสู่รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดรับงานบริการภายนอกโครงการ LPN จำนวน 20 โครงการ โดยจะขยายกลุ่มพนักงานจากสตรีด้อยโอกาสไปสู่คนพิการและผู้สูงอายุ และการปรับแผนธุรกิจไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมแบบเป็นทางการ (Social Enterprise)

 

ตั้งเป้าบริหารเพิ่มร่วม30โครงการ

 

นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPPกล่าวว่าบริษัทได้ดูแลงานบริการหลังการขาย ภายใต้กลยุทธ์ “ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย” ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ “ลุมพินี” ตามคุณค่าการบริการหลังการส่งมอบ (FBLES+P) ซึ่งได้พัฒนาการบริหารชุมชนเฉพาะโครงการของ LPN มากว่า 20 ปี สำหรับในปี 2560 นี้บริษัทจะเพิ่มความเข้มข้นด้านกลยุทธ์ในการบริหารชุมชน จาก “ชุมชนน่าอยู่” เป็น “ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย” เพื่อสร้างความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัยให้กับชุมชน “ลุมพินี” กว่า 130,000 ครอบครัว ใน 143 โครงการ ในขณะเดียวกัน บริษัทจะขยายงานบริหารชุมชนสู่ภายนอก โดยใช้ประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพรับรู้ความต้องการในทุกชุมชน เป็นจุดแข็งในการเข้าไปบริหารโครงการ ในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15 โครงการ รวมเป้าหมายรายได้ประมาณ 520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ผ่านมาประมาณ 20%   โดยปีที่ผ่านมาบริหารชุมชนอยู่ 130 โครงการ และปี 2560 จะเพิ่มอีกเกือบ 30 โครงการ คาดว่าจนถึงปลายปีนี้จะมีโครงการที่จะเข้าไปบริหาร จำนวน 130,000 ยูนิต หรือประมาณ 200,000 ครอบครัว

 

จ่อร่วมทุนเจ้าของที่ดินบริหารครบวงจร

 

ด้าน บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด หรือ LPS ในปีนี้ได้มีการดึงดร.พร วิรุฬห์รักษ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ คนใหม่แทนกรรมการผู้จัดการคนเดิมที่เกษียณอายุ ซึ่งการปรับเปลี่ยนธุรกิจของบริษัท LPS จะเป็นการ “Transformation” ด้วยการขยายฐานธุรกิจจากเดิมที่เป็นผู้บริหารงานก่อสร้าง ให้บริการเฉพาะโครงการของ LPN ไปบริหารการให้บริการครบวงจรสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สู่ภายนอกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำศักยภาพและจุดแข็งด้าน Product Value ที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท

 

โดยดร.พร กล่าววว่า บริษัทฯดังกล่าวจะให้บริหารด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรซึ่งที่ผ่านมาจะบริการด้านบริหารงานก่อสร้างบริษัทในเครือLPN ทั้งหมด แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดล ด้วยการรับงานบริหารฯให้กับบุคคลภายนอกแบบครบวงจร

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*