เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 ร่วมกับพันธมิตร จัดสัมมนา“โอกาสลงทุนอสังหาฯในเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ” โดยมีตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นวิทยากร ซึ่งต่างเห็นพ้องว่าการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคทำให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโต และเกิดการลงทุนต่างๆ แต่ในขณะเดียวภาคเอกชนได้แสดงความกังวลว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะประกาศและมีผลบังคับใช้ในปี 2562 จะกระทบวงกว้างพร้อมกับค้านการเก็บภาษีลาภลอยแนะปรับโครงสร้างราคาประเมินให้สอดคล้องการลงทุนภาครัฐ

 

โดย นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท พรีเมียม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือPSH และนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยในงานสัมมนาดังกล่าวว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯที่ประกาศใช้ในปี2562 เชื่อว่าจะกระทบในวงกว้าง เพราะหลักเกณฑ์ต่างๆยังไม่มีความชัดเจน หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้บ้านมือสองและอาคารพาณิชย์มีความต่างกันถึง 10 เท่า ซึ่งแนะนำว่าควรเก็บตามสัดส่วนจะดีกว่า มิเช่นนั้นจะเกิดช่องว่างของการทุจริตได้

 

สำหรับนโยบายการจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) มองว่ารัฐบาลไม่ควรมีโครงสร้างภาษีที่3 ที่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะจะเป็นภาระของผู้ที่ซื้อทรัพย์สินเพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมือในแต่ละครั้งอยู่ในระดับที่สูงถึง 7-8% ซึ่งผู้ซื้อต้องจ่ายอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนต่างหรือผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับยังต้องนำมาคิดคำนวณภาษีรายได้บุคคลธรรมหรือภาษีนิติบุคคลประจำปีอยู่แล้ว โดยมองว่าภาครัฐ ควรใช้วิธีการปรับโครงสร้างการปรับราคาประเมินให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับที่ภาครัฐลงทุนไปจะดีกว่า คือนำส่วนต่างหรือผลประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นไปคิดรวมกับราคาประเมินที่สะท้อนมูลค่าเพิ่มจากอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณการคมนาคมและสาธารณูปโภคที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

 

ด้านนายสัมมา คีตสิน นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวให้ความเห็นถึงกรณีที่ภาครัฐจะมีการเก็บภาษีลาภลอยนั้นมองว่าเป็นการสร้างภาระที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอนาคต และเป็นการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน โดยมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะนำการจัดเก็บภาษีลาภลอยมาใช้ เพราะปัจจุบันการเสียภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีรายได้บุคคลธรรมดา มีการเปิดเผยข้อมูลรายได้และกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงาน หรือจากสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนต่างที่จะต้องมาคำนวณภาษีในทุกๆปีอยู่แล้ว

 

อีกทั้งการใช้ระยะทางที่กำหนดโดยห่างจากสถานีรถไฟฟ้า 2.5 กิโลเมตร, ห่างจากทางพิเศษ 2.5 กิโลเมตร, ห่างจากสนามบิน 5 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือ 5 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่มองว่าไม่เหมาะสมและการเป็นปัญหาที่จะทำให้เกิดความคลุมเครือขึ้นได้ เพราะการจัดเก็บภาษีเป็นการวัดระยะทางไม่ได้บอกถึงมูลค่าที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ทำให้มองว่าในเบื้องต้นหากภาครัฐจะจัดเก็บภาษีลาภลอยควรใช้วิธีการคิดคำนวณที่ไม่เกิดความคลุมเครือ แต่มองว่าภาษีดังกล่าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้

 

ขณะที่ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือSENA กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีลาภลอยอาจจะมีความวุ่นวายในเรื่องการประเมินมูลค่าส่วนต่างของสินทรัพย์ที่ถูกจัดเก็บภาษี เพราะไม่มีตัววัดส่วนเกินที่ต้องจัดเก็บอย่างแน่นอนและเป็นรูปธรรม อีกทั้งมองว่าปัจจุบันการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีการจัดเก็บภาษีที่มากอยู่แล้ว เมื่อมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มเข้ามาอีกจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนเกิดขึ้น และทำให้ผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์จะต้องมีคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น เพราะมีโอกาสที่ภาระค่าใช้จ่ายภาษีในอนาคตจะเพิ่มขึ้นได้ โดยมองว่าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นมากนักที่ภาครัฐจะจัดเก็บภาษีลาภลอย ซึ่งหากจะจัดเก็บภาษีลาภลอยจริงๆภาครัฐควรศึกษาแนวทางการประเมินมูลค่าส่วนต่างที่สามารถคิดคำนวณได้ เพื่อป้องกันความคลุมเครือที่มีโอกาสเกิดขึ้น

 

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง2560 ตลาดอสังหาฯน่าจะขยายตัวมากจากครึ่งปีกแรก สังเกตได้จากในช่วงเดือนมิถุนายน มีการเปิดตัวโครงการใหม่กันมาก และหลายบริษัทก็มีการประกาศเปิดตัวโครงการในครึ่งปีหลังมาก ขณะที่โครงการภาครัฐก็มีความชัดเจนมากขึ้น  ก็จะทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ต้องติดตามหนี้สินครัวเรือน ความเข้มงวดของสถาบันการเงินที่จะเป็นแรงกดดันการเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย

 

** prop2morrow โดย คุณวาสนา กลั่นประเสริฐ  เบอร์โทร.02-632-0645 E-mail : was_am999@yahoo.com

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*