ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โดยข้อ 2 ของคำสั่งกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ดังต่อไปนี้

(1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา

(2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา

(3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร

 

คำสั่ง คสช. ดังกล่าวใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีผลให้เกิดผลผูกพันต่อสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว

ที่ล่าสุด วันนี้ (21 มิ.ย.2560 ) สองหน่วยงานวิชาชีพคือ สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ได้ส่่งตัวแทนร่วมแถลงข่าวนั้นประกอบด้วยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร, นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก ,นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร, นายประภากร วทานยกุล กรรมการสภาสถาปนิก และพล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการสภาสถาปนิก โดยทั้งสองสภาวิชาชีพได้เห็นพ้องออกแถลงการณ์เพื่อย้ำว่าวิศวกรและสถาปนิกจีนถ้าจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องขอใบอนุญาตระดับทวิภาคีวิศวกรพิเศษและภาคีสถาปนิกพิเศษ โดยสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะสนับสนุและอำนวยความสะดวกในเรื่องระยะเวลาในการขอใบอนุญาตเพื่อไม่เกิดปัญหาและอุปสรรคจนเกิดความล่าช้าต่อการเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูง และทางสภาวิชาชีพก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล

นายอมร พิมานมาศ

นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่าโดยสภาวิศวกรจะต้องเร่งส่งแผนอบรมให้กับทางกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ช่น เรื่องที่จะมีการจัดอบรม สถานที่การอบรม เรื่องที่อบรม และภายในวันนี้ (21 มิถุนายน) ทางเจ้าหน้าที่เทคนิคของจีนจะมาคุยกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก และมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะร่วมในครั้งนี้ด้วย สาระที่จะพูดคุยเป็นเรื่องร่างสัญญาแรกและข้อมูลในเชิงเทคนิคตามเงื่อนไขมาตรฐาน

 

สิ่งที่ทางสภาวิชาชีพจะต้องดำเนินการก็คือ การจัดอบรม ทดสอบและออกใบรับรองให้กับทางวิศวกรและสถาปนิกจีนให้เสร็จภายใน 4 เดือนหรือภายใน 120 วันตามที่คำสั่งคสช.ระบุไว้ ซึ่งมั่นใจว่าจะเสร็จทันตามกำหนด ส่วนรายละเอียดของการออกใบรับรอง จะมี 2 เรื่องหลักๆคือ 1.ทางเทคนิคต่างๆที่จะต้องทราบและทำความเข้าใจ เช่น สภาพชั้นดิน สภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นพื้นฐานการออกแบบให้รองรับกับสภาพเหล่านี้ได้ และ 2.ด้านกฎหมาย จรรยาบรรณและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

 

ในส่วนการเจรจาเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกต่างมีความเห็นพ้องในสาระสำคัญ 5 ประการ ได้แก่

1.จัดตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยี

2.จัดทำรายงานขั้นตอนการถ่ายโอนเทคโนโลยี

3.กำหนดสัดส่วนวิศวกรไทยที่จะเข้าไปร่วมทำงานในโครงการ

4. กำหนดให้มี counterpart ในส่วนงานที่สำคัญ

และ 5.กำหนดองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ วิศวกรและสถาปนิกไทย สมาคมวิชาชีพและสถาบันการศึกษา

 

แม้จะยังไม่สามารถที่จะระบุสัดส่วนวิศวกรไทย-จีนได้ แต่ทางทางสภาวิชาชีพอยากมีวิศวกรไทยมีส่วนร่วมอย่างน้อยก็ 50% โดยตามเงื่อไขในสัญญาที่ 1 เรื่องการออกแบบจะมีข้อมูลจากทางรัฐบาลระบุออกมาคร่าวๆ ว่าจะมีการใช้วิศวกรจีนประมาณ 250 ตำแหน่ง สถาปนิกจีน 17 ตำแหน่ง

 

###

ทั้งนี้ตามรายละเอียดแถลงการณ์ร่วมสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560

เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ได้ระบุว่ารัฐวิสาหกิจตามวรรคหนึ่งและบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลหากต้องดำเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม นั้น

สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกขอเรียนชี้แจงดังนี้
1.สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืนเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 โดยการกำหนดให้วิศวกรและสถาปนิกจีนที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการดังกล่าว ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ โดยสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งรัด ช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในเรื่องของระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคของความล่าช้าในการเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิได้ ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ

2. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยอาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งย่อมมีผลผูกพันต่อสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว

 

3. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ

 

4. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว

 

อนึ่ง สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามดูแลโครงการดังกล่าวให้ได้รับประโยชน์ต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*