“นวัตกรรม” คือสิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และนวัตกรรมก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่า สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)หรือสนช.ได้จัดให้มีการก่อตั้งภาคีสถาปัตยกรรมผังเมืองเพื่อการพัฒนาย่านนวัตกรรม  ผ่านกลไกประชารัฐ  และคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติโดยมีการตั้งคณะทำงานซึ้งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 8 สถาบัน ได้แก่ (1)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (3)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (4)มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (5)สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (6)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ (7)มหาวิทยาลัยบูรพา (8)มหาวิทยาลัยศิลปากร  นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการพัฒนาย่านนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน  ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินงานวางแผนพัฒนาแนวคิด  และกำหนดขอบเขตการพัฒนาย่านนวัตกรรม

จากการดำเนินการดังกล่าว สนช.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนพัฒนาภาพรวมย่านนวัตกรรมกรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนานวัตกรรมในระดับภูมิภาคละระดับย่านและประสานความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาในระดับประเทศและระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น  จึงได้กำหนดพื้นที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเพื่อเป็นย่านนวัตกรรมทั้งหมด 10 ย่าน ที่ขับเคลื่อนด้วยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่  ได้แก่ 1 .ย่านโยธี 2.ย่านปทุมวัน  3.ย่านคลองสาน  4.ย่านกล้วยน้ำไท 5.ย่านรัตนโกสินทร์ 6.ย่านลาดกระบัง  7.ย่านบางแสน 8.ย่านศรีราชา  9.พัทยา  และ10.อู่ตะเภา-บ้านฉาง

 

Picture3

และ 1 ย่านที่ร่วมพัฒนาระหว่าง สนช.และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  คือย่านปุณวิถี อย่างไรก็ตามการดำเนินการเพื่อพัฒนาให้เกิดย่านนวัตกรรม  โดยความร่วมมือและสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จำเป็นต้องมีการวางแผนพัฒนาย่านนวัตกรรมและการดำเนินการสนับสนุนให้เกิดการรับรู้ในระดับชาติและระดับสากล  เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางกิจกรรมด้านนวัตกรรมในแต่ละย่าน  เช่น  การจัดกิจกรรมเพื่อร่วมวางแผนและแก้ปัญหาในพื้นที่หรือการพัฒนาระบบในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้พื้นที่โดยใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมหรือการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและวิสาหกิจเริ่มต้นในย่าน  การร่วมกำหนดความเหมาะสมและบทบาทของการใช้พื้นที่ตามความคิดของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่  รวมทั้งดำเนินการพัฒนาตัวกระตุ้น (incentive) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนอสังหาริมทรัพย์   และพัฒนาที่ดิน (land development) รวมทั้งการลงทุนของผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเริ่มต้น  เป็นต้น

ย่านนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของการพัฒนานวัตกรรม ช่วยให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  และทุนมนุษย์  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตที่กำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจความรู้  (knowledge-based economy)

 

กรอบการพัฒนาย่านนวัตกรรม
(Innovation District Framework)

 

ย่านนวัตกรรม (Innovation District)   เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีสถาบันหลักชั้นนำ   (Anchored Institution) และคลัสเตอร์ธุรกิจ (cluster of business) ตั้งอยู่รวมกัน  โดยมีความเชื่อมโยงกับวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ศูนย์บ่มเพาะและศูนย์เร่งการเติบโตทางธุรกิจ (business Incubator and accelerator) และมีความเชื่อมโยงผ่านศูนย์การเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง (transport) มีระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) และพื้นที่การอยู่อาศัย รวมทั้งการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่าง ๆ หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ย่านวิสาหกิจเริ่มต้น (startup district) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเมืองนวัตกรรม (innovation city)

องค์ประกอบของย่านนวัตกรรม

  • มีกลุ่มคลัสเตอร์และมีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการใหม่ หน่วยบ่มเพาะและหน่วยเร่งรัด
    การทำธุรกิจนวัตกรรม
  • มีการใช้งานพื้นที่ที่อย่างเข้มข้นเต็มประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม
  • เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย และสะดวก ทั้งทางเท้า จักรยาน และการขนส่งสาธารณะ

รวมถึงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

  • ดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถาบันขนาดใหญ่ บริษัท และนักลงทุน
  • แบ่งปันความรู้และไอเดีย
  • การผสมผสานที่อยู่อาศัยและพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในย่าน
  • เป็นพื้นที่ที่มีสามารถรองรับกิจกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง (Livable District)

Innovation District Ecosystem

ย่านนวัตกรรมจัดเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม บนฐานการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area – based Innovation) ขนาดเล็ก และกรอบแนวคิดของสินทรัพย์บนพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3 ประเภท ได้แก่
(1) สินทรัพย์ด้านเครือข่าย (networking assets)

(2) สินทรัพย์ด้านเศรษฐกิจ (economic assets)

(3) สินทรัพย์ด้านกายภาพ (physical assets)

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ (1) ภาครัฐ (2) ภาคเอกชน (3) ภาคการศึกษา และ (4) ชุมชนเจ้าของพื้นที่

 

พื้นที่ย่านนวัตกรรมอันได้รับความร่วมมือจากภาคการศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และความเชื่อมโยงของแต่ละพื้นที่นั้นๆ