เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ” เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน ถือเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในเขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ติดกับพื้นที่สถาบันการศึกษา ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 291 ไร่ จากที่ดินทั้งหมด 1,153 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่ง เดียวของโลก ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และตั้งอยู่ในศูนย์กลางเมืองหลวงของประเทศ

 

จุดเปลี่ยนเกิด “เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ”

ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Uddc) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนจะจัดทำโครงการแผนแม่บทฉบับใหม่ ประกอบกับทางจุฬามีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เมื่อปี2559 ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะพัฒนาอุทยานจุฬาฯ100 ปี ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของแนวคิด  “เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ” ที่ต้องการทำแผนแม่บทที่สามารถใช้งานได้จริง ประกอบกับในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน สถาบันอาคารเขียวไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการประกวดการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) จึงทำให้ทางจุฬาฯจัดทำแผนแม่บทออกเป็น 2 ส่วน คือแผนแม่บทที่จุฬาฯใช้งานเองและแผนแม่บทสำหรับร่วมประกวด โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนา”เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ”คือ 1.เมืองสุขภาวะ 2.ต้นแบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ และ3.สมาร์ทซิตี้ บนพื้นที่การพัฒนาทั้งหมด 291 ไร่

ทั้งนี้การพัฒนาในพื้นที่ “เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ”จะแบ่งเป็น 5 โซนหลัก คือ 1. บริเวณริมถนนพระราม4 จะพัฒนาเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงาน

2.พื้นที่หัวมุมถนนบรรทัดทอง-ถนนพระราม4 จะพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ อาคารสำนักงาน คล้ายๆกับพื้นที่โซนแรก แต่จะมีจำนวนที่น้อยกว่า

3.พื้นที่ลริเวณโดยรอบ “อุทยานจุฬาฯ100 ปี” จำนวน 29 ไร่ จะเน้นบริษัทชั้นนำในหลากหลายธุรกิจเป็นพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อสร้างมูลค่าให้กับที่ดิน ซึ่งโซนนี้จะเป็นการทุนเองของจุฬาฯ หวังส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำวัตถุประสงค์ของการว่าจ้างและผลงานที่ต้องการ(TOR) คาดว่าภายใน 2 ปีอาคารแรกจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อน

4.โซนที่อยู่อาศัยแนวสูง โดยบางส่วนอาจจะพัฒนาเป็นหอพักนักศึกษาและสวัสดิการบุคคลากรจุฬาฯ

5.พื้นที่บริเวณด้านข้างสนามกีฬาสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า สนามจุ๊บ จะเน้นในเรืองการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะอยู่ใกล้สถาบันศึกษาหลายแห่ง รวมไปถึงใกล้ห้างสรรพสินค้า และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

ศูนย์กลางการเรียนรู้แห่งใหม่ในอนาคต

การที่โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน จะกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างของ “เมืองอัจฉริยะ” ในบริบทของพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองหลวง นอกจากจะส่งผลทางด้านบวกกับคนเป็นจํานวนมากในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นสูง ทั้งในทุกมิติอัจฉริยะของการจัด การพลังงาน การสัญจร ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อาคาร รวมทั้งการบริหารจัดการเมือง และการสร้าง นวัตกรรมเมืองแล้ว ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี2560 พื้นที่  “เมืองจุฬาอัจฉริยะ” นี้ ยังจะมีบทบาทในการชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ที่เน้นกําไรจากการสร้างนวัตกรรมทางสังคม มากกว่าการสร้างรายได้ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว สมกับบทบาทในฐานะ “มหาวิทยาลัยของแผ่นดิน” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องสืบสานบทบาทของการเป็น “เสาหลัก” ของแผ่นดิน และสามารถเป็น จุดอ้างอิง และชี้ทิศทางสําหรับการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

 

ที่สําคัญการเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองเพียงแห่งเดียว ที่มีนโยบายการพัฒนาและการบริหารจัดการควบคู่ไปกับสถาบันการศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทําให้พลวัตของการถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ สู่การสร้างนวัตกรรมทางสังคมผ่านการพัฒนาพื้นที่ สามารถดําเนินการได้อย่างมั่นคง แน่นอน และเป็นรูปธรรม หากวัตถุประสงค์ที่สําคัญและยั่งยืนที่สุดในการสร้างเมืองอัจฉริยะ ที่นอกเหนือไปจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใดๆ คือ ความสามารถในการพัฒนาสังคมอัจฉริยะ ที่ประกอบไปด้วย “คน” ที่มีจิตสานึกอย่างอัจฉริยะ

 

พื้นที่เมืองจุฬาอัจฉริยะนี้ จะช่วยยกระดับการเรียนการสอน สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา พฤติกรรมของนิสิตและบุคลากรอย่างเต็มศักยภาพ สามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสู่สังคมภายนอกอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม อาทิ นวัตกรรม ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการแพทย์ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้มาต่อยอดในเชิงธุรกิจ ผ่านการพัฒนาพื้นที่ พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองที่ตั้งอยู่เคียงคู่กับพื้นที่การศึกษาเพียงแห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็น พื้นที่เมืองอัจฉริยะ ที่มีศักยภาพรองรับความเปลี่ยนแปลงจากพลวัตของสิ่งแวดล้อมโลก และพลวัตของคนรุ่น ใหม่จากมหาวิทยาลัยที่หล่อเลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ตลอดไป

 

ยักษ์อสังหาฯ-องค์กรรัฐสนเข้าลงทุน

พื้นที่บางโซนอาจจะให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลและลงทุนพัฒนาขึ้นมา ซึ่งทราบว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่หลายรายที่มีเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีองค์กรภาครัฐให้ความสนใจจะเข้ามาเช่าพื้นที่หรือร่วมพัฒนาด้วยเช่นกัน

 

“เชื่อว่าเมื่อ”เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ”ดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว จะสามารถใช้งานในทักพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น และอาจทำให้จุฬาฯสามารถต่อยอดโมเดลองค์ความรู้นี้จากมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์4.0 ของภาครัฐ”ดร.พรสรร กล่าวในที่สุด

 

** prop2morrow โดย คุณวาสนา กลั่นประเสริฐ  เบอร์โทร.02-632-0645 E-mail : was_am999@yahoo.com