ยังเป็นปัญหาที่ยังถกกันไม่จบเกี่ยวกับพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….ที่จะประกาศบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 เพราะยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวที่รัฐบาลพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะภาคเอกชนยังมีความเห็นต่างอีกมาก ซึ่งมองว่ายังมีช่องโหว่อีกมากที่ต้องใช้ดุลยพินิจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนในทุกระดับ

 

เรื่องดังกล่าวสภาหอการค้าไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มภาคเอกชนที่อยากให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอที่อยากให้มีการแก้ไข จึงได้จัดงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อเรื่อง “เจาะลึกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และข้อยกเว้น,ลดหย่อน ขั้นตอนกระบวนการประเมินค่า,เรียกเก็บ และชำระภาษีอย่างไร” ขึ้นมา

เตรียมรวมปัญหานำเสนอกมธ.ไม่เกิน2เดือน

โดยายอธิป พีชานนท์ ในฐานะกรรมการบริหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คาดหวังจากงานสัมมนานี้ว่าทุกคนที่มาร่วมงานจะได้รับความรู้อย่างเท่าเทียมกันและสามารถกระจายความรู้ไปยังบุคคลทั่วไป ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าวร่างมา 20 ปีแล้ว แต่ว่ายังไม่สามารถนำประกาศใช้ได้ เพราะติดปัญหาหลายประการ ซึ่งที่ผ่านได้ส่งแบบสอบถามไปยังสมาคมหอการค้าทั่วประเทศ 145 สมาคม รวมกว่า 38,000 บริษัท และสมาชิกเครือข่ายย่อยกว่า 100,000 ราย หลังจากนั้นก็จะนำประเด็นที่สมาชิกตอบแบบสอบถามมาสังเคราะห์ตามกระบวนการ แล้วจึงจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ (กมธ.)ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน ขณะนี้รวบรวมข้อมูลได้ประมาณ 50% แล้ว

 

“คาดว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การคัดค้าน แต่ทำอย่างไรให้ปฏิบัติได้โดยง่าย เพราะหากกฎหมายประกาศใช้แล้วก็ไม่อยากให้มีการแก้ไขอีก ส่วนจะเลื่อนระยะเวลาออกไปหรือไม่นั้นผมไม่สนใจ แต่สนใจว่าเมื่อกฎหมายประกาศออกมาแล้วทุกคนต้องยอมรับ”นายอธิป กล่าว

 

นายอธิป กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการระดมความเห็นมีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการSME และผู้ประกอบการอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการSME จากโครงสร้างอัตราการจัดเก็บภาษี ตามที่ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ได้บัญญัติไว้ โดยมีข้อสังเกตดังนี้

 

1. เรื่องทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด และสาธารณูปโภคในโครงการบ้านจัดสรรไม่ควรที่จะถูกนำมาคำนวณเป็นฐานในการจัดเก็บภาษี
2.โครงการพัฒนาอสังหาฯที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา ถือเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่ก่อเกิดรายได้ ควรได้รับการพิจารณาลดหย่อนภาษี
3.ที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าและถูกรอนสิทธิ์ เช่น ที่ดินตาบอด ที่ดินที่อยู่ในเขตข้อกำหนดผังเมือง หรือประกาศผังเมือง ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่มีลักษณะเป็นทางน้ำหลากต้องรับภาระทางรับน้ำทางธรรมชาติที่ไหลผ่าน ควรได้รับการยกเว้นภาษี
4. ที่ดิน “เช่า”เพื่อการเกษตรกรรม มีปัญหาในการพิจารณาว่า เป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือการพาณิชย์ เพราะมีอัตราการจ้ายภาษีที่แตกต่างกันมาก
5.ที่ดินที่มีลักษณะถือครองโดยประชาชน แต่ปล่อยปละละเลยให้กลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ต่อมาเมื่อพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ บังคับใช้ ผู้ที่ป็นเจ้าของที่ดินเริ่มทำการเกษตรบนที่ดิน แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง อย่างนี้จะจัดเก็บอัตราภาษีใด เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน
6.แต่เดิมภาษีที่ดินโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ คำนวณจัดเก็บจากฐาน “ค่าเช่า” ที่ผู้ประกอบการได้รับ ซึ่งค่าเช่านั้นมีขึ้นลงตามสถานการณ์ ดังนั้นเงินเสียภาษีจึงจ่ายตามความเป็นจริง จากผลประกอบการที่หาได้ แต่ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะจัดเก็บจากฐานตัวเลขมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กรมธนารักษ์เป็นผู้จัดทำ ดังนั้นผู้ประกอบการะต้องเสียภาษีสูงทุกปี และไม่สอดคล้องกับหลักความสามารถในการจ่าย
7.ควรมีการจัดเก็บเป็นอัตรา Fixd Rate เพื่อความสะดวกและลดอัตราภาษี โดยเฉพาะลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและเรียกร้องอามิสสินจ้าง
8.ไม่ควรมีบทลงโทษจำคุก กรณีหรือการกระทำที่ไม่มีเจตนา

 

ยันกฎหมายไม่เลื่อนประกาศใช้ปี’62แน่

ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า จากการที่มีสื่อบางฉบับนำเสนอข่าวว่ามีการเลื่อนประกาศใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….ออกไปในปี2563 นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด รัฐบาลยังกำหนดเดิมในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งต่อไปหากมีการประกาศใช้จะทำให้ต่อไปการคำนวณภาษีจะง่ายขึ้นเพราะใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯเพียงฉบับเดียวเท่านั้น โดยจะมี 3 บุคคลที่เสียภาษี คือ เจ้าของที่ดิน ,เจ้าของห้องชุดและผู้ครอบครองทรัพย์สินของรัฐ(ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง) ซึ่งหลักการจัดเก็บภาษีครั้งนี้ไม่กระทบกับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

 

ทั้งนี้ต่อไปองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.ต้องสำรวจและตีมูลค่าที่ดิน แล้วประกาศโดยอัตราเพดานแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ ที่ดินทำการเกษตร จัดเก็บไม่เกิน 0.2% ,ที่อยู่อาศัย จัดเก็บไม่เกิน0.5% ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ จัดเก็บไม่เกิน 2%และที่รกร้างว่าเปล่า 2% หากเกิน 3 ปีไม่พัฒนาจัดเก็บสูงสุดเพดานไม่เกิน5% และเสียภาษีที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ต้องเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นด้วย และต่อไปจะทำให้ท้องถิ่นจะเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยในแต่ละประเภทจะเก็บตามอัตราขั้นบันได

 

ธนารักษ์ประเมินรายแปลงเสร็จ-ม.ค.’61ประกาศใช้

นางสาววิลาวัลย์ วีรกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ในเรื่องของที่ดินเป็นบัญชีเดียวในการนับเก็บภาษี ปัจจุบันกรมฯประเมินราคาไม่ได้ใกล้เคียงกับตลาด เป็นราคาที่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี แต่อาจจะไม่เป็นธรรรมของการเวนคืนที่ดิน และช่วงเดือนมกราคม 2561 จะประกาศใช้บัญชีรายแปลงทั่วประเทศ ซึ่งเหลืออีก13.4 ล้านแปลง ที่ต้องใช้เวลา 1 ปีให้แล้วเสร็จก่อนประกาศ ปัจจุบันดำเนินการไป 70% แล้ว และยังเหลือเวลาอีก 4 เดือนที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นต่อไปจะสามารถเข้าตรวจราคาประเมินที่ดินรายแปลงทั้งประเทศผ่านแอปพลิเคชั่นได้ และควรนำเลขโฉนดไปเปลี่ยนที่กรมที่ดินเป็นระบบพิกัดแบบUTM (Universal Transverse Mercator) โดยเสียค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอ10 บาทเท่านั้น ก็จะสามารถดูข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นได้ทันที ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส

 

สำหรับฐานประเมินสิ่งปลูกสร้างหากเป็นที่อยู่อาศัย ราคาประเมินจะอยู่ที่ 7,200-7,800 บาท/ตารางเมตร และมีการหักค่าเสื่อมราคา 24% ซึ่งทุก อปท.มีความรู้หมดแล้วทั่วประเทศ และราคาประเมินจะปรับทุก 4 ปี แต่ที่อยู่อาศัยใกล้รถไฟฟ้าจะปรับขึ้นทุกปี

 

สำหรับอาคารชุด จะกำหนดราคาโดยเปรียบเทียบกับราคาตลาดที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและมีการซื้อขาย หรืออาจมาจากข้อมูลสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งอาคารชุดจะมีข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งมีการประเมินทุก 4 ปีเช่นกัน โดยไม่หักค่าเสื่อม ปัจจุบันในกทม.มีอาคารชุดเกือบ 2,000 อาคาร ซึ่งมี 80% ที่ยังไม่ได้ปรับราคา ปัจจุบันกรมฯได้ปรับราคาประเมินตามมูลค่าซื้อขายไปแล้ว 800 อาคาร และจะประกาศในวันที่ 1 กันยายน 2560 นี้ ซึ่งพบว่าบางอาคารไม่มีการปรับมา 20 ปีแล้ว ต่ำกว่าราคาซื้อขายถึง50% ส่วนอาคารชุดสำหรับผู้มีรายได้น้อย ยังถือว่าถูกมาก ราคาประเมินไม่เกิน 35,000บาท/ตารางเมตร ซึ่งทุกอย่างอ้างอิงจากราคาจดทะเบียน ไม่อ้างอิงจากราคาซื้อขาย

 

สำหรับสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สิน เช่น โรงไฟฟ้าและเขื่อน ต้องไปจ้างบริษัทเอกชนประเมินเอง เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินพิเศษ สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ไม่สามารถลงข้อมูลเชิงลึกได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีรายชื่อบริษัทประเมินเหล่านี้ไว้ให้เลือกใช้บริการได้

 

“การคำนวณสิ่งปลูกสร้างเป็นหน้าที่ของอปท. ณ วันนี้ยังมีบางอปท.ที่มีศักยภาพในการดำเนินการ โดย 4 จังหวัดที่ได้ไปสุ่มตัวอย่างมาแล้ว คือ ชลบุรี เชียงราย อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีปัญหาน้อยมาก การเสียภาษียังอยู่ในเกณฑ์เดิมทั้งสิ้น”นางสาววิลาวัลย์ กล่าว

 

ส่วนในกทม.สามารถหยิบสุ่มตัวอย่างแต่ละประเภทได้ทั้งหมด ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับกทม.เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะกทม.เป็นเมืองใหญ่และมีราคาประเมินสูงสุด ในขณะที่ต่างจังหวัดราคาประเมินยังต่ำอยู่