บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) โดย นายวิทการ จันทวิมล (กลาง)รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม ร่วมกับ พล.ต.ต. นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ (ที่1จากขวามือ)ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัทรักษาความปลอดภัยไทยซีคอม จำกัด รณรงค์ถ่ายทอดความรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support – BLS) สู่สังคม นอกจากนี้ เอพีพร้อมเป็นตัวแทนเชิญชวน     ทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ผ่านแคมเปญ “ขอพื้นเล็กๆ ให้หัวใจได้เต้นต่อ” (The Smallest Space to Save Lives) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเอพี คือ “การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย โดยเริ่มต้นที่สังคมเล็กๆ ในโครงการต่างๆ ของเอพี” พร้อมกันนี้ เอพียังได้มอบเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ให้กับศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ท่าเรือสาทร และศูนย์ประสานงาน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เขตธนบุรี เพื่อติดตั้งเป็นสาธารณะประโยชน์ในการช่วยกู้ชีพหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

“คอนโดมิเนียมกว่า 40 โครงการที่มีการติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED นั้น จะมีเจ้าหน้าที่ภายใต้การดูแลของบริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด รวมกว่า 300 คน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) ที่ได้รับการรับรองจากบริษัทรักษาความปลอดภัย ไทยซีคอม และคณะกรรมการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคอนโดมิเนียมในแต่ละโครงการจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการและพร้อมให้ความช่วยเหลือหากลูกบ้านของเอพีประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตลอด 24 ชม.” นายวิทการกล่าว

 

โดยใน40 โครงการนั้นมีผู้อยู่อาศัยกว่า 25,000 ครอบครัว คือเป้าหมายที่ เอพี จะติดตั้งเครืองช็อกหัวใจอัตโนมัติ AED

ด้านพล.ต.ต. นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า การสอนแพทย์กู้ชีพเพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ เนื่องจากภาวะนี้มักเกิดนอกโรงพยาบาล และผู้ป่วยไม่สามารถถึงโรงพยาบาลภายใน 4 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน ดังนั้นการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือการส่งต่อความรู้ให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เมื่อประสบเหตุ และควรมีอุปกรณ์เครื่อง AED ติดตั้งอยู่ในจุดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ทันที

 

*จากสถิติที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หากได้รับการช่วยชีวิตภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังเกิดเหตุด้วยการทำ CPR (การช่วยฟื้นคืนชีพ หรือปั้มหัวใจด้วยมือ) สลับกับการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED จะสามารถเพิ่มโอกาสในรอดชีวิตได้มากถึง 50% แต่หากได้รับการช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR เพียงอย่างเดียวจะมีโอกาสรอดชีวิตเพียง 27%

 

เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED เป็นเครื่องที่ใช้กับผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยเครื่องจะทำการวินิจฉัยคลื่นหัวใจโดยอัตโนมัติและทำการรักษาด้วยการปล่อยกระแสไฟเพื่อกระตุกหัวใจทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ เพียงผู้ใช้อุปกรณ์ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่เสียงบรรยายของเครื่อง AED ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชีวิตผู้ที่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้