กรุงเทพฯ 25 กันยายน 2560 – แม้รัฐบาลจีนคุมเข้มการนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศ แต่มูลค่าการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจ (ที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย) ในต่างประเทศโดยนักลงทุนจีนในปีนี้ ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงจากปี 2559 ซึ่งมีมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังอาจสูงขึ้นได้อีกด้วย ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

รายงานจากเจแอลแอลระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นักลงทุนจีนมีการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยตรง การซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนพัฒนาโครงการ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 มูลค่าดังกล่าวยังไม่นับรวมการประกาศเข้าซื้อบริษัท Loqicor บริษัทที่ทำธุรกิจโกดังสินค้าในยุโรป มูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์โดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ไชน่า อินเวสต์เม้นท์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งดีลการซื้อดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในปีนี้ และจะเป็นดีลการขายบริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในยุโรป

 

เป็นที่น่าสนใจว่า ขณะที่นักลงทุนจีนยังคงนำเงินออกไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศอย่างคึกคัก แต่ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนจีนในภาคธุรกิจต่างๆ โดยรวมมีการนำเงินไปลงทุนนอกประเทศมูลค่ารวมทั้งสิ้น 48,190 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ลดลง 45.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

การปรับลดลงดังกล่าว หลักๆ เกิดจากนโยบายของรัฐบาลจีนในการควบคุมการคุมเข้มเงินทุนไหลออกนอกประเทศ ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ อีก ได้แก่ ในปีที่แล้วการลงทุนในต่างประเทศมีมูลค่าสูง (ฐานตัวเลขที่ใช้เปรียบเทียบจึงสูงตามไปด้วย) และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

 

ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีทุนจีนไหลออกสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจและที่พักอาศัยในต่างประเทศรวมมูลค่าทั้งสิ้น 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในภาคอุตสาหกรรม (อาทิ โรงงาน โกดัง และศูนย์กระจายสินค้า) โดยเฉพาะการซื้อสวนอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ

 

ในช่วงกว่า 8 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจีนออกไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจในต่างประเทศรวมมูลค่าเฉลี่ย 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี การไหลออกของเงินทุนส่งผลให้เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันให้เงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นำไปสู่การออกนโยบายการควบคุมการนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศดังกล่าว

 

แม้มาตรการคุมเข้มดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในการทำให้มูลค่าการลงทุนนอกประเทศโดยรวมปรับลดลง แต่กลับไม่กระทบการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจในต่างประเทศมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนจีนยังคงมีความต้องการสูงในการกระจายการลงทุนและบริหารจัดการความเสี่ยงในภาวะที่เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว นอกจากนี้ บริษัทจีนที่มีธุรกิจในฮ่องกงหรือสาขาในต่างประเทศยังคงสามารถลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศได้ผ่านบริษัทสาขา หรือใช้เงินทุนที่มีอยู่ในต่างประเทศ