อสังหาฯ-แบงก์ ประเมินปี 2561 ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ทรงตัวในระดับต่ำมานาน “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทยเชื่อ ดอกเบี้ยขาขึ้นช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ขณะที่ “ฉัตรชัย ศิริไล”อ็มดี ธอส.ระบุหากปรับขึ้นน่าจะอยู่ที่ 0.25%

 

ทีมงาน prop2morrow.com สำรวจและสอบถามความเห็นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2561 ซึ่งต่างก็ประเมินว่า ปี2560 น่าจะเป็นปีสุดท้ายที่อัตราดอกเบี้ยต่ำก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาขึ้น ในปี2561 หลังจากที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทยกล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีกลุ่มสินค้าระดับกลางจะได้รับความนิยมมากสุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มลูกค้ามีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้นหลังจากที่หมดภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการรถคันแรก

 

การประเมินการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปี 2561 ดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ที่ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2561 ซึ่งในการปรับขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด โดยเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งการเคลื่อนย้ายทุนและอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือ SFIs(Specialized Financial Institutions : SFIs) ก็ได้มีการปะชุมหรือหารือกันทุกครั้ง ที่กนง.ตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยทั้งส่วนอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหรืออัตราดอกเบี้ยขาลง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายฉัตรชัย ศิริไล

“หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ก็น่าจะอยู่ที่ 0.25%  ส่วนธอส.เราจะก็จะตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุดหากจะปรับขึ้นก็จะปรับขึ้นหลังจากที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นแล้ว 6-8 เดือน”นายฉัตรชัย กล่าว พร้อมกับกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดการแก้ไขกฎหมายใหม่นี้น่าจะมีผลในไตรมาส 2/2560  เพื่อเปิดทางให้ธนาคารฯสามารถดำเนินธุรกิจด้านอื่นๆได้ อาทิ การออกสลาก การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารฯได้เตรียมวงเงินที่จะปล่อยกู้ไว้ในเบื้องต้นแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมถึงรูปแบบอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2560เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ผลการประชุม คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี