สมาคมสถาปนิกสยามฯร่วมมือพันธมิตร เตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่“ASA Real Estate Forum 2018” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปรับบ้าน ปรุงเมือง:Redefined Habitat” ในวันที่ 9 ก.พ.61 หวังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดและบูรณาการทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาฯ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ทั้งสถาปนิกไทยและผู้ประกอบการสู่มาตรฐานสากล 

 

ดร.อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าร่วมกับ สมาคมฯได้ร่วมกับบริษัท อัลติเมท พร๊อพเพอร์ตี้ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และรายการโทรทัศน์อสังหาฯ “อัลทิเมทพร๊อพเพอร์ตี้อินไซท์ ทางสถานี TNN24” จัดงานสัมมนา “ASA Real Estate Forum 2018” ภายใต้แนวคิด“ปรับบ้าน ปรุงเมือง: Redefined Habitat” ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้อง World Ballroom โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งการจัดงานสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในหลากหลายมิติ และมีการคัดเลือกโครงการอสังหาริมทรัพย์ดีเด่นแห่งปีซึ่งถือเป็นการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของสมาคม และหวังว่าจะเป็นการจัดงานประจำปีอีกงานหนึ่งของสมาคมฯ

โดยการสัมมนาดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เหล่าสมาชิกสถาปนิกได้มารวมตัวกัน และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอสังหาฯ สำหรับการสัมมนาช่วงเช้านั้นจะเป็นเรื่องของ”ทิศทางที่ประเทศไทยจะเดินไปจากความสำเร็จของโครงการเมกะโปรเจกต์” ที่เกิดขึ้นแล้วมากมาย เพื่อเป็นการชี้นำทิศทางการลงทุนให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุน และเพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอด ลำดับถัดมาจะเป็นการสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางตลาดทุนด้านอสังหาริมทรัพย์โดยกูรูชั้นนำ” ตามมาด้วยหัวเรื่อง “การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยตรงจากนักลงทุนข้ามชาติและกองทุน” โดยนักพัฒนาผู้มีประสบการณ์ ปิดท้ายก่อน Dinner Talk ด้วยหัวเรื่อง “เทรนด์การพัฒนาตนเองของคนในท้องถิ่นโดยจะนำโครงการ EEC”มาเป็นกรณีศึกษา

 

“สถาปนิกเป็นผู้มีบทบาทในวงการอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด เป็นกลุ่มเริ่มต้นของการวางแผน คิดและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับเจ้าของโครงการฯและผู้บริหารการลงทุน ในอดีตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มองสถาปนิกเป็นแค่ผู้รับจ้างออกแบบ แต่ในความเป็นจริงสถาปนิกเป็นผู้คิดค้น และพัฒนาโครงการภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด   เพื่อให้โครงการที่พัฒนาเป็นชุมชนน่าอยู่ และผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี   สมาคมฯจึงมีหน้าที่สื่อสารเพื่อให้สังคมได้มีความเข้าใจในศักยภาพหลายๆ ด้านของสถาปนิก เนื่องจากอุปสรรคหนึ่งของสถาปนิกคือผู้ประกอบการที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สถาปนิกอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในแก่สถาปนิกเพื่อให้เป็น “Hybrid Architect” หรือ “สถาปนิกคิดรอบ” ดร.อัชชพล กล่าว

 

ดร.อัชชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรีในประเทศสมาชิกฯ    สถาปนิกเป็น1 ใน 7 อาชีพแรกที่มีข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้อย่างเสรี จึงต้องพัฒนาตนเองเพื่อแข่งขันกับสถาปนิกต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมนักลงทุนที่มาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพทางหนึ่ง และแนวคิดในการเพิ่มศักยภาพให้สถาปนิกอย่างรอบด้านนี้เป็นการเพิ่มโอกาสทางวิชาชีพที่สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน