เอกชนไม่เห็นด้วยภาครัฐให้เช่าที่ดินระยะยาวพัฒนาบ้านประชารัฐ เหตุแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อโครงการ-รายย่อย แนะอยากให้ทำจริงควรตั้งกองทุนและรัฐร่วมรับผิดชอบ หรือหามาตรการอื่นมากระตุ้นป้องกันความเสี่ยง จวกที่ผ่านมาสร้างแต่ภาพลักษณ์ ไม่มองภาพไมโคร โครงการจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ระบุอสังหาฯ 2 ค่ายใหญ่เข้าร่วมแจม ก็ยังดิ้นไม่หลุด แก้ปัญหาไม่พ้น

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า กรณีที่ภาครัฐยังเดินหน้าที่จะทำโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อผู้มีรายได้น้อย ด้วยการดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการนั้น ตนมองว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะให้เช่าที่ดินของหน่วยงานภาครัฐระยะยาว 30 ปี ซึ่งในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยนั้นภาคเอกชนไม่มีความต้องการเช่าที่ดินระยะยาว เพราะสถาบันการเงินไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อโครงการ เนื่องจากหากเกิดปัญหาสถาบันการเงินก็จะต้องรับผิดชอบสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)อีก

 

และการที่ผู้มีรายได้น้อยจะขอสินเชื่อรายย่อยก็สามารถทำได้แต่อยากให้ดำเนินการในรูปแบบของการจัดตั้งกองทุน(Mortgage Fund)ขึ้นมารับผิดชอบและรัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ เพื่อประกันความเสี่ยงส่วนต่างให้กับสถาบันการเงินด้วย เพราะที่ผ่านมาผู้มีรายได้น้อยจะมีปัญหาอยู่ 2 ประการหลักคือ ไม่มีหลักฐานทางการเงินอย่างชัดเจน และมีหนี้สินคงค้างที่ล้นพ้นตัว

 

อย่างไรก็ตาแม้ว่าผู้ประกอบการจะเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ในการพัฒนาโครงการบ้านประชารัฐขึ้นมา แต่ก็ต้องกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเช่นกัน แต่จะกู้ได้ยากกว่าที่ดินที่ครอบครองเองโดยตรง เพราะเป็นที่ดินที่เช่าระยะยาว ไม่มีโฉนดที่ดิน สถาบันการเงินจึงไม่อยากปล่อยสินเชื่อโครงการ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพยายามหามาตรการอื่นๆมากระตุ้นให้เกิด คือ ต้องมีกฎหมายผังเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องและไปพัฒนาอีกแปลง

 

“การที่รัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ก็ควรที่จะหาที่ดินที่ภาคเอกชนสามารถมีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองมาพัฒนาได้ และควรมีการรับประกันความเสี่ยง ไม่ใช่ให้ภาคเอกชนรับรับภาระทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่ใช่พันธมิตรแล้ว จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรมากกว่า ดังนั้นหากจะให้บ้านประชารัฐ เกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการรับประกันความเสี่ยงให้กับภาคเอกชนด้วย”นายอธิป กล่าว

 

นายอธิป กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนนั้นยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐจะมัวแต่สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง จึงมองแต่ในภาคแม็คโคร ไม่มองในภาพไมโคร ดังนั้นทุกอย่างจะต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ให้ภาคเอกชนแบกรับความเสี่ยงอยู่ฝ่ายเดียว และยิ่งหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เชื่อว่าโครงการบ้านประชารัฐก็จะยิ่งไม่มีความต่อเนื่อง

 

“จุดตายของบ้านประชารัฐคือ การเจาะจงให้พัฒนาบนที่ดินที่ภาครัฐต้องการโดยไม่มีตัวเลือกให้ภาคเอกชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับกลไกของการตลาด อีกทั้งยังไม่สนใจว่าการก่อสร้างนั้นเป็นอย่างไร สนแต่ว่าผู้ซื้อคือผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปพัฒนาโครงการบ้านประชารัฐมาแล้ว 2 ราย ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ลูกค้าหลายรายกู้สินเชื่อไม่ผ่าน ในขณะที่ภาพรวมตลาดยอดการถูกปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินลดลง เพราะสถาบันการเงินมีความสบายใจขึ้นที่รัฐบาลประกาศGDP ดีขึ้น”นายอธิป กล่าว

 

ดังนั้นในจังหวัดที่จะไปพัฒนาบ้านประชารัฐ จะต้องหาที่ดินไว้ 2 แปลง โดยยอมพัฒนาที่ดินแปลงแรกเพื่อขาดทุน แต่ไปพัฒนาอีกแปลงในราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพื่อสร้างผลกำไร ด้วยการเพิ่มโบนัสจาก 10:1 เป็น 12:1