คอลลิเออร์สฯเผยไทยยังเนื้อหอม ผลจากภาครัฐลงทุนเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่อง-สนับสนุนEEC  ต่างชาติแห่ตบเท้าหาพันธมิตรร่วมพัฒนา ล่าสุดกลุ่มญี่ปุ่น-มาเลย์เบียดชิงประมูลที่ดิน 2 แปลงย่านทองหล่อ-สุขุมวิท12 หวังผุดคอนโดฯ เซอร์วิสอพาร์เมนต์

 

นายรัชภูมิ จงภักดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 เทรนด์การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของผู้ประกอบการจากต่างชาติยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายรายที่ให้บริษัทฯเป็นตัวแทนติดต่อหาที่ดินในการลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่ย่านสุขุมวิทและ จังหวัดในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridorหรือ EEC ) โดยเฉพาะพื้นที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี  เนื่องจากหลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายให้การสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว รวมไปถึงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุน ส่วนใหญ่จะมองการลงทุนในที่ดินเช่าระยะยาว 30 ปีบวก 30 ปี (ลีสโฮลด์ :Leasehold) ซึ่งที่ผ่านมาหลายกลุ่มได้เข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในรูปแบบโรงแรม  อีกทั้งพื้นที่ EECมีชาวญี่ปุ่น ทำงานและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้สนใจจะพัฒนาทั้งในรูปแบบของโรงแรม อาคารสำนักงาน และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โดยที่แสดงความสนใจอย่างชัดเจนในขณะนี้คือกลุ่ม “ลีโอพาเลซ”ซึ่งเป็นผู้ประกอบการพัฒนาเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในประเทศญี่ปุ่น สนใจพัฒนาคอนโดฯระดับลักชัวรี่ มูลค่า 1,500ล้านบาท

 

ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่ม “ลีโอพาเลซ”ได้เข้าไปลงทุนพัฒนาเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในศรีราชา มาแล้ว 1 โครงการเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเทกโอเวอร์อพาร์ตเมนต์เก่ามาปรับปรุงใหม่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท  โดยปล่อยเช่าในราคา 50,000 บาท/เดือน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้กลุ่ม”ลีโอพาเลซ”ยังสนใจเข้าประมูลที่ดินย่านทองหล่อ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประมูลแข่งกับกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจากมาเลเซียที่มีโครงการอสังหาฯในฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา โดยต่างมีแผนจะนำมาพัฒนาในรูปแบบของคอนโดฯ โดยอาจจะเป็นการร่วมพัฒนากับเจ้าของที่ดินเดิม  แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

 

และยังมีที่ดินบริเวณซอยสุขุมวิท 12 พื้นที่ 524 ตารางวา มูลค่า 800 ล้านบาท ที่กลุ่มธุรกิจโบรกเกอร์จากญี่ปุ่นและกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯจากประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมประมูลที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นทั้งในรูปแบบของการร่วมทุนกับเจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของที่ดินอาจจะขายที่ดินไปทั้งหมด คาดว่าจะสามารถสรุปผลในได้ต้นเดือนธันวาคม 2560 นี้

 

“ในบรรดานักลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ชาวญี่ปุ่นถือว่ามีวัฒนธรรม และการร่วมทำงานกับคนไทยได้ดีที่สุด ในขณะที่กลุ่มทุนจากจีนแม้จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมาก แต่ระบบการทำงานมักชอบเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานเกินสัดส่วนการร่วมทุน ซึ่งแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง”นายรัชภูมิ กล่าวในที่สุด