ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ประกาศไฟเขียวผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ที่คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บ ภาษีได้ในต้นปี 2562 นั้น ปรากฏว่าแลนด์ลอร์ดที่ถือครองที่ดินมากมายหลายแปลง ต่างเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะนำที่ดินสะสมเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อลดภาระทางภาษี บางรายก็ตัดแบ่งขาย แต่บางรายก็มั่นใจแบบไม่สะท้าน เพราะมีความสามารถในการจ่ายภาษีแต่ละปีได้ดี

 

สำหรับอัตราภาษีที่เจ้าของที่ดินจะต้องจ่ายตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินใหม่ ได้แก่ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานภาษี 0.2% โดยในช่วงแรกได้มีนโยบายที่จะยกเว้นภาษีให้ทรัพย์สินที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท มีอัตราตั้งแต่ 0.05%-0.1%, 2. ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานภาษี 0.5% โดยเว้นภาษีบ้านหลังแรกที่มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท และมูลค่าเกินกว่านี้มีอัตราตั้งแต่ 0.05%-0.1% และบ้านหลังที่ 2 มีอัตราตั้งแต่ 0.03-0.3%, 3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพดานภาษี 2% โดยทรัพย์สินไม่เกิน 20 ล้านบาทมีอัตรา 0.3% และมูลค่าเกินกว่านี้มีอัตราตั้งแต่ 0.5%-1.5% และ 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานภาษี 5% เริ่มเก็บ 2% และปรับเพิ่ม 0.5% ทุกๆ 3 ปี

 


นายรัชภูมิ จงภักดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด
เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีแลนด์ลอร์ดหลายรายหันมามองพอร์ตที่ดินของตังเอง โดยเฉพาะที่ดินเปล่าว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้างเพื่อหาทางลดภาระภาษี เมื่อพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯมีผลบังคับใช้ในต้นปี2562 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีเจ้าของที่ดินหลายรายนำพอร์ตที่ดินของตนเองหรือของครอบครัวมาให้บริษัทนำไปพิจารณาหาแนวทางลดภาระภาษี ล่าสุดแลนด์ลอร์ดจากตระกูล “โอสถานุเคราะห์”ได้มอบหมายให้บริษัทเข้ามาบริหารพอร์ตที่ดินทั้งหมดจำนวน 15 แปลงๆละตั้งแต่ 1-30 ไร่ เริ่มจากที่ดินบริเวณถนนสุขุมวิทตั้งแต่ที่ตั้ง “โอสถสภา”ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีบางจากและปุณณวิถี ยาวไปจนถึงแยกปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ ว่าที่ดินแปลงไหนจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 3 แนวทาง คือ 1.การตัดแบ่งที่ดินขาย  2.การร่วมทุนกับพันธมิตร และ3.การนำที่ดินมาปล่อยให้เช่า  ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นการปล่อยให้เช่ามากกว่า ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

 

“หากเป็นที่ดินเปล่ากลางเมืองมูลค่าที่ดิน 1,000 ล้านบาท ช่วงแรกเสียภาษี 2% จะต้องเสียภาษี 20 ล้านบาท/ปี และหากเต็มเพดานเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีสูงถึง 50 ล้านบาท/ปี การนำที่ดินมาพัฒนาหรือใช้ประโยชน์จะช่วยลดภาระภาษีลงไปได้มาก จึงทำให้มีเจ้าของที่ดินต้องการหานักลงทุนเข้ามาพัฒนาที่ดินของตนเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สิน หรือปล่อยเช่าให้แก่นักลงทุนหรือให้ดิสเคาน์สโตร์  ห้างค้าปลีกเช่าขายเพื่อลดภาระภาษี บางรายต้องการขายก็มี”นายรัชภูมิกล่าว

 

ทั้งนี้ที่ดินของกลุ่ม “โอสถานุเคราะห์” น่าจะเป็นที่ดินมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยนายสวัสดิ์และคุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์  โดยเฉพาะในอดีตคุณหญิงล้อม จะเป็นผู้ที่ชอบเล่นที่ดิน ส่งผลให้ทายาทรุ่นต่อๆมามีที่ดินสะสมมากมายทั้งที่หัวหมาก หลังสวน พระโขนง อ่อนนุช และสมุทรปราการ ฯลฯ ซึ่งซื้อมาตั้งแต่สมัยที่ที่ดินราคาไม่แพงมากมาย ถนนเพิ่งจะเริ่มตัดเข้าไป จนปัจจุบันที่ดินแต่ละแปลงราคาพุ่งสูงลิบลิ่ว เพราะอยู่ในทำเลศักยภาพทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้กลุ่มน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ยังได้มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการในการหาที่ดินเพื่อขยายธุรกิจโรงพยาบาลในเครือ BDMS จำนวน 2 แปลง คือที่ดินบริเวณถนนเพชรบุรี ติดกับโรงพยาบาลกรุงเทพ พื้นที่ 1 ไร่เศษ และที่ดินบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ซอยคอนแวนต์ สีลม พื้นที่ประมาณ 2 ไร่

 

อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี2559 กลุ่มBDMS ได้เข้าไปซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรม “สวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ” และอาคารสำนักงาน Promenadeของตระกูล “สมบัติสิริ”บนพื้นที่ 15 ไร่ ด้วยมูลค่า 10,800  ล้านบาท  เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพแบบควรวงจร BDMS Wellness Clinic มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท

 

เชื่อว่าในปี 2561 คงมีแลนด์ลอร์ดประกาศนำที่ดินแปลงงามๆอีกหลายแปลงออกมาใช้ประโยชน์อีกอย่างแน่นอน เพราะหากเก็บไว้ก็จะต้องแบกรับภาระด้านภาษีปีละจำนวนไม่ใช่น้อย  คาดการณ์ว่าหากเป็นที่ดินแปลงงามมีศักยภาพ แลนด์ลอร์ดเหล่านั้นคงไม่ปล่อยขายอย่างแน่นอน แต่อาจจะนำมาให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นเช่าระยะยาวมากกว่า แต่บางรายที่ปล่อยขาย อานิสงส์ก็จะตกเป็นของผู้ประกอบการอสังหาฯที่จะนำไปพัฒนาโครงการ ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไป เชื่อว่าในปีหน้าคงมีอะไรที่ฮือฮามากกว่าปี 2560 อย่างแน่นอน