เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผนึกมูลนิธิอาคารเขียวไทย ได้ประกาศผลประกวดเมืองอัจฉริยะ(Smart Cities-Clean Energy)จาก 7โมเดล เหลือเพียง 6 โมเดล ได้แก่ 1.โครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า 2.โครงการ มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด โดยเมืองเชียงใหม่ 3.โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ   โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.โครงการต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต   5.โครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(MQDC) และ6.โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง โดยเมืองขอนแก่น. ซึ่งทั้ง 6โมเดลนี้จะได้รับเงินทุนสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาทซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นได้ในประเทศต่อไป

 


เกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะ

สถาบันอาคารเขียวไทยได้กำหนดขนาดของโครงการเมืองอัจฉริยะไว้ว่า เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 30,000 คน หรือมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือมีพื้นที่อาคารมากกว่า 1,000,000 ตารางเมตร หรือมีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 30,000 ตัน โดยได้จัดทำเกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะเป็น 8 หมวด ดังนี้

1. พลังงานอัจฉริยะ (smart energy) ตัวชี้วัดประกอบด้วยค่าการใช้พลังงานต่อประชากร การผลิตพลังงานทดแทน การผลิตพลังงาน ณ จุดใช้งานการสะสมพลังงาน ระบบทำความเย็นและความร้อนรวมศูนย์ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ การลดการปลดปล่อยคาร์บอน การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า

2.การสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility)ตัวชี้วัดประกอบด้วยการวางผังโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงาน ระบบการจ่ายน้ำ ระบบการขนส่ง ระบบโดยสารสาธารณะ การบริหารที่จอดรถ การส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยาน การจัดเตรียมสถานพยาบาล ระบบฉุกเฉิน ระบบความปลอดภัย สถานศึกษา สถานที่ท่องเที่ยว การบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย นอกจากนี้ยังประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริหารจัดการอัจฉริยะในทุกๆด้าน

3.ชุมชนอัจฉริยะ (smart community) ตัวชี้วัดประกอบด้วยการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพ สุขภาพ การศึกษา การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ

4.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) ตัวชี้วัดประกอบด้วยการรักษาสภาพแวดล้อม ป่าไม้ พืชพันธ์ ระบบนิเวศน์ การส่งเสริมการเกษตร แหล่งผลิตอาหารในเมือง สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการน้ำ มลภาวะทางน้ำ มลภาวะทางอากาศ  ปรากฏการณ์เกาะความร้อน

5.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) ตัวชี้วัดประกอบด้วยโมเดลทางธุรกิจ นวัตกรรมรูปแบบการลงทุน ความสร้างความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนร่วม ความเป็นหุ้นส่วน การบริหารรายได้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเมืองที่ยั่งยืน การส่งเสริมการเจริญเติบโตของเขต

6.อาคารอัจฉริยะ (smart building) ตัวชี้วัดประกอบด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย การพัฒนาอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ระบบอาคาร/ บ้านอัจฉริยะ

7.การปกครองอัจฉริยะ (smart governance) ตัวชี้วัดประกอบด้วยหลักความเป็นเมืองอัจฉริยะ ภาวะความเป็นผู้นำ ยุทธศาสตร์ โครงสร้างองค์กร กระบวนการบริหารจัดการ ระบบการวัดผลสำเร็จ

8.นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Governance)นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ไม่สามารถทำคะแนนได้หมวด 1-7

 

 

ทั้งนี้ แต่ละโมเดลจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป เริ่มจาก

1.โครงการ นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 180,736 ตารางเมตร จำนวนประชากรเทียบเท่า 4,040 คน

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือ นิด้า (NIDA)เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัฐที่เปิดสอนเฉพาะ ระดับบัณฑิตศึกษา ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดาริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่พ.ศ. 2509 เพื่อสร้างผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน กว่า 5 ทศวรรษทีผ่านมา นิด้าได้ผลิตผู้บริหารกว่า 70,000 คน ออกไปเป็นผู้นําองค์กรภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ

เพื่อเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะในพื้นที่เพียง 44 ไร่ นิด้ามุ่งหน้าสู่การเป็น “Smart Compact City” ที่มีจุดเด่น ดังนี้

1. Smart Energy: ชาวนิด้าจะมีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ส่งเข้า Smart Grid ที่มีระบบแบตเตอรี่ช่วยหล่อเลี้ยง แม้ในยามฉุกเฉินได้ 100% อีกทั้งระบบจัดการพลังงานอัตโนมัติและการใช้พลังงานธรรมชาติ จะช่วยลดการ ปล่อย CO2 ลงได้กว่า 66%

2.Smart Mobility: นิด้าจะสร้างเมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เป็น Intermodal Transportation Hub แห่งใหม่ของกรุงเทพโซนตะวันออก โดยการเชื่อมโยงทางเดินเท้า ทางจักรยาน และรถไฟฟ้าในอนาคต จะมีรถ Shuttle Bus พลังงานไฟฟ้าจากสถานีรถไฟฟ้าและท่าเรือเข้าสู่สถาบัน พร้อมทั้งมีระบบสื่อสารระยะไกล พลังงานต่ำ หรือ LoRa-Wan เชื่อมต่ออุปกรณ์อัจฉริยะเข้าสู่ Data Analytic Center ของเมืองเพื่อประมวลผลข้อมูล สำหรับการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองในทุกมิติ

3. Smart Community: ข้อความจะเตือนเรื่องกิจกรรมต่างๆ ไปที่ Wrist Band ส่วนตัวของชาวนิด้า เทคโนโลยีนี้ทําให้ทุกคนสามารถตรวจสอบตารางกิจกรรมทั้งหมด สถานะสุขภาพ ทั้งยังทําการนัดหมายแพทย์ผ่าน Smart Device ของตนได้ ส่วน Smart Board ที่ Sky Bridge โถงลิฟต์และจุดสําคัญอื่นๆ จะแสดงข้อมูลงานวิชาการ รวมถึงผลการสํารวจที่สําคัญของนิด้าโพล

4. Smart Environment: หลังพัฒนา Smart Campus พื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้นอีก 07% ขยะจะถูก Recycle เพื่อทําปุ๋ยอินทรีย์ให้ต้นไม้และนําไปทําเป็น Bio Gas ภายใน 3 ปี ขยะจะลดลงเหลือ 40% และภายใน 5 ปี จะเหลือเพียง 20%

5.Smart Economy: นิด้าจะเป็นแม่แบบและศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ผ่าน Online Courseware โดยโครงสร้าง Crowd Funding Platform จะเชื่อมโยงระหว่างคนในชุมชน และให้คําปรึกษาผ่าน Business Insight and Neuroscience ส่วนค่าไฟฟ้าที่ลดลงปีละ 24 ล้านบาท จะถูกนํามาลงทุนโครงการ Smart Campus ผลักดันให้นิด้าเป็น World Class University

6.Smart Building: นอกจากอาคารสูงที่สุด 2 อาคารจะถูกปรับปรุงตามมาตรฐานอาคารเขียวของ TREES ใน ระดับ Platinum แล้ว นิด้าจะมี Net Zero Energy Building อีก 8 อาคารรวมอาคารหอประชุมฯ ทั้งนี้ Payback Period ทั้งโครงการอยู่ที่ 7.3 ปี

7.Smart Governance: ผู้บริหารจะไม่เพียงทราบอัตราการใช้พลังงานจาก Smart Control System แต่ยัง ทราบข้อมูลปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์และสถิติต่างๆ ของสถาบันผ่าน Smart Dashboard ทั้งนี้ Smart Campus ของนิด้าให้ความสําคัญต่อ Open Data ดังนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็น ประโยชน์ได้อย่างสะดวก นําไปสู่การร่วมตัดสินใจอย่างโปร่งใส

8.Smart Innovation: นิด้าจะพัฒนา Machine Learning และ Big Data Analytics ร่วมกันเป็นระบบ สนับสนุนการตัดสินใจสําหรับการบริหารจัดการอัจฉริยะต่างๆ ส่วนด้านกายภาพ Sky Garden และ Sky Bridge จะกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของชุมชน ด้าน Passive Energy Saving การบังคับลมให้ผ่านอาคารด้วย ทรงพุ่มของต้นไม้ พร้อมทั้ง Vertical Garden และ Stack Ventilation ในอาคารสูงจะทําให้สามารถลดการใช้แอร์ลดลง ที่จะเป็นนวัตกรรมเพื่อประหยัดพลังงานและลด CO

 

 

เมื่อนิด้าเป็น “Smart Compact City” แล้ว มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้บริหารทั้ง ภาครัฐและเอกชนย่อมจะสามารถนา Smart Compact City Model ที่ตนได้สัมผัสและเรียนรู้มาหลายปีแล้วนี้ไปพัฒนาองค์กรของตนเอง ทําให้ประเทศไทยมีต้นแบบ Smart City เทียบเคียงกับ Asia และระดับโลก ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า NIDA Smart Compact City จะเป็นต้นแบบเมืองแห่งอนาคตที่นําไปสู่การ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สมดังเจตนารมณ์ขององค์ผู้ก่อตั้ง

 

 

2.มช.(เมือง) :  มหาวิทยาลัยอัจฉริยพลังงานสะอาด
พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 825,686 ตารางเมตร จำนวนประชากรเทียบเท่า 896,979 คน

 

เมืองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมสูง มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่สีเขียวมากเกินกว่ามาตรฐานกำหนด รวมถึงมีพื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมมากมาย เมืองมีวัตถุประสงค์หลักในการลดผลกระทบและลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมต่อเมืองข้างเคียง รวมถึงมุ่งเน้นการเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะพลังงานสะอาดให้กับเมืองข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคทางเหนือ

 

นอกจากนั้นเมืองยังมีนโยบายด้านการบริหารจัดการพลังงานสีเขียวหลายโครงการ ทั้งที่ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิโครงการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และชีวมวล โครงการลดการใช้รถส่วนตัวในเมือง โครงการขยะเป็นศูนย์ และโครงการรถสาธารณะพลังงานจากขยะ รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการจัดตั้งอีกมากมาย ได้แก่ โครงการเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (Absolute SMART Control) ที่เน้นการวางระบบเครือข่ายการควบคุม ตรวจสอบ และตรวจวัดระบบของเมืองครบวงจร ทั้งระบบเกี่ยวกับพลังงาน ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบการสัญจร และระบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชากร เป็นต้น โครงการเพิ่มเครือข่ายการสัญจรสาธารณะ โครงการธุรกิจอัจฉริยะ โครงการปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอาคารเขียว (TREEs) และจัดทำแผนการก่อสร้างอาคารใหม่ให้เป็นอาคารเขียวระดับยอดเยี่ยม (TREEs-Platinum) เป็นต้น

 

ทั้งนี้เมืองมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของโครงการในภาพรวมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ภาพรวมประโยชน์ทางพลังงาน ภาพรวมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และภาพรวมผลประโยชน์ต่อชุมชน โดยที่เมืองสามารถสร้างผลประโยชน์ทางพลังงานสุทธิได้จากการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และชีวมวลได้ถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้พลังงานของเมือง พลังงานสะอาดเหล่านี้นอกจากจะนำมาหักลบกับการใช้พลังงานจากการไฟฟ้าในหมู่บ้านและชุมชนแล้ว เมื่อเหลือใช้ยังสามารถแบ่งปันไปยังหมู่บ้านและชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย

 

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมเมืองมีเป้าหมายลดผลกระทบในแง่การลดการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอน (Carbon reduction) ใน 20 ปี ได้ถึง 32,370.68 tCO2/y คิดเป็นร้อยละ 55.2 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปัจจุบัน (ปี 2559) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นปอดให้กับเมืองและชุมชนรอบข้างได้จากการมีปริมาณพื้นที่สีเขียวร้อยละ 40 นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นเป็นต้นแบบการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมครบวงจรให้กับเมืองข้างเคียงได้พัฒนาสู่สังคมสีเขียวแบบอัจฉริยะ

 

ผลประโยชน์ต่อชุมชน เป็นที่แน่นอนว่าประชาชนทั้งในเมืองจำนวน 14 หมู่บ้าน และ 6 ชุมชนข้างเคียงจะสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวในเมือง มีความสะดวกสบายในการสัญจรเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีโอกาสนำระบบการบริหารจัดการในเมืองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปเป็นต้นแบบในการปรับใช้กับชุมชนได้อีกด้วย

ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ ต่อเมืองรอบข้าง ประกอบด้วย การลดต้นทุนในการใช้พลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าของเมืองโดยรวมซึ่งทำให้มีปริมาณของไฟฟ้า (electricity supply) เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนเมืองอัจฉริยะยังจะเป็นการสร้างนวัตกรรมและสามารถส่งต่อองค์ความรู้สู่ภาคธุรกิจ (Knowledge transfer) โดยรอบได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มการลงทุนและสร้างรายได้ในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) ของเมืองโดยรอบ

 

 

3.เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ

พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 1,800,000 ตารางเมตร

โมเดลดังกล่าวเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน ถือเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในเขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ติดกับพื้นที่สถาบันการศึกษา ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 291 ไร่ จากที่ดินทั้งหมด 1,153 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่ง เดียวของโลก ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และตั้งอยู่ในศูนย์กลางเมืองหลวงของประเทศ

 

จากการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนจะจัดทำโครงการแผนแม่บทฉบับใหม่ ประกอบกับทางจุฬาฯมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เมื่อปี2559 ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะพัฒนาอุทยานจุฬาฯ100 ปี ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของแนวคิด  “เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ” ที่ต้องการทำแผนแม่บทที่สามารถใช้งานได้จริง ประกอบกับในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน สถาบันอาคารเขียวไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการประกวดการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) จึงทำให้ทางจุฬาฯจัดทำแผนแม่บทออกเป็น 2 ส่วน คือแผนแม่บทที่จุฬาฯใช้งานเองและแผนแม่บทสำหรับร่วมประกวด โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนา”เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ”คือ 1.เมืองสุขภาวะ 2.ต้นแบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ และ3.สมาร์ทซิตี้ บนพื้นที่การพัฒนาทั้งหมด 291 ไร่

 

ทั้งนี้การพัฒนาในพื้นที่ “เมืองจุฬาฯอัจฉริยะ”จะแบ่งเป็น 5 โซนหลัก คือ 1. บริเวณริมถนนพระราม4 จะพัฒนาเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงาน


2.พื้นที่หัวมุมถนนบรรทัดทอง-ถนนพระราม4 จะพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ อาคารสำนักงาน คล้ายๆกับพื้นที่โซนแรก แต่จะมีจำนวนที่น้อยกว่า


3.พื้นที่บริเวณโดยรอบ “อุทยานจุฬาฯ100 ปี” จำนวน 29 ไร่ จะเน้นบริษัทชั้นนำในหลากหลายธุรกิจเป็นพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อสร้างมูลค่าให้กับที่ดิน ซึ่งโซนนี้จะเป็นการทุนเองของจุฬาฯ หวังส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำวัตถุประสงค์ของการว่าจ้างและผลงานที่ต้องการ(TOR) คาดว่าภายใน 2 ปีอาคารแรกจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อน


4.โซนที่อยู่อาศัยแนวสูง โดยบางส่วนอาจจะพัฒนาเป็นหอพักนักศึกษาและสวัสดิการบุคคลากรจุฬาฯ


5.พื้นที่บริเวณด้านข้างสนามกีฬาสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า สนามจุ๊บ จะเน้นในเรืองการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะอยู่ใกล้สถาบันศึกษาหลายแห่ง รวมไปถึงใกล้ห้างสรรพสินค้า และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

 

 

การที่โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน จะกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างของ “เมืองอัจฉริยะ” ในบริบทของพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองหลวง นอกจากจะส่งผลทางด้านบวกกับคนเป็นจํานวนมากในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นสูง ทั้งในทุกมิติอัจฉริยะของการจัด การพลังงาน การสัญจร ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อาคาร รวมทั้งการบริหารจัดการเมือง และการสร้าง นวัตกรรมเมืองแล้ว ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี2560 พื้นที่  “เมืองจุฬาอัจฉริยะ” นี้ ยังจะมีบทบาทในการชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ที่เน้นกําไรจากการสร้างนวัตกรรมทางสังคม มากกว่าการสร้างรายได้ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว สมกับบทบาทในฐานะ “มหาวิทยาลัยของแผ่นดิน” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องสืบสานบทบาทของการเป็น “เสาหลัก” ของแผ่นดิน และสามารถเป็น จุดอ้างอิง และชี้ทิศทางสําหรับการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

 

ที่สําคัญการเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองเพียงแห่งเดียว ที่มีนโยบายการพัฒนาและการบริหารจัดการควบคู่ไปกับสถาบันการศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทําให้พลวัตของการถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ สู่การสร้างนวัตกรรมทางสังคมผ่านการพัฒนาพื้นที่ สามารถดําเนินการได้อย่างมั่นคง แน่นอน และเป็นรูปธรรม หากวัตถุประสงค์ที่สําคัญและยั่งยืนที่สุดในการสร้างเมืองอัจฉริยะ ที่นอกเหนือไปจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใดๆ คือ ความสามารถในการพัฒนาสังคมอัจฉริยะ ที่ประกอบไปด้วย “คน” ที่มีจิตสานึกอย่างอัจฉริยะ

 

พื้นที่เมืองจุฬาอัจฉริยะนี้ จะช่วยยกระดับการเรียนการสอน สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา พฤติกรรมของนิสิตและบุคลากรอย่างเต็มศักยภาพ สามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสู่สังคมภายนอกอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม อาทิ นวัตกรรม ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการแพทย์ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้มาต่อยอดในเชิงธุรกิจ ผ่านการพัฒนาพื้นที่ พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองที่ตั้งอยู่เคียงคู่กับพื้นที่การศึกษาเพียงแห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็น พื้นที่เมืองอัจฉริยะ ที่มีศักยภาพรองรับความเปลี่ยนแปลงจากพลวัตของสิ่งแวดล้อมโลก และพลวัตของคนรุ่น ใหม่จากมหาวิทยาลัยที่หล่อเลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ตลอดไป

 

 

4.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 2,589,814 ตารางเมตร จำนวนประชากรเทียบเท่า 33,060 คน

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา พื้นที่โครงการ 1,757 ไร่ ตั้งอยู่ใน เขตคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นจะผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และมีคุณธรรม เพื่อนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอย่างรับผิดชอบต่อสังคม พื้นที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาคมธรรมศาสตร์นักศึกษาคณาจารย์ในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบัน สร้างพื้นที่การวิจัยแบบบูรณาการ มีศูนย์วิจัยที่พร้อมด้วย เทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและนําเสนอ แนวทางพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

 

อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่คณาจารย์บุคลากรและนักศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งอํานวยความสะดวกพื้นฐานที่พร้อมในการรองรับวิถีชีวิต พร้อมทั้งมีพื้นที่ทํากิจกรรมนันทนาการ กีฬา ศิลปวัฒนธรรม ในสภาพแวดล้อมที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ร่มรื่นน่าอยู่ประชาคมอยู่อาศัยในสังคมธรรมศาสตร์อย่างมีความสุข และพร้อมแบ่งปันวิถีชีวิตดีๆ ให้กับชุมชนโดยรอบและสังคมโดยรวม ผสานกิจกรรมและ กระบวนการการมีส่วนร่วมตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์รังสิต ได้จัดทําการปรับปรุงผังแม่บท ศูนย์รังสิตระยะยาว พ.ศ.2577 (ธรรมศาสตร์ 100 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเชิงกายภาพด้านการขาดศูนย์กลางชุมชน และความไม่ชัดเจนของการสื่ออัตลักษณ์ธรรมศาสตร์ พร้อมกับเตรียมปรับระบบพื้นที่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับการใช้งานใน ปัจจุบันและแผนการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นด้านการเชื่อมต่อพื้นที่มหาวิทยาลัยเข้ากับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยการจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้บริหารและประชาคมธรรมศาสตร์เพื่อ ทบทวนนโยบายและวางเป้าหมายธรรมศาสตร์ 100 ปี ร่วมกันกําหนดแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาและจัดทํา ผังแม่บท ก่อให้เกิดทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีแผนรองรับการพัฒนาด้วยหลักการสร้างสมดุลระหว่างการ พัฒนาและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามแนวคิด “เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวยั่งยืน”(Sustainable Campus Town)

 

 

แนวคิดของโครงการ (Concept)

เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์และบทบาทที่ชัดเจนของศูนย์รังสิต ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ธรรมศาสตร์ 100 ปี ผ้บริหารและประชาคมธรรมศาสตร์จึงมีแนวคิดในการสร้างศูนย์รังสิตให้เป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อรับใช้ประชาชน และผู้อยู่มีความสุข” โดยมี 5 แนวทางหลักในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่การเป็น
– ศูนย์ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน (Center for the People)
– ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Community)
– เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน (Sustainable Campus Town)
– มหาวิทยาลัยแห่งความสุข (Joyful Campus)
– ศูนย์กลางบ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Campus)

การปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2577 มุ่งเน้นไปที่การปรับโครงหลัก ของผังให้เหมาะสม ได้แก่ การแบ่งส่วนพื้นที่ การสัญจร พื้นที่เปิดโล่งสีเขียว แกนเอกลักษณ์ จุดรวมกิจกรรม และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อสร้างความเป็น “เมืองธรรมศาสตร์” ที่เชื่อมโยงกันด้วย 3 องค์ประกอบ สําคัญ คือ ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย และสวนธรรมศาสต์สาธารณะ

 

1. ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย จึงส่งเสริมการใช้งาน และปรับลักษณะทางกายภาพของการเป็น “ศูนย์ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน” ในบริเวณ “ด้านหน้า”ทุกๆด้าน ของมหาวิทยาลัย โดยให้มีลักษณะเปิดรับต่อชุมชนภายนอกและมีการใช้งานที่เอื้อต่อการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ ได้แก่ บริเวณทิศ ตะวันออก (ถนนพหลโยธิน) ให้เป็นพื้นที่การบริการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพและรักษาพยาบาล บริการ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และส่งเสริมความรู้ด้านธุรกิจ บริเวณทิศตะวันตก (สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง) ให้เป็นพื้นที่ เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต และบริเวณทิศใต้(ถนนเชียงราก) ให้เป็นพื้นที่บริการด้านนันทนาการ กีฬาและวัฒนธรรม

 

2.ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ส่วนการศึกษาและส่วนพักอาศัย ซี่งตงั้อย่บริเวณใจ กลางมหาวิทยาลัยและเป็นหัวใจสําคัญของสถาบันการศึกษาและ การปรับพื้นที่คํานึงถึงการใช้งานที่ครบถ้วน สะดวกสบาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสะดวกในการเดินเท้า การใช้จักรยานและระบบขนส่ง มวลชน สร้างความใกล้ชิดของกลุ่มคณะต่างๆ เพื่อให้เกิด“ศูนย์รวม” ที่ชัดเจนทั้งด้านกิจกรรม การแลกเปลี่ยน เรียนรู้และการสร้างสุนทรียภาพในการใช้ชีวิต รวมทั้งส่งเสริมการใ้ช้ถนนตลาดวิชาและถนนยูงทองเพื่อสร้าง การเชื่อมโยงทางกายภาพกับสถาบันเพื่อนบ้าน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (A.I.T.)ซึ่งมีบทบาทสําคัญในการก่อให้เกิด ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย” อย่างแท้จริง

 

3. สวนธรรมศาสตร์สาธารณะ องค์ประกอบหลักทั้ง 2 ส่วน ทั้งด้านการบริการประชาชนและด้านการศึกษา จะเชื่อมโยงเข้าหากันด้วย “สวนธรรมศาสตร์สาธารณะ” ได้แก่ พื้นที่ส่วนนันทนาการ กีฬาและ วัฒนธรรม และพื้นที่ส่วนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ โดยยึดแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวภายในศูนย์รังสิต ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านกิจกรรมพักผ่อนนันทนาการ พบปะสังสรรค์ การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการใช้งานด้านสาธารณูปโภค โดยการสร้างให้เกิด โครงข่ายสีเขียว (Green Network) ที่เชื่อมโยง คนทุกกลุ่มและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

 

โครงการตามผังแม่บทนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านกายภาพ: เกิดการแก้ปัญหาและนําไปสู่การพัฒนาที่สื่อเอกลักษณ์ เป็นที่รับรู้ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากประชาคมมหาวิทยาลัย

 

2. ด้านการบริหารจัดการ: เกิดการวางแผน ทบทวนระบบบริหารจัดการด้านระบบกายภาพใน มหาวิทยาลัย โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

3. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์ :เกิดความร่วมมือและประสานงานในทุกระดับและ ขั้นตอน ของการจัดทําแผนพัฒนากายภาพเพื่อลด   ปัญหาความขัดแย้ง ส่งเสริมใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า

 

 

5.โครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน

พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 359,450 ตารางเมต จำนวนประชากรเทียบเท่า ประมาณ 21,178 คน

Whizdom101 “วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน” New Community Hub of Bangkok เป็น โครงการ Mix-used project ที่พัฒนาบนเนื้อที่ 43 ไร่ บนถนนสุขุมวิท มูลค่าโครงการ 30,000 ล้านบาท Gross floor area (GFA) ประมาณ 359,450 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย ที่พักอาศัย ประมาณ 140,450 ตารางเมตร และอาคารเพื่อการพาณิชย์และพื้นที่สาธารณะประมาณ 212,000 ตารางเมตร

 

 

• โครงการตั้งอยู่เขตชุมชน ย. 7 สีส้ม ที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง ส่วนขยายของเมือง สุขุมวิทตอนใต้ ติดถนนสุขุมวิทและแนวรถไฟฟ้าใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสปุณณวิถี อยู่ในเขตรัศมีแนวรถไฟฟ้า 500 เมตร เดินทางสะดวกทั้งรถส่วนตัว และระบบขนส่งสาธารณะ โดยโครงการจะมีทางเชื่อมต่อแบบสกายวอล์คจากสถานีปุณณวิถี สามารถเดินเท้าถึงโครงการได้ภายในเวลาเพียง 5 นาท

 

• การพัฒนา โครงการมีความประสงค์จะพัฒนาโครงการให้เป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้าง โดยต้องการนำเสนอและส่งมอบไลฟ์สไตล์ รูปแบบคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง Mixed-use Urban Neighborhood ภายใต้แนวความคิด“The Great Good Place” ที่ซึ่งเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัว ระหว่างที่อยู่อาศัย ที่ทางาน และที่พักผ่อนเพื่อทากิจกรรมทางสังคมต่างๆ โดยโครงการไม่เพียงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยในโครงการเท่านั้น แต่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบโครงการ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

• โครงการ Whizdom101 มี พื้นที่สีเขียวในโครงการทั้งหมด 30% ของที่ดินทั้งหมด ในรูปแบบ multi-level garden park โดยมุ่งหวังจะคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน รวมไปถึงระบบนิเวศน์ของสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เช่น นก ผีเสื้อ กระรอก ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในโครงการ

 

• โครงการ Whizdom101 จัดพื้นสาธารณะให้กับบุคคลภายนอกโครงการ และชุมชนโดยรอบ เพื่อสามารถเข้ามาพักผ่อน และทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ทั้งที่สนับสนุนโดยเอกชน และรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น E- Library ห้องสมุดสาธารณะ , พื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่สีเขียวโดยมี สวนขนาดใหญ่กว่า 3 ไร่ ในส่วนพื้นที่อาคารพาณิชย์

 

• ลู่วิ่ง และเลนจักรยานลอยฟ้าความยาว 1.3 กม. บนอาคาร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ตู้ล็อคเกอร์ ห้องอาบน้า ที่เปิดบริการให้บุคคลทั่วไป เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนการออกกาลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ

 

• ตอบสนองความต้องการของชีวิตคนเมือง และชุมชนโดยรอบด้วย แนวคิด ร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เป็น Innovative Lifestyle Retail โดยมีร้านค้ากว่า 200 ร้าน และมีพื้นที่ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกบ้าน ผู้เช่าภายในโครงการ และชุนชนโดยรอบได้รับความปลอดภัย และแสงสว่างตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ด้วยร้านที่ให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิต เช่น ธนาคาร ไปรษณีย์ ฯลฯ

 

• การออกแบบอาคารโครงการ WHIZDOM 101 เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานทั้งด้าน PASSIVE และ ACTIVE เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการคาดการณ์ว่าทุกอาคารในโครงการผ่านหลักเกณฑ์ ขั้นต่ำ TREES ระดับ Gold ของอาคารเขียว การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย โดย สถาบันอาคารเขียวไทย

 

• โครงการมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกันทั้งประปา ไฟฟ้า คมนาคมขนส่ง บริการสาธารณะของเมืองทำให้แต่ละระบบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแบบบูรณาการผ่านระบบ IT เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

• พื้นที่ในโครงการ ทั้งส่วนสำนักงาน ที่พักอาศัย ร้านค้าปลีก และสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด จะอยู่บนโครงข่ายดิจิทัลแพลตฟอร์ม เดียวกัน ทำให้ที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นเมืองดิจิทัลที่เชื่อมประสานกันเป็นเครือข่ายแบบไร้รอยต่อ โดยพื้นที่ทั้งหมดจะสามารถเชื่อมต่อไวไฟ (WiFi) ที่มีความเร็วสูงสุดได้ฟรี ทำให้ทุกคนในสังคมแห่งนี้มีอิสรภาพในโลกดิจิทัลแบบไร้ขีดจำกัด การวางระบบ Cloud เพื่อให้บริการ ซึ่งสามารถใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ งานการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสามารถให้บริการ Application ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

• บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนา “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ศูนย์กลางสร้างสรรค์งานวิจัยนวัตกรรม เพื่อสังคมดิจิทัลที่ครบวงจร และสมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล (Digital Hub)

 

• Whizdom 101 จะเป็นสังคมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งผสมผสานพื้นที่สำนักงาน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ร้านค้าปลีก และพื้นที่ส่วนรวมที่ตอบสนองการใช้ชีวิตแบบไร้รอยต่อบนดิจิทัล แพลตฟอร์ม

 

6.โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง

พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมทั้งสิ้น 803,207  ตารางเมต จำนวนประชากรเทียบเท่า 155,909 คน

 

นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) จังหวัดขอนแก่นถูกกำหนดให้เป็นเมืองสำคัญและเป็นเมืองศูนย์กลางด้านต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการวางรากฐานการพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการพัฒนาองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับบทบาทการเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ (Regional Center) ส่งผลให้ในปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้านของภูมิภาค ทั้งในด้าน การศึกษา การค้าและบริการ การเงิน การแพทย์อุตสาหกรรม คมนาคมและโลจิสติกส์ ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาปริมาณขยะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จังหวัดขอนแก่นจึงได้มีการกำหนดกรอบทิศทาง การพัฒนาให้มีความชัดเจนและรัดกุมเพื่อให้สามารถนำศักยภาพภายที่มีใช้พัฒนาเมืองทั้งในเชิงรุกและเชิงรับได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดเป็นไปอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงต่อประชาชนและก้าวสู่ความเป็นมหานครแห่งอาเซียน

 

 

นอกจากนั้นแล้ว เมืองขอนแก่นยังมีศักยภาพด้านการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามระเบียงเศรษฐกิจ (EWEC) กลุ่มประเทศเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor หรือ EWEC) เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง 5 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นจุดผ่านที่สำคัญของโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงนานาประเทศดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและการบริการของไทย อำนวยความสะดวกด้านการค้าข้ามพรมแดน และขยายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านและติดต่อกับชาติอื่นๆ มากขึ้น ทำให้ ปัจจุบันนี้เมืองขอนแก่นได้กำหนดให้เป็น MICE CITY (MICE ย่อมาจากแนวคิดด้าน Meeting, Incentive, Conventions, and Exhibition)

 

กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชาวเมืองขอนแก่นเพิ่มมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้พื้นที่เมืองขอนแก่นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาจราจร ปัญหาการจัดการขยะ การลดลงของพื้นที่สีเขียว เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดภาระหน้าที่ และบทบาทของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนซึ่งถือเป็นการบริหารกิจการบริการสาธารณะพื้นฐาน จากการที่เมืองขอนแก่นเป็นเมืองที่มีหลากหลายบทบาท เมืองมีการขยายเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

เมื่อผนวกเข้ากับวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครขอนแก่นทำให้มีความจำเป็นต้องมีการบริหารเชิงพื้นที่ และการบริหารจัดการในรูปแบบของความเป็นเมืองสร้างสรรค์(Smart City) ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นมีองค์ประกอบแห่งความสำเร็จหลายประการที่สามารถนำรูปแบบการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์มานำร่องปรับใช้กับเมืองได้ โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนหรือกับองค์กรเอกชน ได้แก่ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมดกว่า 20 บริษัท รวมตัวเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดตนเองในเชิงออกแบบและพัฒนาเมือง อย่างถูกหลักวิชาการ เพื่อรองรับบทบาทของเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ในการพัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุขได้นั้นทางเทศบาลนครขอนแก่น กับ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จึงเกิดเป็นแนวคิดพัฒนาแบบโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ 5 เส้นทาง Mobility Drives City เพื่อทำให้เกิดการพัฒนา TOD และ การฟื้นฟูย่านใจกลางเมืองปัจจุบันCBD

 

 

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นของเมืองขอนแก่น จึงเป็นเหตุผลและความสำคัญของการศึกษาโครงการ “โครงการขอนแก่น Smart City(ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยการลงทุนจากภาคเอกชนเพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองอย่างนำสมัยและยั่งยืน”

 

บทสรุป
เมืองอัจฉริยะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยการกำหนดยุทธศาสตร์เมืองและการวางผังเมืองที่ถูกต้อง สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาดและเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีสวัสดิภาพที่ดี ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี


โดยคาดว่าผลที่จะได้รับจากการสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นมาคือ จะเป็นแนวทางหรือแบบการพัฒนาเมืองของชุมชน ที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงาน (demand) และการใช้พลังงานสูงสุด (peak demand) ส่งเสริมพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การ พัฒนาอย่างยั่งยืน และเมืองคาร์บอนต่ำ (low carbon city) หรือเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (neutral carbon city) รวมไปถึงจุดประกายความคิดของชุมชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ในการพัฒนาเมือง เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้พลังงานทดแทน ความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ชุมชน และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์