ทุกวันนี้ออกจากบ้านมาทำงานตอนเช้า ไม่ว่าเพื่อนๆจะเป็นคนที่ขึ้นรถเมล์, BTS, MRT (ขนส่งมวลชน) หรือขับรถมาทำงาน รู้สึกเหมือนกันใช่ไหมคะ? กรุงเทพฯนี่ “คน”เยอะจริงๆ รถประจำทางคนเต็ม วินรถตู้ ก็คนต่อแถวยาวสุดลูกหูลูกตา BTS ,MRT ไม่ต้องพูดถึง คนแน่นจนแทบจะรวมร่างกับเพื่อนร่วมทางได้เลยทีเดียว พอ”คน”เยอะขนาดนี้? เคยมีคำถามเกิดขึ้นในใจไหมคะ? กรุงเทพฯ มันแออัดไปหรือเปล่า? หรือพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตรที่กรุงเทพฯมี จะสามารถรองรับคนได้มากแค่ไหนกันเชียวนะ? แม้เราจะรู้สึกว่าคนในกรุงเทพฯ เยอะคนขนาดนี้แล้ว แต่เราก็ยังจะเห็นคนต่างจังหวัดและชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย และใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆอยู่ดี

เชื่อมั่นว่า ต้องมีเพื่อนๆหลายๆคนรู้สึกว่ากรุงเทพฯ แน่นแล้ว แน่นมากแล้ว พื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตรรองรับคนกว่า 5 ล้านคน (นับตามทะเบียนราษฎร) มันหนาแน่นไปแน่ๆ ต้องขยายสิ!!
ต้องเล่าให้ฟังแบบนี้ค่ะ อย่างแรกพวกเราประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร ต้องแยกก่อนนะคะ หนาแน่นสูง และ แออัด สองคำนี้ความหมายทางวิชาไม่เหมือนกันนะคะ มันต่างกันยังไง

เมืองที่มีความหนาแน่นสูง

ความหนาแน่นสูง หมายถึง มีการออกแบบวางผังอย่างดี ได้มาตรฐาน มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรองรับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก อย่างปลอดภัย สะดวก มีสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การรื้อร้างสร้างใหม่พื้นที่เมืองเดิมที่เคยเป็นชุมชนแออัด ให้มีถนน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมเมือง หรือถ้าเพื่อนๆคนไหนเคยอ่านกฏหมายที่เกี่ยวข้องอสังหาฯผ่านๆตา จะเห็นว่ามีกำหนดให้พื้นที่ต่างๆในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯชั้นในถูกกำหนดให้มี F A R ระหว่าง 6:1 ถึง 10:1 เพื่อให้เมืองหนาแน่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมืองที่มีความแออัด

ความแออัด หมายถึง มีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เหมาะสม จนเกิดความไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ไม่มีสุขอนามัยและไม่มีความเป็นอยู่ที่ดี เช่น สลัม อาคารเพียงชั้นเดียวหรือสองชั้น แต่ไม่มีการออกแบบทางกายภาพที่ดี และไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานเพียงพอ
ถ้าเป็นเหล่านักวิชาการจะพูดว่าอาคารเหล่านี้มี F A R ไม่ถึง 2:1 เพราะมีอาคารสูงสุดแค่สองชั้นเท่านั้น จึงไม่นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง แต่มีความแออัดจนไม่สามารถอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้นเอง..

ลองคิดภาพตามนะคะ ตอนนี้เพื่อนๆเห็นกรุงเทพฯ เป็นแบบไหนมีตึกสูงระฟ้า อยู่ทั่วทุกพื้นที่ ไม่เหลือที่ให้สามารถขึ้นตึกสูงเพื่อรับการอยู่อาศัยของคนได้อีกแล้วหรือเปล่า? ยังมีบ้านเดี่ยว 1-2 ชั้น ตึกแถว ที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นน้อยๆแทรกอยู่ไหม?
ถ้าพูดแค่ในมุมอสังหาฯ ที่พวกเราเหล่านักลงทุนรู้กัน กรุงเทพชั้นในแทบไม่เหลือที่ดินแปลงใหญ่ๆ ให้พัฒนาโครงการได้อีกแล้ว แต่ถ้าพูดในมุมของการพัฒนาทั้งกรุงเทพฯ กรุงเทพฯยังสามารถรองรับความหนาแน่นได้อีกค่ะ เรามีประเทศเพื่อนบ้าน ที่ในบ้านเมืองเค้าหนาแน่นมากกว่าเราเป็นกรณีศึกษาได้หลายประเทศเลยนะคะ ในบทความนี้ ยกมา 3 เมืองด้วยกัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และโตเกียว เปรียบเทียบจากสัดส่วนพื้นที่เนื้อเมือง กับจำนวนประชากรนะคะ

 

กรุงเทพฯ

เราทำกราฟฟิกมองให้เป็นภาพง่ายๆนะคะ กรุงเทพฯ มีประชากร (ตามทะเบียนราษฏร) ประมาณ 5 ล้านคน (กราฟฟิกคนสีน้ำเงิน 5 หน่วย) และมีพื้นที่เนื้อเมือง 1,569 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ 3 หน่วย)

สิงคโปร์

สิงคโปร์ มีจำนวนประชากรเท่าเรานะคะ แต่เค้ามีพื้นที่น้อยกว่าเราประมาณครึ่งหนึ่ง

ฮ่องกง

ในขณะที่ฮ่องกงมีประชากรมากกว่าเรา และยังมีพื้นที่น้อยกว่าเราอีกด้วย

โตเกียว

และโตเกียวเป็นเมืองที่พื้นที่มากกว่าเราประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรมากกว่าเราเกือบ 2 เท่าตัว

 

ข้อมูลประชากรอาจมีความคาดเคลื่อน อ้างอิงจาก Wikipedia.com

เราอาจเห็นโครงการอสังหาฯคอนโดมิเนียมทั้ง Low-rise, High rise เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน และขยายไปตามแนวรถไฟฟ้า ในความเป็นจริงกรุงเทพฯยังมีพื้นที่โล่งว่างและพื้นที่รกร้างตามตรอกซอยอีกมากมาย ยังมีพื้นที่ที่เป็นสลัมอีกหลายแห่งที่รอการบูรณะปรับปรุง หรือพัฒนาใหม่ อาจพูดได้เต็มปากเลยว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตตามชายขอบโครงสร้างพื้นที่ฐาน (ribbon development) ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไป เราจะเห็นการกระจายการเติบโตของเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามแนวถนน และเส้นรถไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งลุกล้ำและสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างขาดประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเห็น รัฐบาลพยายามปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับใหม่ หรือเพิ่มกฏหมายต่างๆ เช่น กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้พื้นที่รกร้างทั้งหลายถูกพัฒนาไปในทิศทางควรจะเป็น…