พฤกษาฯเผยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระดับต่ำ-การลงทุนภาครัฐส่งผลภาพรวมตลาดอสังหาฯปี61โต ผู้ประกอบการแห่ผุดมิกซ์ยูสต่อเนื่อง   การแข่งขันยังดุเดือด ตลาดยังเป็นของรายใหญ่ แนะรายเล็กปรับตัวหาช่องว่างพัฒนาสินค้าตรงความต้องการผู้บริโภค ด้านกลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-พรีเมียม ตั้งเป้าผุด 7-8 โครงการ  ทั้งเตรียมพัฒนาโมเดล “การขาย24 ชั่วโมง “เน้นขายผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งดึงโบรกเกอร์หนุนงานขาย

 

 

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือPS และนายกสมาคมอาคารชุดไทยกล่าวถึงภาพรวม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561 ว่ามีแนวโน้มเติบโตจากปัจจัยด้านทิศทางเศรษฐกิจจากปี 2560 อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำนอกจากนี้สภาพคล่องในระบบยังมีเหลือจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ โครงการมิกซ์ยูสได้จำนวนมาก รวมถึงโครงการระบบสาธารณูปโภคของรัฐบาลได้เริ่มเป็นรูปธรรม และทยอยลงทุนในหลายโครงการ ส่งผลให้ภาคเอกชนเริ่มลงทุนตามไปด้วย  ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีความผันผวนอยู่บ้าง ทั้งจากปัจจัยลบภายในและภายนอกประเทศ ตลาดอสังหาฯ โดยในปีหน้าการแข่งขันยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ตลาดยังคงเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพในด้านการลงทุน และความเชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กควรปรับตัวพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หาช่องว่างตลาด เข้าไปในตลาดที่รายใหญ่ยังไม่ได้เข้าไป

 

นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ตลาดระดับบนยังสามารถเติบโตได้ดี ผู้ประกอบการจะยังคงให้ความสำคัญต่อตลาดระดับบน เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อ แต่ในแต่ละทำเลมีลูกค้าจำนวนน้อย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องสำรวจความต้องการให้ดี

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-พรีเมียม จะพัฒนาในรูปแบบปลาใหญ่ทำตัวเป็นปลาเล็กที่มีความคล่องแคล่ว ว่องไว และเป็นปลาเก่งพัฒนาโครงการขนาดไม่ใหญ่มาก แต่สามารถปิดการขายได้เร็ว ซึ่งการพัฒนาในรูปแบบนี้เหมาะสำหรับตลาดระดับบนที่ในแต่ละทำเลมีลูกค้าจำนวนจำกัด โดยการลงทุนของกลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-พรีเมียม ในปี 2561 ตั้งเป้าพัฒนา 7-8 โครงการ แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 4-5 โครงการที่เหลือเป็นโครงการแนวราบ

 

“การที่สภาพคล่องในระบบเหลือเยอะ นอกจากจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน ทำให้มีการพัฒนาโครงการเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีข้อเสียคือ การที่ผู้ประกอบการต่างพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่งผลจนถึงไตรมาส3/2560 มีมูลค่าโครงการรวมสูงถึง 600,000-700,000 ล้านบาท  ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดรวมที่อยู่อาศัยทั้งระบบ โครงการมิกซ์ยูสส่วนใหญ่เน้นโครงการระดับบนที่มีลูกค้าจำนวนจำกัด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่โครงการจะไม่ประสบความสำเร็จได้”นายประเสริฐ กล่าว

 

 

ด้านนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2561 ยังคงให้น้ำหนักไปกับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งในปีหน้าจะเปิดตัวประมาณ 70% ของโครงการทั้งหมดที่จะเปิดตัว โดยทางบริษัทจะมีการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ออกมารองรับความต้องการของตลาดที่ขยับโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบใกล้เมืองมากขึ้น ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯจะเป็นสินค้าโครงการคอนโดมิเนียม

 

อย่างไรก็ตามในเรื่องกลยุทธ์การขายนั้น ทางพฤกษา กำลังพัฒนาโมเดล “การขาย 24 ชั่วโมง ” คือ จะเพิ่มน้ำหนักกว่า 50% ไปกับการขายผ่านออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมา พฤกษาฯ ประสบความสำเร็จกับการพัฒนากลยุทธ์ในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน จะมีการดึงตัวแทนขาย(โบรกเกอร์)ในแต่ละตลาด เข้ามาสนับสนุนการขายโดยจะมีการจัดสรรสินค้าที่อยู่อาศัยของพฤกษาฯให้เหมาะสมกับโบรกเกอร์ที่จะเข้าดูแลการขายให้บางส่วน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิก(ลูกบ้าน)ของพฤกษาฯ ที่มีการนำแนะลูกค้าเข้าซื้อโครงการโดยจะได้แต้มเพื่อสะสมในการแลกสิทธิพิเศษ เช่น เงินสด การท่องเที่ยวไปต่างประเทศ การซื้อสินค้าต่างๆ เป็นต้น

 

” โมเดลนี้จะช่วยให้เราสามารถขายโครงการที่อยู่อาศัยได้ 24 ชั่วโมง ถามว่าโอกาสจะเพิ่มยอดขายหรือไม่ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการและสินค้าของพฤกษาฯ  ขณะเดียวกัน เราพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องช่องทางการขายมากขึ้น มีผลต่อต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่สามารถควบคุมได้”นายปิยะ กล่าว

 

ในส่วนของการบริหารลูกค้ากับการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้น โดยภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ โดยเฉลี่ยของพฤกษาฯ ยอดการถูกปฎิเสธสินเชื่อ 10% แต่หากแยกลงประเภทของโครงการแนวราบ จะพบว่า โครงการบ้านเดี่ยวมีอัตราการถูกปฎิเสธสินเชื่อประมาณ 30% ซึ่งวิธีการของบริษัท คือ การร่วมมือกับสถาบันการเงินในการเข้ามาตรวจสอบฐานะลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กระบวนการขอสินเชื่อเป็นไปอย่างราบรื่น