ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับปี 2560 ที่ผ่านพ้นไป ถือเป็นปีที่ดีสำหรับภาคธุรกิจการโรงแรม ที่พัก และศูนย์การค้า อันเนื่องมาจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว ในส่วนของภาคธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงานมีการขยายตัวต่อเนื่อง  แต่สำหรับในภาคที่อยู่อาศัยถือว่าตลาดโดยภาพรวมทรงตัวหรือมีความเติบโตเพิ่มขึ้นน้อย สังเกตได้จากปริมาณสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 570.000 – 580,000 ล้านบาท ต่อเนื่องมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาว่าสินเชื่อปล่อยใหม่ดังกล่าวนับรวมสินเชื่อบ้านมือสองและนับรวมสินเชื่อที่เป็นการ Refinance ด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพตลาดที่เติบโตในระดับต่ำ แม้ในบางแง่มุม ผู้รู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์บางท่านอาจมองตลาดที่อยู่อาศัยแตกต่างไปโดยผ่านตัวเลขบางตัวเฉพาะในส่วนที่ตนเองสนใจ อย่างไรก็ตาม ปี 2560 ถือเป็นปีที่ยังมีสีสัน ผ่านเหตุการณ์และพัฒนาการต่างๆมากมายทั้งโดยภาคเอกชนและภาครัฐ  ซึ่งนายสัมมา คีตสิน นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้สรุปเหตุการณ์ต่างๆตลอดปี 2560 ไว้ดังนี้

 

 

กลุ่มทุนขนาดยักษ์และกาารพัฒนาโครงการ Mixed Use

มีความเคลื่อนไหวคึกคักมากในการพัฒนาโครงการ Mixed Use บนที่ดินแปลงใหญ่ราคาแพง โดยเฉพาะบริเวณถนนพระราม 4  เริ่มจากเมื่อเดือนมีนาคม 2560  บริษัท ดุลิตธานี จำกัด(มหาชน) ประกาศลงนามต่อสัญญาเช่าระยะยาวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยร่วมทุนกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน)หรือ CPN ในสัดส่วน 65:35 เพื่อพัฒนาโครงการโรงแรม ค้าปลีก คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน มูลค่าโครงการประมาณ 37,000 ล้านบาท

 

ต่อมาต้นเดือนเมษายน กลุ่ม TCC Capital แถลงข่าวรายละเอียอย่างเป็นทางการในการพัฒนาที่ดินย่านถนนพระราม 4 รวมที่ดินบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารหรือสวนลุมไนท์บาซาร์เดิม ซึ่งชนะประมูลมาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เมื่อปี 2557 โดยพัฒนาเป็นโครงการ Mixed Use ขนาดใหญ่มาก ชื่อโครงการ “One Bangkok”บนเนื้อที่ประมาณ 104 ไร่ ด้วยงบประมาณสูงถึง 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า นายเจริญ ศิริวัฒนภักดี ซึ่งปกติไม่คอยแสดงตน แต่ครั้งนี้เป็นผู้นำทีมแถลงข่าวด้วยตนเอง

 

 

เดือนกันยายน บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) ชนะการประมูลที่ดินบริเวณสถานทูตออสเตรเลีย ถนนสาทร เนื้อที่เกือบ 8 ไร่ มูลค่า 4,600 ล้านบาท หรือตารางวาละประมาณ 1.45 ล้านบาท โดยศุภาลัยให้ข่าวว่าจะพัฒนาโครงการแบบ Mised Use มีทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และอื่นๆ รวมมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคม ริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  แถลงข่าวเปิดโครงการ Mixed Use ชื่อ Forestias บริเวณถนนบางนา-ตราด กม. 7 ฝั่งขาเข้า บนเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ  90,000 ล้านบาท สร้างความคึกคักให้อสังหาริมทรัพย์บริเวณใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันมีโครงการ Mega Bangna เนื้อที่ 254 ไร่อยู่แล้ว และกำลังจะมี Mega City Bangna บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่ มูลค่าลงทุนประมาณ 67,000 ล้านบาท มาเติมเป็นเฟสต่อไป เมื่อรวมกับโครงการ Bangkok Mall ต้นถนนบางนา-ตราด ศูนย์ประชุม BITEC และพื้นที่คาปลีกอื่นๆ จึงทำให้แนวเส้นทางบางนา-ตราด จะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง

 

 

สำหรับในพื้นที่ใจกลางเมืองที่น่าสนใจ มีข่าวเมื่อเดือนมีนาคมจากสถานทูตอังกฤษว่ากำลังเตรียมขายที่ดินสถานทูตส่วนที่เหลือ ประมาณ 23 ไร่ หลังจากที่เคยเฉือนที่ดินด้านหน้าติดถนนเพลินจิด-วิทยุ เนื้อที่ 9 ไร่ ให้กลุ่มเซ็นทรัล ไปแล้วเมื่อปี 2549 และต่อมามีการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลแอมบาสซี่ ราคาขายที่ดินแปลงดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ประมาณตารางวาละ 2 ล้านบาท หรือประมาณ 18,400 ล้านบาท และจะดันให้ราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

 

การซื้อขายสินทรัพย์ระหว่างบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัย

มีข่าวการซื้อขายสินทรัพย์ด้านโครงการที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ 2 รายการ คือ เมื่อเดือนเมษายน บริษัท  ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ พราวด์ เรสซิเด้นซ์ มูลค่า 4,000 ล้านบาท เพื่อขยายสู่ตลาดคอนโดมิเนียมระดับบน

 

เดือนพฤศจิกายน บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ตัดขายห้องชุด 53 ห้องในโครงการมหานคร และขายโครงการนิมิตหลังสวน ให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ Due Diligence

 

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ

เดือนกรกฎาคม บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) แถลงข่าวว่ากำลังเจรจากับทุนจีน เพื่อร่วมพัฒนาโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด ซึ่งบริษัทฯ ชนะการประมูลพื้นที่ราชพัสดุประมาณ 900 ไร่มาจากกรมธนารักษ์เมื่อปี 2559 ถือเป็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมชัดเจนครั้งแรกในบรรดาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆทั่วประเทศ และจะเป็นสะพานสู่การพัฒนาไปถึงจังหวัดใกล้เคียงของราชอาณาจักรกัมพูชา เช่น เกาะกง สีหนุวิลล์ ในเชิงเปรียบเทียบ EEC มาทีหลังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่กลับมีความคืบหน้ามากกว่า เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดรวม 3 จังหวัด (ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมพื้นที่เพียงบางตำบลในบางอำเภอของจังหวัดที่กำหนด) อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ฐานประชากรแข็งแรงกว่า และมีความเจริญเดิมรองรับมากอยู่แล้ว

 

โครงการที่อยู่อาศัยภาครัฐ

ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนไม่สามารถผลิตที่อยู่อาศัยราคาต่ำมากได้ ภาครัฐจึงพยายามเข้ามาอุดช่องว่าง ผ่านทั้งโครงการของกรมธนารักษ์ การเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น  โดยเมื่อเดือนมิถุนายน กรมธนารักษ์ให้ข่าวยกเลิกโครงการบ้านประชารัฐ พหลโยธิน ซอย 11 และโครงการบ้านประชารัฐที่เชียงใหม่ หลังจากที่เปิดตัวมานานแต่ถูกชุมชนบริเวณใกล้เคียงต่อต้าน และยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม กรมธนารักษ์ก็ประกาศเตรียมเสนอโครงการ “บ้านคนไทย” สำหรับผู้มีรายได้น้อย เน้นผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน แทนโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐเดิม กำหนดราคาต่อหน่วยประมาณ 350,000 – 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท นำร่องประมาณ 2,600 หน่วย ในพื้นที่ 8 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และชลบุรี โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในช่วงต้นปี 2561

 

ในอีกด้านหนึ่ง กรมธนารักษ์ แถลงว่าสามารถประเมินที่ดินรายแปลงทั่วประเทศประมาณ 32 ล้านแปลงได้เสร็จเร็วกว่ากำหนด และสามารถประกาศใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นรายแปลงได้ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จากเดิมที่ได้ประกาศใช้เพียง 24 จังหวัด อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ดังกล่าวยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินของรอบปี 2559-2562 ที่กรมธนารักษ์ประกาศใช้ไปแล้ว จนกว่าจะถึงรอบ 4 ปีต่อไป

 

ทางด้านการเคหะแห่งชาติก็เดินหน้าโครงการบ้านเคหะประชารัฐต่อเนื่อง โดยเปิดจองรอบที่สองไปเมื่อช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติคัดโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะ 148 โครงการ รวมประมาณ 20,800 หน่วย (ส่วนใหญ่เป็นห้องชุดคอนโดมิเนียม) มีทั้งที่สร้างเสร็จแล้ว 90 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 38 โครงการ และที่เปิดขายใหม่อีก 20 โครงการ

 

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่มีผลต่อภาคอสังหาฯ

ในปี 2560 มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นหลายประการ เช่น ในเดือนเมษายน มีการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านตะวันออกเพิ่มขึ้น 1สถานี ในช่วงแบริ่ง-สำโรง ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยในแนวเส้นทางสายสีเขียวส่วนต่อขยายดังกล่าวมีความคึกคักเพิ่มขึ้น ต่อมาในเดือนสิงหาคม มีการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางซื่อ ซึ่งเดิมเป็นส่วนที่ขาดหาย (Missing Link) และกระทบต่อการขายโครงการที่อยู่อาศัยในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและมีภาวะ Oversupply อยู่แล้ว การเปิดการเดินรถในช่วงที่ขาดหายทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากแต่ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม

 

สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าในความคาดหวัง 3 เส้นทาง คือ สายสีชมพู สีเหลือง สีส้ม นั้นมีความคืบหน้าถึงขั้นมีการปิดเลนถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ และถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคและทำเข็มทดสอบสำหรับเส้นทางสายสีชมพูแล้ว เช่นเดียวกับสายสีเหลืองและสีส้มที่จะตามมาติดๆ โดยจะมีการเวนคืนพื้นที่ในบางบริเวณตามพระราชกฤษฎีกา

 

ในส่วนของเส้นทางที่เป็น Feeder เพื่อเติมเต็ม มีความเคลื่อนไหวในส่วนรถไฟฟ้าสายสีทองเพื่อเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสาย 3 สายหลัก คือสายสีม่วง เขียว สีแดง ในอนาคต เข้าสู่โครงการไอคอนสยามบนถนนเจริญนคร รถไฟฟ้าสายสีทองมีระยะทางเพียงประมาณ 2-3 กิโลเมตร กำหนดสร้างและแล้วเสร็จในปี 2561 เช่นเดียวกับไอคอนสยาม ส่วนโซนแจ้งวัฒนะก็มีความพยายามของกลุ่มบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ ในการเจรจากับรัฐบาลเพื่อทำ Feeder เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทางประมาณ 2,8 กิโลเมตร เข้าสู่บริเวณอิมแพ็ค-ชาเลนเจอร์ และทะเลสาบ ในเมืองทองธานี

 

นอกจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้ว ยังมีความคืบหน้าในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมาหรือมอเตอร์เวย์ สาย 6 โดยนายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดโครงการเมื่อเดือนสิงหาคม และการเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดโครงการเมื่อเดือนธันวาคมก่อนสิ้นปี 2560 ไม่กี่วัน ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาถึงนครราชสีมามีแนวโน้มที่ดีในอนาคต โดยมอเตอร์เวย์มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2563 และรถไฟความเร็วสูงช่วงดังกล่าวมีกำหนดสร้างเสร็จประมาณปี 2565

ถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า (ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า) อยู่ในระหว่างเร่งการก่อสร้างในปี 2560 และจะสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในปี 2561 จะทำให้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในแนวเส้นทางดังกล่าวได้รับความสนใจยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาที่ดินได้ขยับเพิ่มขึ้นมากถึงประมาณเท่าตัวหลังจากมีการตัดถนนใหม่ และมีผู้ประกอบการรายใหญ่จับจองพื้นที่ดินไว้เกือบหมดแล้ว ทำให้ที่อยู่อาศัยในถนนสายดังกล่าวบริเวณค่อนมาทางถนนศรีนครินทร์จะกลายเป็นย่านบ้านจัดสรรราคาแพง ส่วนในบริเวณค่อนไปทางวงแหวนรอบนอกหรือเลยจากนั้นมีราคาถูกกว่าเพราะอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิทำให้ใช้ประโยชน์สร้างอาคารสูงได้น้อย

 

โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

รัฐบาลพยายามกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) แทบจะเป็นรายสัปดาห์ผ่านสื่อต่างๆ ส่งผลให้เกิดความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจะได้ประโยชน์โดยตรงก่อนภาคส่วนอื่นๆ คือนิคมอุตสาหกรรม ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังรอความชัดเจนของพิกัดบริเวณที่ภาครัฐจะส่งเสริมให้เป็นเมืองใหม่ (New Cities) ทั้งในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตาม โครงการที่อยู่อาศัยแนวถนนบางนา-ตราด และแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นทางผ่านหรือทางเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯสู่ภาคตะวันออกน่าจะได้อานิสงส์ก่อน

 

กฎหมายที่มีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์

กฎหมายสำคัญที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจมากที่สุด นอกเหนือไปจากร่างผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร คือ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะยกเว้นภาษีบ้านหลังหลักที่อยู่อาศัยหากราคาบ้านไม่เกิน 20 ล้านบาท จากเดิมเคยกำหนดไว้ที่ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท และลดเพดานการจัดเก็บภาษีลงในอัตราผ่อนปรนใน 2 ปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ในอัตราลดประมาณร้อยละ 40 จากที่เคยกำหนดไว้เดิม ทั้งในหมวด ทั้งในหมวดที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และที่ดินว่างเปล่า โดยในอัตราใหม่ ส่วนของที่อยู่อาศัยหลังหลัก ราคา 20-50 ล้านบาทจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.02 ราคา 50-75 ล้านบาทจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.03 ราคา 75-100 ล้านบาทจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05 และราคามากกว่า 100 ล้านบาทจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 ดังนั้น แนวโน้มการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 น่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อเจ้าของที่อยู่อาศัย

 

เมื่อช่วงกลางปี 2560 ผู้บริหารกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ามีแนวคิดในการจัดเก็บ Windfall Tax หรือภาษีลาภลอย โดยอาจจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของส่วนต่างของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการที่รัฐจัดให้มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อมีการเปิดเผยแนวคิดนี้ออกมา ปรากฏว่ามีแรงต้านมากจากหลายภาคส่วนและกระทรวงการคลังคงต้องนำกลับไปทบทวนรายละเอียดให้ชัดเจนหากจะยังนำเสนอต่อไปในอนาคต

 

 

สำหรับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นั้น กรุงเทพมหานครได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลายรอบ โดยมีแนวคิดใหม่บางประการเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคต โดยมีเป้าหมายบังคับใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ในช่วงกลางปี 2562 ในขณะที่ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มผ่อนปรนมากขึ้น แต่กลับมีความเข้มงวดมากขึ้นในส่วนของร่างผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรี (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ซึ่งมีกำหนดประกาศใช้ในช่วงกลางปี 2561 โดยมีการนำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพมหานครปัจจุบันไปใช้ จากเดิมที่เคยผ่อนปรนมากกว่าผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีกำหนดให้จังหวัดนนทบุรีเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี รองรับการขยายตัวด้านที่อยู่อาศัยจากกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเข้มงวดทั้งด้านผังสีและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ขนาดความกว้างของถนน อัตราส่วนที่จอดรถ และอื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจัดหาแปลงที่ดินใหม่เพื่อการพัฒนา และเร่งพัฒนาโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วโดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม

 

กลุ่มทุนต่างประเทศในภาคอสังหาริมทรัพย์

กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์จากญี่ปุ่น ยังคงให้ความสนใจตลาดที่อยู่อาศัยของไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ บริษัท อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งร่วมทุนกับ Mitsui Fudosan และ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) ซึ่งร่วมทุนกับ Mitsubishi Estate เป็นรายใหญ่ 2 แรกที่เปิดแนวทางความร่วมมือมาก่อนเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ก็มีรายอื่นๆตามมาอีกหลายราย ที่น่าสนใจ คือ บริษัท เสนาดีเวลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับ Hankyu Realty โดยลงนามในบันทึกความร่วมมือเมื่อเดือนธันวาคม 2559 และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)ก็ลงนามในเอกสารความร่วมมือกับ Tokyu Corpoaration อีกรายหนึ่ง

 

กลุ่มทุนจีน ไม่น้อยหน้ากลุ่มทุนญี่ปุ่น โดยนอกเหนือจากการเข้ามาร่วมทุนก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือแล้ว ยังเข้าบุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามประชากรและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยทุกทิศทาง  การเข้ามาของคนจีนทำให้สมการอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีตัวแปรใหม่ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจะกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์ด้านที่อยู่อาศัยและโรงแรมที่พัก เช่น ในช่วงหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว กลุ่มทุนจีนประกาศสร้างคอนโดมิเนียมโครงการใหญ่ขนาด 2,700 หน่วยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเพราะในปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ดังกล่าวกำลังประสบสถานการณ์ Oversupply โดยมีการผลิตหน่วยขายออกมามากกว่า 3,000 หน่วย เกินกว่าความต้องการซื้อที่มาไม่ถึง เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนด้านนี้ยังไม่คืบหน้า อนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน กลุ่มทุนจีนได้ประกาศสร้างโครงการ Mixed Use ขนาดใหญ่ บนถนนบางนา-ตราด ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะซ้ำรอยโครงการขนาดยักษ์อื่นของกลุ่มทุนจีนซึ่งเคยประกาศสร้างบนถนนบางนา-ตราด เช่นกันเมื่อ 3-4 ปีก่อน แต่ภายหลังข่าวคราวได้เงียบหายไป

 

สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีบทบาทสำคัญ

นอกจากแนวโน้มการพัฒนา Mixed Use Developments โดยผู้ประอบการรายใหญ่ทุนหนาแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวของธุรกิจพื้นที่ทำงานร่วมให้เช่า (Coworking Space) ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ประกอบอาชีพเป็น Freelance หรือ Start-Up โดยมีผู้ประกอบการทั้งไทยและเครือธุรกิจ Coworking Space จากต่างประเทศเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District หรือ CBD) เช่น เอกมัย ทองหล่อ อโศก รัชดาภิเษก และในจังหวัดหลักของภูมิภาค เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่

 

ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัย ธนาคารภาครัฐที่มีบทบาทปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยปริมาณสูงกำลังผลักดันเรื่อง Reversed Mortgage ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังและรักษาสิทธิผู้บริโภคสูงวัยด้วย โดยต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นรากฐานก่อน เนื่องจากมีตัวอย่างในต่างประเทศที่ผู้สูงวัยได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องและประสบปัญหาในภายหลัง โดยในปี 2560 ต่อเนื่องปี 2561 และไปในอนาคต บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ กำลังพัฒนาสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว โดยเบื้องต้นนำเสนอในระยะยาว 10 ปี เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการเผชิญกับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

 

ตลาดที่อยู่อาศัยในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตดีกว่าในปี 2560 จากความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ การท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ และบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในต่างประเทศและสถานการณ์การเมืองในประเทศยังคงมีจุดที่สามารถพลิกผันได้และเป็นได้ทั้งปัจจัยบวกหรือปัจจัยลบตามสถานการณ์เฉพาะหน้า