บอร์ด คจร.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็น รถไฟฟ้าสาย 11 เข้าสู่แผน M-MAP1ระยะทาง 22 กม. พร้อมให้ รฟม.ดำเนินการต่อตามแผน ขณะเดียวกันก็เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่ 4,000 ไร่ที่อยู่รอบสถานีกลางบางซื่อหลังจากที่ JICA ศึกษาและเสนอให้ทำทางเดินลอยฟ้าจาก BTS หมอชิตไปยังสถานีกลางบางซื่อระยะทาง 2 กิโลเมตร

 

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาทิศทางอสังหาริมทรัพย์ปี 61 “Mega Move : พลิกโฉมมหานครกรุงเทพฯ” จัดโดย บริษัทฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในวันที่ 21 ก.พ.2561ได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นรถไฟฟ้าสาย 11 เข้าสู่แผน M-MAP1ทำให้โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯมีระยะทาง 480 กิโลเมตร ติดอันดับเป็นมหานคร TOP 5 ของโลก หลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะเป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียดต่อไป (อนึ่ง : โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเดิมอยู่นอกแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะ 20 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2553-2572(M-MAP 1))

 

จุดเด่นของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีจุดเชื่อมรถไฟฟ้ามากถึง 7 สายจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก ดังนี้ จากจุดเริ่มต้นที่แคราย เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู ไปตามแนวเส้นทางงามวงศ์วาน เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบริเวณสถานีบางเขนผ่านแยกเกษตร เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม(หมอชิต-คูคต) บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว -สำโรง) เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา (ช่วงวัชรพล-พระราม 9) และสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร จำนวนสถานีเบื้องต้น 18 สถานี (อ่านรายละเอียดเพิ่มที่ https://prop2morrow.com/2018/02/19 )

 

เตรียมพัฒนาพื้นที่ 4,000 ไร่รอบสถานีกลางบางซื่อ

นอกจากนี้ รมช.คมนาคม ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้จะผลักดันอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าให้ครบ 10 เส้นทางตามแผนแม่บท รวมระยะทาง 464 กม. เพื่อรองรับการเติบโตของกรุงเทพมหานคร (ไม่รวมสายสีน้ำตาล) ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็กำลังพิจารณาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นจะเป็น “ศูนย์กลางระบบระบบราง”ทั้งหมด แทนที่หัวลำโพงที่อาจจะนำมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต และมีพื้นที่ใหญ่กว่าสุวรรณภูมิ จุดเด่นก็คือ มีพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื้อที่มีมากถึง 4,000 ไร่ที่ยังไม่มีการพัฒนาเลย และได้ให้ทาง JICA ได้ศึกษารูปแบบการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่ง JICA เสนอให้ทำทางเดินลอยฟ้าจาก BTS หมอชิตไปยังสถานีกลางบางซื่อระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยสถานีกลางบางซื่อนี้จะเปิดให้บริการในปี 2563 พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง

 

การเป็นศูนย์กลางระบบราง ของสถานีกลางบางซื่อนั้น นอกจากโครงการรถไฟฟ้า รถไฟ แล้วยังรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน), รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ (รถไฟไทย-ญี่ปุ่น), รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีกด้วย โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดประมูลในเดือน มี.ค.นี้ในรูปแบบ PPP เพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องเร่งรัดอนุมัติโครงการก่อสร้างโครงการพื้นฐานอื่นด้วย เช่น โครงการรถไฟทางคู่  และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เป็นต้น