ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปี 2560 และประเมินแนวโน้มปี 2561 โดยในภาพรวมช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ตลาดที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2559 หลังจากที่ไตรมาส 1 ปี2560 มีอัตราขยายตัวติดลบเนื่องจากในช่วงต้นปี 2559 มีการเร่งการก่อสร้าง และการโอนกรรมสิทธิ์ตามแรงกระตุ้นของมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์

 

โดยในปี 2560 มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ จำนวน 315,102 หน่วย  มีมูลค่ารวม674,116 ล้านบาท มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนทั่วประเทศ 184,771 หน่วย และมียอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ รวม 633,989 ล้านบาท

 

 

 

 

คาดการณ์ตลาดปี61ขยายตัว8.2%

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 2560 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งด้านอุปทาน และอุปสงค์ ทำให้อัตราการดูดซับดีขึ้น ซึ่งตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังคงมีแนวโน้มที่ดีกว่าตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาค คาดการณ์ว่าสถานการณ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีการขยายตัวร้อยละ 10.7 ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ขยายตัวร้อยละ 4.2

 

โครงการเปิดตัวใหม่ปี60ลด18.6%

เมื่อพิจารณาประเภทโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ พบว่า ในปี 2560 มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล รวม 385โครงการ จำนวน 113,926 หน่วย มูลค่ารวม 491,878 ล้านบาท จำนวนโครงการลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 18.6 จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9ในขณะที่มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9

 

 

 

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามประเภทบ้านและระดับราคา พบว่า โครงการบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ในปี 2560 เป็นประเภททาวน์เฮาส์มากที่สุด ร้อยละ 67 ของจำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ขณะที่โครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่เป็นประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุดร้อยละ 74.8 ของหน่วยที่เปิดตัวใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท

 

โดยทำเลที่มีหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ประเภทบ้านจัดสรร ได้แก่ 1.สมุทรปราการ 2.ลำลูกกา – คลองหลวง – ธัญบุรี –หนองเสือ 3.บางกรวย – บางใหญ่ – บางบัวทอง – ไทรน้อย 4.มีนบุรี –หนอกจอก – คลองสามวา – ลาดกระบัง และ 5.เมืองนนทบุรี – ปากเกร็ด

สำหรับทำเลที่มีหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ประเภทอาคารชุด ได้แก่ 1.ธนบุรี 2.ห้วยขวาง – จตุจักร – ดินแดง 3.สุขุมวิทตอนต้น4.นนทบุรี และ 5. พญาไท – ราชเทวี

 

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทโครงการในปี 2560 พบว่า โครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่มีจำนวน 232 โครงการ 44,353 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 195,188 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2559 ทั้งจำนวนโครงการจำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการ ร้อยละ 30.1, 10.8 และ 3.1 ตามลำดับแต่ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ในปี 2560เพิ่มขึ้นจาก 4.05 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 4.40 ล้านบาท

 

ส่วนโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่มีจำนวน 153 โครงการ 69,574 หน่วยมูลค่าโครงการรวม 296,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ทั้งจำนวนโครงการ จำนวนหน่วย และมูลค่าโครงการ ร้อยละ 8.5, 24.4 และ 49.3ตามลำดับ รวมทั้งราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 3.55 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 4.26 ล้านบาท

 

 



ดีมานด์บ้านจัดสรรรตจว.ยังมีสูง

สำหรับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาคจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด พบว่า มีการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยประเภทโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 1,775 โครงการรวม 207,655 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 688,281 ล้านบาท เป็นประเภทโครงการอาคารชุดจำนวน 506 โครงการ รวม 148,525 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 459,919ล้านบาท เมื่อแยกตามระดับราคา กลุ่มราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ยังเป็นประเภทสินค้าที่มีเสนอขายสูงสุด โดยมีการเปิดขายโครงการใหม่ในปี2560 จำนวน 306 โครงการ รวม 27,411 หน่วย

 

คาดปี61ยักษ์อสังหาฯทุ่มงบลงทุนไม่ต่ำ6.1แสนล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ปี 2561 โดยภาพรวมคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร้อยละ 7.9 มีอัตราการขยายตัวด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ร้อยละ  10.8 และมีอัตราการขยายตัวด้านยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ  2.8 และมีอัตราการขยายตัวที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนร้อยละ 10.9

 

เมื่อพิจารณาแยกเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการขยายตัวในด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร้อยละ 8.9 มีอัตราการขยายตัวด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ร้อยละ  13.9 และมีอัตราการขยายตัวด้านยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 2.8 และมีอัตราการขยายตัวที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนร้อยละ 15.3

 

ขณะที่ในภูมิภาค คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการขยายตัวในด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร้อยละ 6.8 มีอัตราการขยายตัวด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ร้อยละ  5.5 และมีอัตราการขยายตัวด้านยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ  2.8 และมีอัตราการขยายตัวที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนร้อยละ 4.3

 

“ภาพโดยรวมตลาดที่อยู่อาศัยจะยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยองค์ประกอบสำคัญของตลาดที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลซึ่งเป็นการเติบโตของอาคารชุดเป็นหลัก ขณะที่ในภูมิภาคเป็นการเติบโตในตลาดทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยวเป็นหลัก คาดการณ์ว่า ปี 2561 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะมีหน่วยโครงการเปิดขายใหม่ประมาณ 117,100หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 2.8 โดยมีช่วงคาการณ์อยู่ที่ประมาณ 107,800-128,800 หน่วย สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาคคาดการณ์ว่า จะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมประมาณ 111,300 หน่วย แบ่งเป็น โครงการบ้านจัดสรร 79,900 หน่วย และโครงการอาคารชุด 31,400หน่วย”นายวิชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ ในปี 2561 จะมีมูลค่าการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 29 บริษัทมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 611,800 ล้านบาท