สนข.เผยความคืบหน้าการพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ รวมทั้งสิ้น 128 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 690,000 ล้านบาท

 

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engines of Growth) ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ซึ่งจะเห็นได้ว่าทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปแบบ Cluster” คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจแยกตามภาคการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่เมือง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ 2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งทำให้การพัฒนาสร้างมูลค่าสูงสุดแก่พื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์รองรับเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด สนับสนุนการค้าชายแดนที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สนับสนุนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบและเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาโครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ จัดทำแผนพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ โดยระบุกิจกรรมรองรับการพัฒนาทั้งส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) โครงข่ายหลัก โครงข่ายรอง สิ่งอำนวยความสะดวกการขนถ่ายสินค้า รวมถึงกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ (Soft Side) โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมาะสม สามารถติดตามเพื่อประเมินผลไปสู่การลดต้นทุนค่าขนส่ง (Transportation Cost ต่อ GDP) และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

สำหรับการศึกษาโครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศนั้น สนข. ได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ Super Cluster มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เฉพาะสำหรับการขนส่งสินค้าและกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ แยกส่วนจากกิจกรรมของผู้สัญจรทั่วไป มุ่งเน้นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ มีระบบรางเพื่อเชื่อมโยง Logistics Node ต่างๆ ให้สามารถเชื่อมโยงแต่ละพื้นที่ หรือมีระบบสายทางแขนง Spur Line เข้าสู่พื้นที่อุตสาหกรรมได้
  2. ด้านอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนให้เกิด Cluster ของกลุ่มอุตสาหกรรม มีการบริหารจัดการโครงข่ายโลจิสติกส์ให้สามารถรองรับการบริหารจัดการแบบทันเวลา
  3. ด้านการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก เช่น ระบบ LRT, รถ City Bus, ระบบ Hop On Hop Off เพื่อเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ แบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation)
  4. ด้านการพัฒนาเมือง โดยการใช้เทคโนโลยี Intelligent Transport System เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมือง รวมทั้งระบบสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility)

 

ทั้งนี้ มีแผนงาน/โครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรม Super Cluster ตั้งแต่ปี 2557 – 2564 รวมทั้งสิ้น 128 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 690,000 ล้านบาท

 

ผอ.สนข. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้นำผลการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ ไปใช้ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561