ศุภาลัยเตรียมอัดเม็ดเงิน 300 ล้านบาท ผุดบ้านผู้สูงอายุ และศูนย์สุขภาพ  ภายใต้แบรนด์ “Supalai Elderly Home & Wellness Center” พร้อมเปิดให้บริการปี62 ทั้งทุ่ม 20 ล้านบาท รีโนเวท “ศุภาลัย ป่าสัก รีสอร์ท แอนด์ สปา” ประกาศแผนหลังเดือนมิ.ย.จ่อเปิดคอนโดฯ 5 โครงการ รวมมูลค่า 20,000 ล้านบาท นำร่อง“ศุภาลัยเวอเรนด้า สุขุมวิท 117” และ“ศุภาลัย ลอฟท์ ประชาธิปก – วงเวียนใหญ่” มั่นใจทำเลศักยภาพ-ราคาถูกกว่าคู่แข่ง ผลตอบรับดี

 

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัยจำกัด(มหาชน)หรือSPALI เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนที่จะพัฒนาโครงการบ้านผู้สูงอายุ และศูนย์สุขภาพ เพื่ต้องการคืนประโยชน์ให้สังคม โดยไม่หวังผลกำไรมากนัก ด้วยการซื้อดินติดกับโรงแรม “ศุภาลัย ป่าสัก รีสอร์ทแอนด์ สปา” จ. สระบุรี เพิ่มอีก 16-17 ไร่ โดยสร้างเป็นบ้านแถว ภายใต้ชื่อ “Supalai Elderly Home & Wellness Center” ขนาด 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย  50-60 ตารางเมตร ราคาประมาณ 1 ล้านบาท จำนวน 100 กว่ายูนิต คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท สามารถอยู่อาศัยได้ตลอดชีพ หรือเช่าระยะยาว 30 ปี แต่ไม่สามารถโอนเป็นมรดกตกทอดให้ทายาทได้ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ทั้งหมด  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปลายปี 2561 และแล้วเสร็จในปี 2562

 

นอกจากนี้ยังทุ่มงบอีกประมาณ 20 ล้านบาท ในการรีโนเวทและเพิ่มส่วนต่างๆในโรงแรม “ศุภาลัย ป่าสัก รีสอร์ท แอนด์ สปา”ซึ่งเปิดให้บริการมานานประมาณ 20 ปีแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยปรับปรุงไปบ้างแล้ว ปัจจุบันราคาห้องพักอยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าบาท/คืน และเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จก็อาจจะมีการปรับราคาเข้าพักขึ้นอีกเล็กน้อย ทั้งนี้ต้องดูสภาวะตลาดด้วย

 

 

ด้านนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) หรือSPALI กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปบริษัทฯ เตรียมเดินหน้าเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ตามแผนที่วางไว้   5 โครงการ รวมมูลค่า 20,000 ล้านบาท   โดยเริ่มจากการเปิดตัว 2โครงการแรกก่อน รวมมูลค่า 3,970 ล้านบาท ได้แก่โครงการ “ศุภาลัยเวอเรนด้า สุขุมวิท 117” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4 ไร่ครึ่ง สูง 34 ชั้น (รวมดาดฟ้า) 1อาคาร ขนาด 27 – 65 ตารางเมตร ในราคาเริ่มต้นที่ 1.69 ล้านบาท หรือเริ่มต้นที่ 58,100 บาท/ตารางเมตร หรือราคาเฉลี่ยที่ 64,400 บาท/ตารางเมตร ผ่อนเริ่มต้นที่ 4,900 บาท/เดือน จำนวน 1,105 ยูนิต  โดยเป็นห้องชุดพักอาศัย 1,099 ยูนิต  ร้านค้า 6 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,570 ล้านบาท กำหนดเปิดจองในวันที่  22 – 24 มิถุนายน 2561    นี้  ซึ่งจะเป็นการนำห้องชุดสัดส่วนประมาณ 50% มาเปิดการขายก่อน คาดว่าภายในระยะเวลา 3วันจะสามารถทำยอดขายได้ 1,000 กว่าล้านบาท ส่วนจำนวนยูนิตที่เหลือประมาณ 25% จะเก็บไว้เปิดตัวหลังจากรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และอีก 25% เก็บไว้ให้เอเยนต์ชาวต่างชาติ เพื่อปล่อยขายให้กับชาวต่างชาติ ด้านการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 

 

 

“ทำเลที่ตั้งโครงการมีการคมนาคมที่สะดวกสบาย ใกล้สถานีปู่เจ้าสมิงพราย ใกล้แหล่งงานใหญ่  และแทบไม่มีซัพพลายใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในซอยมากกว่า  และที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ทำเลใกล้แบริ่มากกว่า  แต่ทำเลปู่เจ้าสมิงพราย เริ่มเปิดขายเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และถูกดูดซับไปค่อนมากแล้ว”นายไตรเตชะ กล่าว

 

ทั้งนี้จากการสำรวจราคาขายต่อตารางเมตรแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวในรัศมีภายใน 500เมตร พบว่าตั้งแต่ชิดลม-พร้อมพงษ์  ราคาเฉลี่ยมากกว่า 200,000 บาท/ตารางเมตร ขณะที่ทำเลสำโรง-แพรกษา ราคาจะต่ำกว่า 200,000 บาท/ตารางเมตร หากสถานีปู่เจ้าเปิดให้บริการได้ในปลายปี2561 นี้ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าราคาจะปรับขึ้นไปที่เท่าไหร่  ปัจจุบันโครงการต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียงราคาขายจะเริ่มต้นที่ 80,000-100,000 บาท/ตารางเมตร

 

ส่วนอีกโครงการคือ “ศุภาลัย ลอฟท์ ประชาธิปก – วงเวียนใหญ่” ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นคอนโดฯ สูง 30 ชั้น 1 อาคาร ประกอบด้วยห้องพักอาศัยเพียง 363 ยูนิต ร้านค้า 2 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ขนาด 29.0 – 165ตารางเมตร  ถือว่ามีพื้นที่ใช้สอยที่ใหญ่ ในราคาเริ่มต้นที่  2.29 ล้านบาทหรื่อเริ่มต้นที่ 71,900 บาท/ตารางเมตร หรือราคาเฉลี่ยที่ 81,000 บาท/ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท  กำหนดเปิดจองในวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2561    เชื่อว่าจะสามารถปิดการขายได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

 

 

“โครงการนี้ถือว่าในช่วง ย้อนหลังไป 10 ปี เป็นคอนโดฯทำเลฝั่งธนฯที่อยู่ใกล้พระนครมากที่สุด เพราะทำเลดังกล่าวพัฒนาคอนโดฯได้ค่อนข้างยากมาก เพราะถูกจำกัดด้วยผังเมือง และที่ดินส่วนใหญ่สร้างเป็นตึกแถวมาช้านาน เจ้าของส่วนใหญ่เป็นรายย่อย การจะรวบรวมที่ดินได้ค่อนข้างยาก แต่ที่ดินที่ตั้งโครงการ “ศุภาลัย ลอฟท์ ประชาธิปก – วงเวียนใหญ่”นั้น ถือว่าโชคดีที่เป็นเจ้าของเพียงรายเดียว ไม่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมแปลงที่ดิน โดยขณะนั้นซื้อที่ดินมาในราคา 200,000 กว่าบาท/ตารางวา ปัจจุบันราคาขายขยับขึ้นไปที่เกือบ 300,000 บาท/ตารางวา”นายไตรเตชะ กล่าว

 

บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า คอนโดฯใหม่ ทั้ง 2 โครงการ จะได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี ด้วยจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้งโครงการ ความคุ้มค่าทั้งราคาและพื้นที่ การออกแบบตัวอาคารที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน และ           การออกแบบห้องพักอาศัยที่สามารถปรับฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลายรูปแบบ

 

สำหรับยอดขายของบริษัทในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายได้แล้ว 40% ของเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้  33,000 ล้านบาท แม้ว่ายังไม่ได้มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยอดขายส่วนใหญ่มาจากการขายโครงการแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายและคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมบนทำเลรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เห็นยอดขายเริ่มกลับมามากขึ้น ซึ่งส่งผลบวกต่อยอดขายของบริษัทที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวยอดขายของบริษัทเติบโต 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมองว่ามาจากภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดีขึ้น จากความมั่นใจของประชาชนหลังจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นดี และยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมากอยู่โดยที่แนวโน้มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทคาดว่าจะทำได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น

 

ด้านยอดโอนของบริษัทในไตรมาส 2/2561 มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น เพราะมีการโอนโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่สร้างเสร็จเข้ามา 2 โครงการ และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการโอนโครงการใหม่ที่สร้างเสร็จเข้ามาอีก 5 โครงการ ซึ่งทำให้บริษัทคาดว่ายอดโอนในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรกและเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2561 และไตรมาส 4/2561 ตามลำดับ ทำให้บริษัทมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะยังคงทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 26,000 ล้านบาท อีกทั้งไนช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้บริษัทยังมีการทยอยโอนจากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่ 12,000 ล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมด 41,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน โดยที่บริษัทยังไม่มีการปรับเป้าหมายทั้งยอดขายและรายได้ในปีนี้

 

ส่วนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงิน กับลูกค้าที่ซื้อโครงการของบริษัทนั้นปัจจุบันอยู่ที่ 9% ต่ำกว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่กว่า 10% ซึ่งอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการที่มีการร่วมกันวางแผนก่อนการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ประกอบกับธนาคารต่างๆมีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรม