แมกโนเลียฯเผยความคืบหน้า “เดอะ ฟอเรสเทียส์”ปลายมิ.ย.61 เตรียมเซ็นสัญญาเชนบริหาร 2 โรงแรม และดึงย์เครสต์ จากแคนาดา เข้ามาบริหารงานโครงการสำหรับผู้สูงอายุ ด้านที่อยู่อาศัยพร้อมเปิดขายต้นปี62 คาดทั้งโครงการแล้วเสร็จปี65 ล่าสุดทุ่มงบกว่า 70 ล้านบาท จัดแคมเปญ “Forest Rescue” ให้ความช่วยเหลือต้นไม้ทั่วกทม.-ปริมณฑล ตามเงื่อนไขที่กำหนด ถึง31ธ.ค.นี้ หวังสร้างชุมชน-บุคคลในครอบครัวมีความใกล้ชิด

 

 

นายกิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์” (THE FORESTIAS)ว่า  โครงการแบบ Mixed-Use Lifestyle ดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่บริเวณบางนา-ตราด กม.7 บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ประกอบไปด้วย 9 โครงการในพื้นที่เดียวกัน รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย  ลักชัวรี่ โฮเทล ระดับ  4 ดาว ,บูทีค โฮเทล ระดับ 6 ดาว ซึ่งคาดว่าจะสรุปการนำเชนระดับโลกมาบริหารงานได้ภายในปลายเดือนมิถุนายน 2561 นี้ ส่วนพื้นที่รีเทล คาดว่าจะสรุปกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะเข้ามาลงทุนภายในปลายปีนี้  

 

นอกจากนี้ยังมี Medical Complex ศูนย์ดูแลสุขภาพ,โรงเรียนอนุบาล ,สำนักงานให้เช่า ,Mulberry Grove Residence ที่พักอาศัยรูปแบบบ้านเดี่ยวผสมผสานคอนโดมิเนียม จับกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน 40 ปีขึ้นไป ,คอนโดมิเนียมแบรนด์ Whizdom เจาะกลุ่มลูกค้าวัยหนุ่มสาว คอนโดมิเนียมแนวใหม่ Aspen Tree Residence ที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ที่ล่าสุดได้ดึงกลุ่ม เบย์เครสต์(Baycrest) จากแคนาดา ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแคนาดาและเอกชน มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ติดอันดับ1 ของโลก เข้ามาบริหารงาน คาดว่าจะทำการเซ็นสัญญาภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้  ด้านการขายในส่วนของที่อยู่อาศัยทั้งหมดจะเปิดพรีเซลในต้นปี2562 และเริ่มก่อสร้างในปี2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

 

โดยภายในโครงการ“เดอะ ฟอเรสเทียส์” จะให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวถึง 60% เนื่องจากทางโครงการต้องการให้คนในชุมชนสามารถอยู่ในพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติ และปัจจุบันความใกล้ชิดของบุคคลในครอบครัวเริ่มห่างเหิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ชัดเจน ดังนั้นทางโครงการจึงต้องการสร้างชุมชนที่มีความสุข สามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้ดี ทุกเพศทุกวัยสามารถปฏิสัมพันธ์กันได้และสามารถสัมผัสธรรมชาติที่เป็นระบบนิเวศได้จริง

 

 

ด้านนางศศินันท์ ออลแมนด์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้  ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าแทรกในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้การใช้ชีวิตของคนในครอบครัวห่างเหินกันมาก ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญของระบบนิเวศวิทยาธรรมชาติ เพราะนับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงคนหมู่มาก ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสถานการณ์ธรรมชาติป่าไม้ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990-2015 (พ.ศ.2533-2558) ผ่านประมวลผลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า ในโลกนี้มีต้นไม้ประมาณ 3 ล้านล้านต้น ซึ่งผลการประเมินชี้ชัดว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ.2533)โลกสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าพื้นที่ของทวีปแอฟริกาใต้ หรือทุกๆ 1 ชั่วโมง พื้นที่ป่าจะหายไปขนาดเท่าสนามฟุตบอลไซส์มาตรฐาน (7,140 ตารางเมตร) จำนวน 800 สนามต่อชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าในโซนประเทศเขตร้อนมีการสูญเสียที่รวดเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลก สำหรับประเทศไทยโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ที่ร้อยละ 31.58 ลดลงจากปี พ.ศ. 2558 ร้อยละ0.02 หรือประมาณ 65,000 ไร่ โดยเฉพาะในกทม.เหลือต้นไม้เพียงร้อยละ 6.18 ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

 

โดยล่าสุดได้ใช้งบกว่า 70 ล้านบาท เปิดแคมเปญ “Forest Rescue – ฟอเรส เรสคิว” ปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยต้องการช่วยเหลือและอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ออกซิเจนให้สังคมเมืองมากขึ้น เพราะปัจจุบันต้นไม้ใหญ่หลายๆพื้นที่ มักตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา     การก่อสร้างถนน อาคาร สถานที่ หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้ระบบนิเวศของเมืองมีสถานภาพเสื่อมโทรมลง หรือมีศักยภาพในการช่วยเติมเต็มอากาศบริสุทธิ์ให้เมืองน้อยลง บางพื้นที่ต้นไม้ใหญ่มีสุขภาพแย่ลงเพราะขาดคนดูแล กิ่งแห้งตาย เกิดโพรง เกิดการโค่นล้ม จนเป็นปัญหาที่อันตรายแก่ผู้สัญจรไปมาและอาคารบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียง

 

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการจัดการได้อย่างถูกวิธีและรวดเร็ว ทาง “THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์” จึงได้จัดตั้งทีมปฏิบัติการที่เรียกว่า Forest Rescue Team ประกอบด้วย นักนิเวศวิทยาที่มีประสบการณ์สูง ผู้ดูแลต้นไม้ (รุกขกร) และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ลงสำรวจพื้นที่รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล  เพื่อวางแผนและประเมินสถานการณ์ ดำเนินการเคลื่อนย้ายต้นไม้จากจุดเดิมไปยังระบบนิเวศบ้านหลังใหม่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีต้นไม้ที่อาจจะได้รับการช่วยเหลือประมาณ 1,000-2,000 ต้น แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใดบ้าง  พร้อมทั้งเปิดช่องทางในการติดต่อสื่อสารและแจ้งข้อความช่วยเหลือต้นไม้ผ่านทาง www.facebook.com/theforestias หรือแฮชแท็ก#ForestRescue โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคมนี้  โดยทางโครงการจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งเองทั้งหมด และต้นไม้ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศภายในโครงการ “THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์” บนพื้นที่ 3 ไร่ หรือ 4,800 ตารางเมตร โดยต้นไม้แต่ละต้นที่ได้รับการช่วยเหลือจะถูกติดป้ายบ่งบอกถึงที่อยู่เดิม เพื่อให้เจ้าของเดิมหรือประชาชนทั่วไปเข้ามาเยี่ยมเยียน พักผ่อน หรือศึกษาระบบนิเวศธรรมชาติ ซึ่งจะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะส่วนหนึ่งให้แก่ประชาชนทั่วไปเข้าชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

 

โดยบริษัทฯจะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเลือกต้นไม้ อาทิ ประเภทต้นไม้ : ต้องไม่เป็นต้นไม้ที่เป็นไม้ต่างถิ่นรุกราน เช่น ต้นกระถินณรงค์ ตัวการในการลดความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีการแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว หรือ ต้นไม้ที่มีการแพร่พันธุ์เร็วเกินไป ยากต่อการควบคุมซึ่งอาจส่งผลต่อระบบนิเวศ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร และต้นมะกล่ำ เป็นต้น การขนย้าย คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศเดิมของต้นไม้ที่จะช่วยเหลือเข้ามาในโครงการต้องมีความใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้รับความกระทบกระเทือนจากการขนย้ายน้อยที่สุด การจัดการดูแลต้นไม้ คือ ต้นไม้ที่รับบริจาคจะอยู่ภายใต้การดูแลของโครงการฯ ซึ่งเจ้าของเดิมสามารถเข้าเยี่ยมชมได้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ และ ข้อจำกัดอื่นๆ อาทิ ต้องเป็นต้นไม้ส่วนบุคคลไม่ใช่ทรัพย์สินของราชการหรือสาธารณะ และผู้แจ้งต้องเป็นเจ้าของต้นไม้ หรือได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของต้นไม้ให้เข้าร่วมโครงการ สำหรับการล้อมต้นไม้ต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ เพราะมีข้อจำกัดสำหรับการขุดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ฤดูกาล และวิธีการขุดล้อมที่เหมาะสม และการพิจารณาช่วยเหลือต้นไม้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เชี่ยวชาญจาก THE FORESTIAS

 

“ข้อมูลจากทีมนักวิจัยจาก Lawrence Livermore National Laboratory ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า “การปลูกต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ให้ความเย็นเท่ากับเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน ที่ให้ความเย็น ประมาณ 12,000 บีทียู (1 เครื่อง) อีกทั้งร่มเงาของต้นไม้ก็จะช่วยบังแสงอาทิตย์ที่ส่งมาสร้างความร้อนให้กับตัวบ้านได้ทั้งวัน จึงสามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศในบ้านลง ผลที่ตามมา คือ ค่าไฟที่ลดลงถึง 20% ต่อปีและถ้าคุณมีต้นไม้ปลูกทางทิศตะวันตกของตัวบ้านจะช่วยลดความร้อนและประหยัดพลังงานได้ราว 10%” หรือข้อมูลงานวิจัยเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน กล่าวว่า “ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจำนวน 200,000 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนได้ปีละมากกว่า 5,000 ตัน และกำจัดมลพิษได้มากถึง 305 ตัน” นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ใกล้ตัว อย่าง สนทะเล สนฉัตร สนสามใบ สนสองใบ ที่สามารถดูดซับมลพิษหรือสามารถดูดซับฝุ่นละอองได้ดี หรือ สัตบรรณ กระดังงาไทย ชงโค และแสงจันทร์ ที่สามารถดูดซับฝุ่นออกไซด์ของไนโตรเจนและผลิตโอโซนได้ดีอีกด้วย”นางศศินันท์ กล่าวในที่สุด