รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร”ตรวจความก้าวหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และ ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ณ ปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าร้อยละ 99.26 มั่นใจบริการเดินรถระยะที่ 1 ช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือนกันยายน 2562 ขณะที่ ระยะที่ 2 การเปิดเดินรถ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563

 

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และ ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหาร รฟม. ให้การต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าโครงการฯ ณ สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ กรุงเทพฯ

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561) การดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 99.26 สำหรับการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งงานระบบเพื่อให้โครงการมีความพร้อมสำหรับเปิดให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งได้กำหนดช่วงการเปิดให้บริการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เปิดเดินรถ ช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือนกันยายน 2562 และระยะที่ 2 การเปิดเดินรถ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563

 

โครงการฯ มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. และโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานียกระดับ 15 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) ที่สถานีหัวลำโพงไปบางแค และที่สถานีบางซื่อไปท่าพระ โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม หรือ Interchange Station ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระคร่อมอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้ามแยกท่าพระ มี 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นออกบัตรโดยสาร (ชั้นจำหน่ายตั๋ว) ชั้นชานชาลาของสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – หลักสอง และชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน – ท่าพระ

 

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมโดย รฟม. มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อโครงการฯ เปิดให้บริการเดินทั้งระบบจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีที่สมบูรณ์และสามารถเดินทางเป็นวงกลมรอบกรุงเทพมหานครได้ ถือเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น