ลลิลฯเผยเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น รับแรงสนับสนุนจากภาคส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัว และการลงทุนภาครัฐ หวั่นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง-การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เตรียมพร้อมรับมือปรับโครงสร้างการเงินกู้ระยะยาว-ออกตั๋วB/E ทั้งล็อกต้นทุนวัสดุสร้าง มั่นใจตรึงสินค้าราคาเดิม ครึ่งปีหลังจ่อเปิด 5-6โครงการใหม่ รวมมูลค่า3,100-3,600 ล้านบาท คาดยอดขายรวมทั้งปีเกินเป้า ด้านยอดรับรู้รายได้แตะ 4,000 ล้านบาท

 


นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท  ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน)หรือ
LALIN  เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีหลัง 2561 ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยภาพรวมทั้งปี 2561 น่าจะเห็นการขยายตัวประมาณ 4 – 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดีภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะแม้จะมีการขยายตัว แต่ยังคงเป็นการเติบโตที่กระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นตัวฉุดกำลังซื้อในประเทศ และความเสี่ยงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อเช่นเดียวกัน ในส่วนปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศต้องติดตามประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศ หากลุกลามอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของโลกและไทยได้

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ระบุว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกทม.-ปริมณฑล มีข้อมูลจดทะเบียนทั้งสิ้นประมาณ 120,000-130,000 หน่วย/ปี และในช่วงปี 2560 มีตัวเลขที่ลดลงอยู่ที่ 110,000 หน่วย/ปี แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี2561 กลับมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นถึง 19.1% ทำให้เห็นว่าภาพรวมตลาดเริ่มพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้น โดย ทาวน์เฮาส์ เติบโต 67.3% คอนโดฯมีอัตราการเติบโต 29.8% บ้านเดี่ยว มีอัตราการเติบโตประมาณ 8.9%  บ้านแฝด -35.1% และ อาคารพาณิชย์ -44.2%

 


ด้านตลาดรวมสินเชื่อไตรมาส1/2561 พบว่ามีอัตราการเติบโตประมาณ 32% ซึ่งดีกว่าปี2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ที่ดำเนินการขยายสินเชื่อตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ยอดReject ก็ยังไม่ค่อยลดไปจากเดิม ซึ่งในส่วนของลลิลฯเองในปัจจุบันอยู่ในระดับ 20-25% สูงกว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากลูกค้ามีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯได้พยายามแก้ไขด้วยการคัดกรองข้อมูลและช่วยเหลือลูกค้าก่อนส่งให้สถาบันการเงิน

 

 

“ขณะนี้มี 2 เรื่องที่ลลิลฯยังมีความกังวลอยู่คือ หนี้ครัวเรือน ที่ในช่วงไตรมาส1/2561ยังอยู่ในอัตราที่สูงถึง 77.8% ส่วนอีกเรื่องคือการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ป้องกันการไหลออกของเงินทุน โดยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังมีการประชุมเกี่ยวกับการพิจารณานโยบายลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครชนะ มีแต่ผู้ที่เจ็บตัว”นายชูรัชฏ์ กล่าว

 

นายชูรัชฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของบริษัทฯก็มีการรับมือด้วยการปรับโครงสร้างทางการเงิน ด้วยการปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยเป็นหนี้เงินกู้ระยะยาวมากขึ้นในสัดส่วน80% ส่วนอีก 20%จะเป็นในรูปแบบของตั๋วB/E ส่วนใหญ่มีอายุประมาณ3-6 เดือน ซึ่งล่าสุดได้ออกหุ้นกู้ระยะยาวไปแล้ววงเงิน 400 ล้านบาท อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.32%  นอกจากนี้แม้ว่าราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทฯมั่นใจว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถล็อกต้นทุนวัสดุก่อสร้างไว้ได้ โดยจะพยายามคงราคาขายเดิมไว้ให้นานที่สุด หรือหากจะต้องมีการปรับขึ้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 1-3% ทั้งที่อยู่อาศัยเก่าและใหม่

 

สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทฯในครึ่งปีหลัง2561 นี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่อีก 5-6 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 3,100-3,600 ล้านบาท โดยในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการเปิดโครงการใหม่จำนวน 2 โครงการ มูลค่า 600 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านเดี่ยว ย่านสามพราน จ.นครปฐม จำนวน 50-60 ยูนิต มูลค่า 300 ล้านบาท และโครงการทาวน์โฮม  ย่านปทุมธานี  มูลค่า 300 ล้านบาท  ส่วนในช่วงไตรมาส 4/2561 จะเปิดโครงการใหม่อีกประมาณ 3-4 โครงการ มูลค่า 2,500-3,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเปิดทั้งโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม  ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแผนที่บริษัทวางไว้ทั้งปีเปิด 8-10 โครงการ มูลค่าโครงการวม 4,500-5,000 ล้านบาท

 

ด้านผลประกอบการรอบ 6 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทฯ มียอดรับรู้รายได้ที่ 2,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิที่ 402 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 41% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นการขยายตัวติดต่อกันมาตลอด 3 ปี  ในด้านโครงสร้างเงินทุน ถึงแม้ว่าบริษัทฯ มีการขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงรักษาระดับ Gearing ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการรอบการดำเนินธุรกิจได้เร็ว ทำให้มี Internal Cash Flow มาใช้ในการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 0.76 เท่า ปรับลดลงจาก ณ สิ้นไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 0.82 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนดังกล่าว นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ราว 1.40 เท่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และศักยภาพในการขยายธุรกิจได้อีกมากของบริษัทฯ ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตามในปีนี้คาดว่ายอดขายรวมจะเกินเป้าที่วางไว้ 4,400 ล้านบาท  ส่วนยอดรับรู้รายได้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 4,000 ล้านบาทเช่นกัน  โดยที่ในครึ่งปีหลังบริษัทจะมีการทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาทั้งหมด 1,100 ล้านบาท โดยเป็น Backlog ของโครงการแนวราบทั้งหมด ซึ่งใช้ระยะเวลาการก่อสร้างถึงการโอนระยะเวลา 4 เดือน ประกอบกับบริษัทมีสต็อกที่พร้อมขายอีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยขายออกไปอย่างต่อเนื่อง