สมาคมธนาคารไทยเผยภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังทรงตัว แต่บางกลุ่มอาจมีปัญหาตามที่ธปท. เห็นปัญหา ระบุการเรียกร่วมหารือถือเป็นเรื่องปกติ ด้าน KBANK มั่นมาตรการป้องกันเป็นระบบตามขั้นตอน ด้าน BAY พบความเสี่ยงปล่อยสินเชื่อในบางแบงก์  ไม่ต้องการให้ผู้ซื้อจริงรับผลกระทบ เตรียมรวบรวมข้อมูลนำเสนอธปท.

 

 

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการเรียกสมาคมธนาคารไทย และภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าไปหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ว่า ธปท. มองเห็นตัวเลขภาพรวมทั้งระบบสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ซึ่งอาจจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ จึงมีการเรียกธนาคารพาณิชย์เข้าไปหารือ และให้ข้อมูล อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมาธนาคารแต่ละแห่งมีการให้เกณฑ์กำกับดูแลการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งการพิจารณาให้สินเชื่อ รวมถึงให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยออกไปอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ธปท. ก็มีความระมัดระวังและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในช่วงที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ได้มีการหารือที่จะช่วยกันแก้ปัญหา

 

ปัจจุบันภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และคุณภาพสินเชื่อยังทรงตัว แต่อาจจะมีลักษณะบางประเภทหรือบางกลุ่มที่ธปท. เห็นปัญหา และอาจจะมีการพิจารณาร่วมกันว่าจะมีมาตรการดูแลอย่างไร โดยการที่จะมีการหารือกันถือเป็นเรื่องปกติ มองว่าเป็นการหารือกันด้วยความห่วงใยว่าบางกรณีอาจจะให้สินเชื่อมากไปหรือไม่ ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเป็นห่วงโครงการลักษณะใด ข้อมูลที่ธปท. กังวลเป็นอย่างไร และนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน ส่วนจะเข้มงวดในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นกับการหารือร่วมกันกับธปท. ก่อน 

 

“ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทุกวัน ขณะเดียวกันลูกค้าก็มีชำระคืนทุกวัน และการผิดนัดชำระหนี้ก็มีทุกวันเช่นกัน แต่ต้องพิจารณาว่ากรณีที่ผิดนัดชำระอาจจะเกิดจากมีปัญหาชั่วคราวหรือไม่ หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ลูกค้าก็อาจจะกลับมาชำระหนี้ได้ จึงต้องพิจารณารายละเอียด” นายปรีดี กล่าว

 

นายปรีดี กล่าวว่า สำหรับการดูแลและความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยฯ จะดูทั้งระบบตั้งแต่ที่ผู้ประกอบการมาเสนอโครงการขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการ ซึ่งธนาคารต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายด้วยว่าขายได้หรือไม่  เพื่อป้องกันการไม่ให้มีซัพพลายเข้ามาในตลาดมากเกินไป หากประเมินว่าขายได้ก็อนุมัติสินเชื่อ และให้ดำเนินการขายต่อและเมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้รายย่อยมาขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่ามีความสามารถในการกู้และผ่อนชำระได้

 

ด้านนายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ตรวจพบปัญหาความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเช่นกัน ซึ่งสังเกตจาก NPL ที่เพิ่มขึ้น โดยพบมีเกิดขึ้นในธนาคารบางแห่ง ยังไม่ใช่ทั้งระบบ เพราะถ้าเกิดขึ้นทั้งระบบแสดงว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมาหาสาเหตุ และศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้ผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ธนาคารเข้มงวดมากขึ้น สกรีนมากขึ้น ซึ่งส่งผลไปยังลูกค้าที่มีความต้องการสินเชื่อที่แท้จริงเช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้หารือกันในสมาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะได้รายงานต่อธปท. ต่อไป โดยแนวทางการแก้ไข และป้องกันกลุ่มลูกค้าที่ตั้งใจเข้ามาทุจริต หรือ ใช้ช่องโหว่ เข้ามาขอสินเชื่อ จะต้องรอหารือกับ ธปท. ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และ ธนาคารพาณิชย์ อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้