3 นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ หวั่นแบงก์ชาติเข้าใจผิด-ไม่ยุติธรรมนำตัวเลขNPLตีค่าปล่อยสินเชื่อใหม่  ชี้แจงตัวเลขเป็นรายปีให้ชัดเจน หวั่นใช้มาตรการLTVตลาดแนวราบชะลอตัวแน่ แนะธนาคารไหนมีปัญหาเรียกแก้ไขในทางลับ ไม่ควรออกมาตรการสกัดกั้น จะกระทบภาพรวมตลาดอสังหาฯ-เศรษฐกิจประเทศ

 

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเชิญผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มาหารือในเรื่องการเตรียมออกมาตรการป้องกันไม่ให้มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงสูง หลังจากที่พบว่ามีผู้ประกอบการทำแคมเปญการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กู้เกินวงเงินราคาบ้าน ธนาคารปล่อยสินเชื่อเกินราคาหลักประกัน (อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน:Loan to Value :LTV) ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยเทียม ส่งเสริมการเก็งกำไรทั้งที่ผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ ในที่สุดก็นำไปสู่การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan : NPL) ในบางกลุ่ม เบื้องต้นพบว่ามีความเสี่ยงหลายลักษณะ อาทิ คอนโดฯเงินทอน ที่ผู้กู้อาจจะนำเงินส่วนเกินที่กู้ไปทำอย่างอื่น ทำให้ต้องเข้าไปดูแล เหมือนในปี 2560 ที่ ธปท.ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตไปแล้ว


 

แนะธปท.แจงตัวเลขNPLรายปี-จวกใช้มาตรการLTVแนวราบกระทบแน่

กรณีดังกล่าว นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ธปท.อาจจะเข้าใจอะไรบางอย่างที่ผิด โดยเฉพาะการนำเอาตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan : NPL) มาตีค่าการปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น มองว่า ไม่ยุติธรรม เพราะต้องดูด้วยว่า NPL ที่เกิดขึ้นเป็นการปล่อยสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใด  และต้องดูต่อไปอีกว่า NPL ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อช่วงนั้นสาเหตุเกิดจากอะไร เช่น ช่วงนั้นอาจจะมีการสนับสนุนบ้านหลังแรก ก็อาจจะมีการเก็งกำไรอสังหาฯ หรือ ผู้กู้อาจจะมีภาระหนี้จากรถยนต์คันแรก เป็นต้น

 

“สิ่งเหล่านั้นได้แสดงผลเป็น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปัจจุบัน แล้วจะมาบังคับการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งมันไม่ถูก ธปท.ควรจะแจกแจงตัวเลขออกมาเป็นปีๆ  เช่น สินเชื่อปล่อยไปปี 2559 เกิดเป็น  NPL เท่าไหร่ ปี 2560 เกิด NPL เท่าไหร่ และในปี 2561 ปล่อยมาแล้วเป็น NPL เท่าไหร่ เพื่อจะได้ลงลึกถึงคุณภาพสินเชื่อเป็นรายปี และจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น สามารถควบคุมดูแลได้ถูกต้อง อย่างเช่น ในปัจจุบันธนาคารก็คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ตลาดเก็งกำไรก็หายไปหมด แต่ธปท.กลับไปเอาตัวเลข NPL จากการปล่อยสินเชื่อ เมื่อ 3 ปีแล้วมา มาคุมปัจจุบันถือเป็นการลงโทษผิดคน”นายอธิป กล่าว

 

นายอธิป กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของดีมานด์เทียมนั้นยอมรับว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังมีสัดส่วนของการซื้อเพื่อเก็งกำไรอยู่สูง โดยเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงประมาณ 65-70% การซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรรวมกัน 30-35% แต่ปัจจุบันเหลือ 15% และเป็นการซื้อเพื่อลงทุนเกือบทั้งหมดแทบไม่มีตลาดเก็งกำไรอยู่เลย ขณะเดียวกันธนาคารก็เข้มงวดมากขึ้น โดยปัจจุบัน อัตราการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อก็ยังไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่หลายบริษัทก็มีสัดส่วนการปฏิเสธที่เพิ่มขึ้น แม้จะดูแลลูกค้ามาอย่างดี ถ้าธปท.มีมาตรการอะไรออกมาจะยิ่งซ้ำเติมตลาดเข้าไปอีก

 

“ถ้าธปท.ใช้มาตรการลดปล่อยสินเชื่อเกินราคาหลักประกัน(อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน:Loan to Value :LTV) กำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยจะลดลงไปทั้งตลาด ยอดขายจะลดลง เพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจว่าซื้อไปแล้วจะกู้ได้หรือเปล่า นอกจากนี้ ผู้ซื้อที่รอโอนส่วนหนึ่งจะโอนไม่ได้ เพราะจะต้องหาเงินก้อนมาโปะ และที่จะกระทบแน่ๆ คือ ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งเป็นเรียลดีมานด์ ไม่มีการเก็งกำไร แต่มีระยะเวลาการซื้อขายในช่วงที่สั้น ถ้าลด LTV ผู้ซื้อจะไม่สามารถโอนบ้านได้ และจะส่งผลไปถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะชะลอตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”  นายอธิป กล่าวในที่สุด

 

ตื่นตูมแต่ไม่มีหลักฐาน-แนะเรียกแบงก์มีปัญหาเคลียร์ทางลับ

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีความซับซ้อนหลายประเด็น และก็ค่อนข้างงงว่าธปท.จะเรียกผู้ประกอบการอสังหาฯเข้าหารือในฐานะอะไร หรือในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในความเป็นจริงหากธนาคารไม่ปล่อยกู้สินเชื่อ ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ โดยที่ผ่านมาธนาคารขนาดเล็กเมื่อมีลูกค้าที่มีเงินในการลงทุนพัฒนาโครงการก็มักจะปล่อยสินเชื่อโครงการ ขณะเดียวกันธนาคารขนาดใหญ่ ก็มักจะปล่อยสินเชี่อโครงการให้กับบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เช่นกัน

 

ส่วนกรณีคอนโดฯเงินทอน ที่ปกติเงินส่วนเกินจากที่กู้ธนาคารจะให้ลูกค้านำไปใช้เพื่อตกแต่งภายใน แต่ลูกค้ากลับนำไปใช้นอกระบบก็ไม่ใช่เจตนาของธนาคาร เพราะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกค้าจะนำเงินที่เหลือไปใช้อย่างไร และกรณีที่ลูกค้ายื่นสินเชื่อบ้านหลายหลังในโครงการเดียวกัน เวลาเดียวกันนั้น ผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าลูกค้ามีที่อยู่อาศัยทั้งหมดกี่หลัง จึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องตรวจสอบ โดยหน้าที่เป็นของธนาคารเท่านั้นที่จะสามารถทราบข้อมูล แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการกับลูกค้าได้ หากลูกค้ามีอำนาจในการผ่อนชำระ

 

“การที่ธปท.ตกใจนั้นดีแล้ว แต่การที่ออกมาโวยวาย แล้วไม่มีหลักฐาน ไม่มีตัวเลขว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีการเปิดเผยออกมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกสื่อให้วุ่นวาย  หรือหากมีข้อมูลก็ควรที่จะเรียกธนาคารนั้นๆไปหารือและจัดการในทางลับ  เพราะธปท.มีกฎกติกาอยู่แล้ว  แต่การที่จะเรียกผู้ประกอบการเข้าไปพบนั้น อยากถามว่าเพื่ออะไร เพราะถือว่าเป็นกลุ่มปลายเหตุมาก ซึ่งธุรกิจอสังหาฯถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำให้จีดีพีในประเทศเติบโตขึ้น หากธปท.ทำเช่นนี้จะทำให้จีดีดีเติบโตได้อย่างไร”นายพรนริศ กล่าว

 

นายพรนริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการขายที่อยู่อาศัยให้กับชาวต่างชาตินั้นที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ขายให้ต่างชาติตามเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และขณะนี้กลไกตลาดก็ค่อนข้างสมดุล ส่วนการเกิดโอเวอร์ซัพพลายนั้นคงไม่เกิดกับผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กแน่นอน  เนื่องจากธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อโครงการอยู่แล้ว แต่คาดว่าจะเกิดโอเวอร์ซัพพลายกับโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในบางทำเล เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีซัพพลายเหลือมากหลายโครงการ  ในขณะเดียวกันบางทำเลที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปทำตลาดก็ขายได้ดีเช่นกัน เพราะการทำตลาดในยุค4.0นั้นต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง ที่จะเน้นสื่อโซเชียลเป็นหลัก และล้วนประสบความสำเร็จ

 

ค้านออกมาตรการสกัดปล่อยสินเชื่อส่งผลตลาดชะงัก

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การที่ ธปท.ออกมาเตือนการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีกณฑ์การพิจารณาที่หย่อนลงและทางสถาบันการเงินต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ธปท.ยังมีความเป็นห่วงการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มากเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น และเป็นการให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันปัญหาที่หากเกิดปัญหาขึ้น แล้วจะส่งผลต่อกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย อย่างไรก็ตามมองว่าธปท.สามารถออกมาเตือนและควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ แต่ไม่ควรมีการออกมาตรการมาสกัดกั้น เพราะจะทำให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยหยุดชะงัก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่มีการติดตามดูสถาณการณ์อยู่อย่างต่อเนื่อง