พลัสฯสรุปภาพรวมอสังหาฯปี61 มูลค่าตลาดโต29% ผู้ประกอบการ 12 รายใหญ่  เปิดโครงการมูลค่ารวม 3.72 แสนล้านบาท  การลงทุนเน้นตลาดลักชัวรี่-มิกซ์ยูสมากขึ้น ทั้งเทรนด์ร่วมทุนต่างชาติเ-เจาะตลาดผู้สูงวัย เพื่อขยายฐานลูกค้า-ตอบโจทย์สังคมไทยยังมีต่อเนื่อง  แข่งนำนวัตกรรมใหม่ดึงลูกค้า ด้านบ้านเดี่ยวแม้อุปทานน้อยกว่าทาวน์เฮาส์ แต่มูลค่ามากกว่า

 

 

ายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ได้สรุปทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ในปี 2561 ว่า มีมูลค่าตลาดเติบโตขึ้น 29%       เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 จากแผนการลงทุนโครงการอสังหาฯ จากผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเป็นหลัก   โดยปี 2560 มีมูลค่าโครงการรวมการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวน 2 .88 แสนล้านบาท และเมื่อพิจารณาแผนการดำเนินงานของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง  12 ราย ในปี2561 พบว่ามีมูลค่ารวมของโครงการใหม่ 3.72 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 29%

 

ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการปรับใช้กลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและเน้นผลิตสินค้าในกลุ่มกลาง-บน มากขึ้น โดยการพัฒนาที่ยู่อาศัยในระดับ Luxury และยังเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ นอกจากนี้มีแผนการพัฒนาโครงการในรูปแบบ Mixed Use มากขึ้น และมีการร่วมทุนระหว่างบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายความสามารถในการลงทุนและฐานลูกค้า นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดจากแผนงานของผู้ประกอบการรายใหญ่คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ภายในที่อยู่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อาศัย

 

โดยภาพรวมสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ พบว่า อุปทานคอนโดมิเนียมที่ในปี 2561 มีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้จะมีการซื้อ-ขายไปแล้วจำนวนมากในช่วงปลายปี 2560 แต่กลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีแรกจะเน้นระบายของเดิมที่เปิดไว้ แต่แผนการเสนอขายใหม่ทั้งปีคาดว่าจะสูงถึง 65,000 ยูนิต ในขณะที่จำนวนโครงการที่เสนอขายทั้งหมดก็ยังต่ำกว่าปีก่อนหน้า นั่นหมายถึงการกลับมามุ่งพัฒนาตลาดในกลุ่มระดับกลาง-บนอีกครั้ง

 

ด้านตลาดแนวราบมีการเติบโตของอุปทานขึ้นจากทาวน์เฮาส์ ส่วนตลาดบ้านเดี่ยวพบจำนวนอุปทานลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านมูลค่า จะพบว่า โครงการบ้านเดี่ยวมีสัดส่วนมากขึ้น เนื่องจากเน้นผลิตสินค้าที่มีระดับราคาสูงมากขึ้นนั่นเอง

 

 

โดยทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัยในอนาคต จะมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่ทิศทางของเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) และนโยบายที่ช่วยส่งเสริมจากภาครัฐ โดยเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากในปี 2561 – 2562 ประมาณ 4%  ซึ่งตัวเลขนี้เอง ได้สะท้อนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายว่าเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศนั้นทิศทางที่ดี รวมทั้งความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยจากข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ประเมินว่า เม็ดเงินที่ภาครัฐลงทุนในการก่อสร้างปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 8.13 แสนล้านบาทหรือเติบโตจากปีนี้ราว 9% โดยการเติบโตมาจากมาจากความคืบหน้าของโครงการที่เริ่มมีการก่อสร้างเป็นหลัก เช่น รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และการขยายสนามบิน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่อาศัยยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ทิ้งไม่ได้ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัย มีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเข้าถึงวิถีชีวิตของคนมากกว่าเดิม ย่อมมีอิทธิพลกับพฤติกรรมการอยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงจาก “เทรนด์การลงทุนและเทรนด์การอยู่อาศัย”

 

โดยเทรนด์การลงทุนนั้น จะเห็นการพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-used) เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการ ลดการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น และตลาดต่างประเทศ ก็ยังคงเข้ามาเพิ่มบทบาทความสำคัญ ทั้งในแง่การลงทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งบริษัทต่างชาติจะให้ความสนใจร่วมลงทุนกับผู้พัฒนาโครงการในไทย ทั้งรายใหญ่และรายย่อยหลายโครงการ โดยมีแนวโน้มที่จะนำเงินลงทุนและเทคโนโลยีเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ โดยกลุ่มร่วมทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจนั้น มีมาจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ในขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่ซื้อห้อง เพื่อลงทุนระยะยาวและปล่อยเช่า ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเข้าใกล้สัดส่วน20% บ่งชี้ว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ที่นำมาซึ่งความต้องการที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น การเกิดตลาดที่เป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Home หรือ Elder Living) จะเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมไทย และจะเป็นสินค้าที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น การจะทำให้ผู้บริโภคชาวไทยยอมรับ และปรับเข้ากับไลฟ์สไตล์คนไทยได้นั้น เป็นความท้าทายหลักของสินค้าประเภทนี้ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนได้อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงยิ่งต้องพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ตอบโจทย์ให้ทันความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เช่นกัน คือ บ้านที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี นอกจากนี้แนวคิดของการมี บ้านที่อยู่อาศัยได้จริง เช่น ห้องขนาดเล็กแต่มีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ บ้านที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืนด้วยคุณภาพของการก่อสร้าง สุดท้ายบ้านที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ผู้อาศัยได้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นบ้านที่อยู่อาศัยได้ในระยะยาว