จากข้อมูลของมูลนิธิพัฒนาผู้สูงอายุ (มสผส.) พบว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลประชากรของประเทศไทยปี 2556 ประชากรไทยมีจำนวน 64.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุมากถึง 9.6 ล้านคน คาดว่าในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 17.6 ล้านคน (ร้อยละ 26.3) และปี 2583 จะมีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน (ร้อยละ 32.1) ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

เตรียมแผนรับมือผลกระทบผู้สูงอายุ

ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา “ROAD to Silver Age” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อ “ROAD to Silver Age: นโยบายภาครัฐ รองรับสังคมสูงวัย” ว่า กระทรวงการคลัง ได้เห็นถึงสังคมผู้สูงอายุ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการบริหารโครงสร้างเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย เนื่องจากภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุ จะเพิ่มเป็น 20 % ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากครอบครัวจำนวนมากเริ่มมีบุตรยากขึ้น ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้น 

 

ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนประกันสังคมของไทย ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุ แต่ถือว่าเป็นกองทุนฯ ที่จัดขึ้นได้ไม่นาน และก็เริ่มมีการจ่ายผลประโยชน์ก้อนแรกเมื่อปี 2556 และทยอยจ่าย แต่สัดส่วนยังไม่สูง จนส่งผลให้เงินกองทุนประกันสังคมมีมูลค่าสูงจาก 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท แต่กระนั้นภาครัฐก็ต้องคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในอีก 38 ปีขัางหน้า หรือปีพ.ศ. 2600 เงินสำรองของเงินกองทุนประกันสังคมจะหมดลง นั่นหมายความว่า จะเข้าสู่กระบวนการทางภาษี หรือการตั้งงบประมาณแผ่นดิน เพื่อรองรับการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์  ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนรองรับที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งต้องจับตาดูว่า พรรคการเมืองไหน มีเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสังคมผู้สูงอายุบ้าง อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นที่น่าจะพิจารณา ซึ่งภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะระมัดระวังในการดำเนินการ แต่อาจจะเป็นแนวทางรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นหมายถึง ต้องแก้ไขโครงสร้างทั้งระบบ ที่มี 3 ส่วนต้องพิจารณา และจะเป็นทางเลือก รองรับปัญหาภาคแรงงานที่จะเกิดขึ้น 

 

ทางเลือกที่ 1 การขยายเวลาเกษียณอายุ ซึ่งหลายฝ่ายค่อนข้างเห็นด้วย แต่ก็ต้องมาพิจารณาในแต่ละอุตสาหกรรมว่าจะเป็นอย่างไร 

 

ทางเลือกที่ 2 การจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคม ตรงนี้อาจจะลำบาก เนื่องจากการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ยังไม่มีรัฐบาลไหนกล้าขึ้นอัตราสมทบ เพราะความรู้สึกของผู้จ่ายเงินจะถูกเก็บภาษี ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ ในขณะที่ต่างประเทศจะมีการเก็บเงินสมทบตัวเลข 2 หลัก ซึ่งในประเทศไทยอาจจะดำเนินการลำบาก หากจะดำเนินการจัดเก็บเป็นขั้นบันได จะเป็นทางที่ดี  

 

ทางเลือกที่ 3 ขยับเพดานเงินเดือน ซึ่งเป็นส่วนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาคแรงงาน ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะยอมรับ แต่เจ้าของธุรกิจอาจจะไม่ยินดี เพราะจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน  

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่กลุ่มผู้สูงอายุ ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งภาคธุรกิจ จะต้องศึกษาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เช่น ผู้สูงวัยประเภทติดสังคม  ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ และมีกำลังซื้อสูง ,ผู้สูงวัยติดเตียง  ที่น่าจะมองเรื่องเทคโนโลยีที่จะลดเรื่องการพึ่งพาผู้ดูแล  และผู้สูงวัยติดบ้าน เคลื่อนไหวได้ แต่ไม่ต้องการออกสังคม ซึ่งต้องมีโปรดักส์ ให้กลุ่มดังกล่าวมีความตื่นตัว ต้องการออกมาสู่สังคม 

 

“เราต้องแก้ไขโครงสร้างทั้งระบบ โดยต้องดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดย 6 ปีแรกของเด็ก เป็นเวลาที่สำคัญในชีวิตของเด็ก ตรงนี้ รัฐบาลควรต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเมื่อโตขึ้น ก็ต้องดูเรื่องหลักการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป เพราะเป็นยุคเทคโนโลยีเข้ามา เรื่องตราสารทางการเงิน ที่จะออกโปรดักส์ว่า จะบวกหน่วยลงทุนในการออมเพื่อการเกษียณ เช่น กองทุนที่รัฐบาลให้สิทธิลดหย่อนอยู่” ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวในที่สุด

แนะรัฐไฟเขียวถอดโมเดลสิงคโปร์

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)  กล่าวในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ส่องโอกาสและธุรกิจ Silver Age” ว่า สังคมไทยถือเป็นอันดับ 2 ของเอเชียที่เข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ ที่ใช้ระยะเวลา 25 ปี รองจากประเทศจีน ที่ใช้ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งประเทศไทยผู้สูงอายุมีกำลังซื้อสูง และโรคที่สำคัญที่สุดของผู้สูงอายุคือ โรคซึมเศร้า และโรคเหงา โดดเดี่ยว  ขณะที่ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดปัจจุบันอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น เพราะลูกหลานไปทำงานในเมืองหลวงมากขึ้น ดังนั้นในการดำเนินธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุยังมีช่องว่างอีกมาก ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ตนคิดว่ารัฐบาลควรปล่อยให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจเหมือนเช่นสิงคโปร์ 

 

เล็งขยายฐานโครงกา “กู้บ้านแลกเงิน”

นายอิสระ วงศ์รุ่ง รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่ผ่านมามีลูกค้าตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงวัย จำนวน 22 ล้านคน เป็นผู้สูงวัย 5 ล้านคน คิดเป็น 20 % แต่กลับมีผู้ที่มีเงินฝากซื้อสลากออมสิน และเพื่อสุขภาพสำหรับวัยเกษียณ น้อยมากเพียง 10,000 กว่าคนเท่านั้น ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกมาแล้ว และทางคลังก็ได้มีนโยบายให้ออมสินดูแลผู้สูงวัย ซึ่งก็ต้องแก้กฎหมาย หากดำเนินการสำเร็จ ธอส. ก็สามารถดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน 

 

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะให้ ผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัยมาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ เพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาท ถึงอายุ 80 ปี (หรือจะขยายมากว่า 20-30 ล้านบาทก็ได้ ) ด้วยการนำหลักทรัพย์ไว้กับธนาคารออมสิน  และกรณีผู้สูงอายุคนดังกล่าวเสียชีวิต แต่ยังไม่ครบตามสัญญา ทายาทยังสามารถมาผ่อนต่อ หรือ จะให้ธนาคารนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อได้ และคาดว่าในอีก 1-2 ปี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  จะเริ่มดำเนินการได้ 

 

ทั้งนี้ในการบริหารนโยบายใดๆ ก็ตาม อยากให้ผู้กำกับสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทิศทางทางด้านนโยบายเดียวกัน ในการส่งเสริมผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารของรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน อย่างไรก็ตาม ทางออมสิน กำลังขยายความร่วมมือ โครงการ “กู้บ้านแลกเงิน” ไปยังผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ รวมไปถึงการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และกรมธนารักษ์ ในการเข้าไปดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ในความร่วมมือดังกล่าวเป็นรายแรก

เสนอแพคเกจช่วยเหลือผู้สูงอายุ

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสังคมผู้สูงอายุในระยะยาวได้ ดังนั้นต้องเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยพบว่า ผู้สูงอายุจะต้องการมีสุขภาพดี, มีเงิน และการยอมรับ ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุยังเป็นปิรามิดฐานกว้างอยู่ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเริ่มมากขึ้น และมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ ข้าราชการบำนาญ สามารถใช้ไลฟ์สไตล์ให้อยู่ดีกินดีได้ในระดับหนึ่ง, ผู้เกษียณในระบบประกันสังคม และแรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เพราะความคุ้มครองทางสังคมน้อย 

 

หากดูตามระดับรายได้ พบว่าอายุ 60 ปีรายได้จะลดลง ซึ่งอยากให้รัฐบาลขยายอายุในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรปรับกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน มีรายได้ และการช่วยให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเข้าถึงอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ต่อยอดได้  ซึ่งในต่างประเทศเทรนด์สำหรับธุรกิจด้านผู้สูงอายุลดลง (แบบเป็นธรรม) คำตอบคือ Platform ที่ธุรกิจเข้าถึงอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ต่อยอด โดยธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ จะถือว่าเป็นเรื่องปกติ และเทคโนโลยีต่างจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จะให้ความสำคัญมากขึ้น ได้แก่ 1. กลุ่มเวชภัณฑ์-การดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล ศัลยกรรมความงาม 2. ระบบการเงินของผู้สูงอายุ การวางแผนทางการเงินตั้งแต่ก่อนเกษียณ, ประกันสุขภาพ 3. อาหารเสริม, วิตามิน 4. การท่องเที่ยว, การศึกษา และกิจกรรมของผู้สูงอายุ 5. การบริการผู้สูงวัยและผู้ให้บริการ 6. วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ 7. อสังหาริมทรัพย์ (รวมถึง Reverse mortgage) และการดูแลผู้สูงอายุ-Day Care/Long Stay และ 8. สตาร์ทอัพ-แอปพลิเคชั่น

 

“เรามองว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ควรดูเรื่องผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ การจะทำอะไร ควรวางเป็นแนวคิดวิถีชีวิตที่เป็นแพคเกจมากขึ้น มีการบังคับออกมาเลย ให้คิดเป็นแพคเกจเรื่องการเงินด้วย  เหมือนเช่นคนพิการที่ให้ภาคเอกชนดู”ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวในที่สุด