จากนโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุนั้นสอดคล้องกับแนวคิดกับภาคเอกชนที่พัฒนาโครงการบ้านเพื่อผู้สูงอายุมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีการศึกษาวิจัยมาโดยตลอดว่าประเทศไทย กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่มีนโยบายสนับนุนอย่างจริงจัง จนกระทั่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวและพร้อมที่จะสนับสนุนให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว  
 
คาดปี’78ผู้สูงอายุพุ่งสูง30%
โดยรศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ ทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจัดโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ว่า  ในช่วงตั้งแต่ปี 2493-2523 มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปน้อยมากในสัดส่วนเพียง 5% แต่เมื่อถึงปี 2543 มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเป็น 10และคาดว่าในปี 2578 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 30% เพราะช่วงปี 2506-2526 เป็นยุคของเบบี้บูมเมืองไทย คือมีประชากรเกิดสูงมาก ส่งผลให้ในอนาคตมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงมากขึ้น ที่ผ่านมาได้มีเอกชนพัฒนาบ้านสำหรับผู้สูงอายุบ้างแล้วมากกว่า 10 โครงการ แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุได้เพียงพอ และที่พักสำหรับผู้สูงอายุจะต้องมีระบบการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยมีมืออาชีพจากรพ.และโรงแรมมาคอยให้คำแนะนำในการให้บริการ
ขณะเดียวกันชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาซื้อที่พักอาศัยหลังเกษียณในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอยากให้ภาครัฐขยายวีซ่าให้ท่องเที่ยวเพิ่มจาก1 ปีเป็นขยาย10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซียก็ได้ขยายวีซ่าเพิ่มเป็น 10 ปีแล้ว จึงถือว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย
 
“การพัฒนา บ้านผู้สูงอายุหลายคนคิดว่าง่าย แต่จริงๆแล้วยากมาก เพราะต้องดูแลเรื่องสังคมและสุขภาพด้วย
โดยทุกโครงการที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือความน่าเชื่อถือในบริษัท(Brand),การมีทีมเวิร์ค(Team) และมีระบบ(System)
 
ผู้สูงวัยยุคใหม่ติดโซเชียล-เพศหญิงสูงกว่าชาย
พ.ญ.นาฏ ฟองสมุทร ผู้บริหารโครงการวิลลา มีสุข เรสซิเดนท์เซส  กล่าวว่า ผู้สูงอายุในอดีตจะค่อนข้างแยกตัวไม่ค่อยมีสังคม แต่ผู้สูงอายุในปัจจุบันจะชอบสังคมโซเชียลมาก และมีผู้หญิงสูงวัยมากขึ้นกว่าผู้ชายสูงวัย ดังนั้นหากจะผลิตสินค้าผู้สูงวัยให้นึกถึงผู้หญิงมากขึ้น และพบว่าผู้สูงอายุกว่า 90% มักชอบอาศัยอยู่ที่บ้าน ดังนั้นอยากให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยต้องได้รับการอบรมที่เหมาะสม หรือจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Daycare ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดแต่หากผู้สูงอายุไม่ต้องการอยู่บ้าน และต้องการมีสังคม โครงการบ้านผู้สูงวัยก็มีอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี
 
สำหรับผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเพื่อผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เพียงขายอสังหาฯอย่างเดียว แต่ต้องขายไลฟ์สไตล์ด้วย ซึ่งประกอบด้วยบ้านพักที่เหมาะสม และมีผู้ดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มโรงพยาบาล รวมไปถึงชื่อเสียงก็ความสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าสนใจซื้อโครงการ  
 
ปัจจุบันมาเลเซียเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาบ้านเพื่อผู้สูงอายุ จากการที่รัฐบาลให้สนับสนุนการท่องเที่ยวทำให้มีชาวต่างชาติมาพักอาศัยในประเทศไทยมากขึ้น โดยมีนโยบายที่จะเปลี่ยนจาก Long Stay เป็น Longer Stay ซึ่งช่วยส่งเสริมที่พักสำหรับผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับผู้สูงอายุในกทม. ที่ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมไม่ชอบไปพักนอกบ้านของตนเอง ดังนั้นจะถูกบังคับไปในตัวจากปัจจัยด้านสินค้าในเมืองที่ส่วนใหญ่เน้นเฉพาะตลาดระดับบน ส่วนกลุ่มลูกค้าในระดับกลาง หากจะหาที่ดินในการพัฒนาควรต้องดูต้นทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะไปตั้งอยู่ชานกทม. สำหรับโครงการที่น่าสนใจคือ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ของน.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีบริการครบวงจร หรือหากผู้ประกอบการรายใดจะพัฒนาโครงการเพื่อผู้สูงอายุก็ต้องศึกษาว่าจะเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับใด
 
ธอส.เตรียมแก้พ.ร.บ.ปล่อยสินเชื่อเอื้อผู้สูงอายุ
ด้านนางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. กล่าวว่า สินเชื่อที่ปล่อยให้กับผู้สูงอายุในปัจจุบันคือ สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยที่ต้องการที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่ร่วมกับบิดา มารดา เพื่ออุปการะเลี้ยงดู ธอส.ได้ขยายระยะเวลากู้ยาวถึง 40 ปี ผ่อนเพียง 5,000 บาท/เดือน แต่ผู้กู้ต้องมีอายุตั้งแต่50 ปีขึ้นไป
 
หากเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาโครงการสำหรับผู้สูงอายุ ธอส.ได้เตรียมสินเชื่อไว้ 2รูปแบบ ให้เงินลงทุน 100% ของการก่อสร้าง  ซึ่งมีหลายรูปแบบ แต่จำนวนยูนิตต้องไม่น้อยกว่า40%
 
ส่วนการ Reverse Mortgage ผู้สูงวัยมีบ้านแล้ว แต่ไม่ต้องการขายบ้านหลังกล่าว โดยสามารถนำบ้านมาจำนองกับธนาคาร แทนที่ผู้กู้จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ธนาคารทุกเดือน ธนาคารจะกลับกลายเป็นผู้จ่ายเงินให้ผู้กู้ทุกเดือน ตามที่ทำสัญญากับธนาคาร จนเมื่อครบกำหนดการชำระสุดท้าย บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคาร ซึ่งต่างกับการจำนองทั่วไปที่สุดท้ายแล้วบ้านจะมาเป็นของผู้กู้ ซึ่งที่ผ่านมาธอส.และธนาคารออมสินถือว่าเป็น 2 ธนาคารแรกที่นำร่องในโครงการดังกล่าวตามนโยบายของรัฐบาล
ส่วนแนวทางในการให้สินเชื่อในระยะต่อไปนั้นขณะนี้ธอส.อยู่ในระหว่างการแก้ไขพ.ร.บ.เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อตามโครงการ Reverse Mortgage  ได้ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2560 นี้