อัพเดทความคืบหน้า โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 14 เส้นทาง  เตรียมเปิดให้บริการสายแบริ่ง-สมุทรปราการปลายปี 61

 

นับถอยหลังเหลืออีกเพียงเดือนกว่าๆก็ใกล้จะสิ้นปี 2560 แล้ว  มาอัพเดทความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งในเฟสแรกและส่วนต่อขยายว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

เริ่มจากเส้นทางที่จะได้เปิดให้บริการเร็วสุด คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  ส่วนต่อขยาย  เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ  ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการไปแล้ว 1 สถานี(สถานีสำโรง)  ส่วนตลอดเส้นทางนั้นคาดว่าจะประมาณเดือนธันวาคม 2561   ถัดไปก็จะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  ส่วนต่อขยาย  ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ  โดยช่วงแรกจากหัวลำโพง–บางแค คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนกันยายน 2562 และช่วงจากเตาปูน–ท่าพระ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนมีนาคม  2563

 

ทั้งนี้  รายละเอียดของความคืบหน้าแต่ละโครงการทั้ง 14 เส้นทางทั้งในส่วนที่เป็นแฟสแรกและส่วนต่อขยายมีดังต่อไปนี้

 

1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ  ระยะทาง 13 กิโลเมตร  ปัจจุบันงานโยธาโครงการ ได้แก่ งานโครงสร้างทางวิ่งสถานียกระดับ, ศูนย์ซ่อมบำรุง, อาคารจอดแล้วจร และงานระบบรางเสร็จสมบูรณ์   และได้เปิดให้บริการเดินรถ 1 สถานี ต่อจากสถานีแบริ่งไปยังสถานีสำโรงแล้ว ส่วนงานด้านระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ  โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ(ไปจนถึงสถานีสมุทรปราการ)ประมาณเดือนธันวาคม 2561

 

2.โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน  ระยะทาง 15.263 กิโลเมตร  ปัจจุบันงานก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่เนื่องจากการเดินขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองจะเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกันกับโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิต ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะก่อสร้างในโครงการฯช่วงบางซื่อ-รังสิต และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในอนาคต โดยจะมีการจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตลอดจนจัดหาตู้รถไฟฟ้าไปพร้อมกันทั้งสองโครงการ  มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563

 

3.โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิต   ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร กิโลเมตร  วงเงิน 93,950 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธาวงเงิน 61,551 ล้านบาท  และงานบริหารการเดินรถ  32,399 ล้านบาท  ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563  โดยมีความคืบหน้าดังนี้

สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล   โดยมีกิจการร่วมค้า เอสยู ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้าแล้ว 57.50%

สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ–รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  คืนหน้า 88.63%

สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและจัดหาขบวนรถ โดยมีกิจการร่วมค้า MHSC เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 16.99%

 

4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  ส่วนต่อขยาย  ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ   ระยะทาง 27 กิโลเมตร   กำหนดเปิดให้บริการปี  2563   มีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม 96.02% (ณ เดือนกันยายน 2560) โดยงานก่อสร้างงานโยธามีทั้งหมด 5 สัญญา ดังนี้

สัญญาที่ 1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 11,441 ล้านบาท  ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)   คืบหน้า 97.62%

สัญญาที่ 2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดินช่วงสนามไชย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร  วงเงินก่อสร้าง 10,687 ล้านบาท  ดำเนินการโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) คืบหน้า 100%

สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กิโลเมตร และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 11,284 ล้านบาท  ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น (บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ยูนิค เอ็นจิ เนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นจำกัด (มหาชน) คืบหน้า  88.51%

สัญญาที่ 4  งานก่อสร้างยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 13,334 ล้านบาท  ดำเนินการโดยบริษัท ชิ โน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) คืบหน้า 99.81%

สัญญาที่ 5 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบรางทั้งโครงการ วงเงิน 4,999 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) คืบหน้า 90.85%

 

สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายดังกล่าว จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจากหัวลำโพง–บางแค คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนกันยายน 2562 และช่วงจากเตาปูน–ท่าพระ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนมีนาคม  2563

 

5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร   กำหนดเปิดให้บริการปี 2563    ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม 45.57% (ณ เดือนกันยายน 2560)  โดยแบ่งออกเป็น 4 สัญญา  ดังนี้

สัญญาที่ 1  งานก่อสร้างงานโยธาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท  มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเว็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 45.41%

สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างงานโยธาช่วงสะพานใหม่-คูคต วงเงิน 6,600 ล้านบาท    มีกิจการร่วมค้า UN-SH-CH (กลุ่มบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, SINOHYDRO CORPORATION LIMITED , CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED ) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 46.35%

สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเเละอาคารจอดเเล้วจร  ประกอบด้วย งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง โรงซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุมการเดินรถ โรงจอดรถไฟฟ้าเเละอาคารจอดเเล้วจร วงเงิน 4,000 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า STEC-AS-3 (กลุ่มบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, A.S.ASSOCIATED ENGINEERING (1964) COMPANY LIMITED ) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 40.05%

สัญญาที่ 4  งานออกแบบควบคู่ก่อสร้างงานระบบราง ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  วงเงิน 28,000 ล้านบาท  มีกิจการร่วมค้า STEC-AS-4 (กลุ่มบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, A.S.ASSOCIATED ENGINEERING (1964) COMPANY LIMITED ) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 52.38%

 

6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก  ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.57 กิโลเมตร วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 92,532 ล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566 ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม 2.74%   (ณ เดือนกันยายน 2560)   โดยแบ่งออกเป็น 6 สัญญา ดังนี้

สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–รามคำแหง 12 ระยะทาง 6.29 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี วงเงิน 20,633,000,000 บาท  มีกิจการร่วมค้า CKST ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า  2.46%

สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12– หัวหมาก ระยะทาง 3.44 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 4 สถานี วงเงิน 21,507,000,000 บาท  มีกิจการร่วมค้า CKST ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 1.78%

สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก–บ้านม้า ระยะทาง 4.04 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี วงเงิน 18,570,000,000 บาท มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 4.92%

สัญญาที่ 4  งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงบ้านม้า–สุวินทวงศ์ ระยะทาง 8.80 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี วงเงิน 9,990,000,000 บาท มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 1.47%

สัญญาที่ 5  งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง โรงซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุม การเดินรถ โรงจอดรถไฟฟ้า บริเวณสำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 และอาคารจอดแล้วจร จำนวน 1 แห่ง บริเวณสถานีบ้านม้า) วงเงิน 4,831,243,222 บาท มีกิจการร่วมค้า CKST ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 1.25%

สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบราง (งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างงานระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–สุวินทวงศ์)   วงเงิน 3,690,000,000 บาท  มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 4.23%

7.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท  เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน   และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง

 

โครงการดังกล่าวมีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560   โดยมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

 

8.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง  ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร  วงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail)  โครงสร้างยกระดับตลอดสาย โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน   และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง

 

โครงการดังกล่าวมีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560   โดยมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

 

9.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 101,112 ล้านบาท  มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566  ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว    ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา(TOR) คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนธันวาคม 2560

 

10.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย  ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร   กำหนดเปิดให้บริการปี 2566  ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

 

11.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู  ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 13,700  ล้านบาท  มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ประมาณเดือนเมษายน 2561 

 

12.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา  ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร วงเงิน  11,900 ล้านบาท  มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ประมาณเดือนเมษายน 2561 

 

13.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน(บางขุนนนท์)-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร  วงเงินก่อสร้าง 121,000 ล้านบาท  มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2568   ขณะนี้ รฟม. กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารูปแบบการลงทุนและโครงการ   

 

14.โครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9  กิโลเมตร  วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสมของโครงการ