การขนส่งทางน้ำ

ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือ แหลมฉบัง ระยะที่ 3  : อยู่ระหว่างเสนอให้พิจารณา EIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม)

 

ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 : อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์  จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจ้างที่ปรึกษา

 

ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ  :  วันที่ 18 กันยายน 2560  ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่  และอยู่ระหว่างจัดทำประชาพิจารณ์โครงการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และวางผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ กองทัพเรือ  นอกจากนี้กรมเจ้าท่าได้อนุญาตให้มีการเดินเรือเฟอร์รี่เส้นทางพัทยา-หัวหินแล้ว

 

-โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท   เพื่อเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งตู้สินค้าและรถยนต์  โดยเมื่อโครงการในเฟส 3 เสร็จสิ้นแล้วจะมีศักยภาพรองรับจำนวนตู้สินค้าได้มากถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี(จากเดิม 7 ล้านTEUต่อปี)   และรองรับการส่งออกรถยนต์ 3 ล้านคันต่อปี  ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวขึ้นเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า ติดอันดับ 1 ใน 15 ของโลก เป็นประตูสู่อินโดจีน ศูนย์กลางโลจิสติกและศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญที่สุดของอาเซียน

 

 

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ

ที่ตั้งโครงการท่าเรือแหลมฉบังตั้งอยู่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ขนาด 6,340 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือที่เปิดให้บริการแล้ว ดังนี้

-ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 8 ท่า (A2, B1, B2, B3, B4, B5, C1, C2, C3)

-ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ เรือสินค้าทั่วไป และเรือสินค้าทุกประเภท 1 ท่า (A0, A3)

-ท่าเทียบเรือ Ro/Ro 1 ท่า (A5)

-ท่าเทียบเรือ Ro/Ro เรือสินค้าทั่วไป ตู้สินค้า 1 ท่า (C0)

-ท่าเทียบเรือโดยสาร และเรือ Ro/Ro 1 ท่า (A1)

-ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป ประเภทเทกอง 1 ท่า (A4)

-อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า

ปัจจุบัน (จากข้อมูลปี 2559) มีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือประมาณ 7 ล้านตู้ต่อปี และรถยนต์ประมาณ 1 ล้านคันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 70 ของขีดความสามารถของท่าเรือที่รองรับตู้สินค้าได้สูงสุดที่ประมาณ 11 ล้านตู้ต่อปี และรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี

 

 

สำหรับองค์ประกอบโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ประกอบด้วย

-ก่อสร้างท่าเรือตู้สินค้า 4 ท่า (ท่าเรือ E1 E2 F1 F2) ความจุ 7 ล้านตู้ต่อปี

-ก่อสร้างท่าเรือขนส่งรถยนต์ (RO-RO) ความจุ 1 ล้านคันต่อปี

-ก่อสร้างท่าเรือชายฝั่ง ความจุ 1 ล้านตู้ต่อปี

-ก่อสร้างสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระยะที่ 2 (SRTO2)

-ปรับปรุงระบบในการรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าทางรถไฟให้ได้ 4 ล้านตู้ต่อปี โดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation)

ทั้งนี้ โครงการจะสามารถเปิดดำเนินการอย่างช้าภายใน ปี พ.ศ. 2568 มีแผนการก่อสร้างแบ่งออกเป็นการโครงสร้างพื้นฐาน 5 ปี (ปี พ.ศ. 2561 – 2566) และการก่อสร้างท่าเทียบเรือและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่าย 3 ปี (ปี พ.ศ. 2565 – 2568)

ส่วนรูปแบบการลงทุนที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public private partnership: PPP) ซึ่งรายละเอียดอยู่ระหว่างการศึกษา โดยแผนการปฎิบัติงานเบื้องต้น (Preliminary Timeline)

1.ประกาศเชิญชวนนักลงทุน               พฤษภาคม พ.ศ. 2561

2.ให้เอกชนเตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอ สิงหาคม พ.ศ. 2561

3.ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก                    กันยายน พ.ศ. 2561

4.ลงนามในสัญญา                              ธันวาคม พ.ศ. 2561

5.เปิดให้บริการ                                                พ.ศ. 2568

 

ข้อมูลเพิ่มเติม  : www.laemchabangportphase3.com

 

 

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

 

วงเงิน 1.015 หมื่นล้านบาท  เพื่อเป็นท่าเรือสำหรับเรือสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลังงาน และรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงของประเทศ

โครงการตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร

 

 

สำหรับท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากลและเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด ในปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 43 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนสินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซประมาณร้อยละ 57 ถ่านหินประมาณร้อยละ 18 เคมีภัณฑ์ประมาณร้อยละ 16 และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 9 มูลค่าสินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งสิ้นประมาณ 430 ล้านบาท  โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย จำนวนท่าเทียบเรือให้บริการ 32 ท่า ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย

ปัจจุบันมีการใช้งานเต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ   เพื่อเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีก 19 ล้านตันต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

 

องค์ประกอบโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน ประกอบด้วย

-งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และ พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน

-งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร

-งานระบบสาธารณูโภค

-งานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3

สำหรับการพัฒนาเพื่อรองรับสินค้าเหลว สินค้าเทกองและสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ (1) ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร (2) ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร  (3) ท่าเทียบเรือบริการ (4) คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ 150 ไร่ (5) บ่อเก็บกักตะกอน 450 ไร่ และ (6) เขื่อนกันคลื่น 2 ช่วง ความยาวรวม 1,627 เมตร

มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นในงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 10,154 ล้านบาท โดยจะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) รายละเอียดอยู่ระหว่างการศึกษา

ส่วนแผนการปฎิบัติงานเบื้องต้น (Preliminary Timeline) มีดังนี้

  1. ประกาศเชิญชวนนักลงทุน มิถุนายน 2561
  2. ให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ กรกฎาคม 2561
  3. ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกตุลาคม 2561
  4. ลงนามในสัญญากุมภาพันธ์ 2561
  5. เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พ.ศ. 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม  : www.maptaphutport-phase3.com

 

 

-โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ

โดยจะส่งเสริมให้เป็นท่าเรือสำหรับจอดเรือสำราญที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลก รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเรือ และการประกอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน

สำหรับโครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ-กองทัพเรือ  มีพื้นที่ประกอบการบริเวณท่าเรือจุกเสม็ด  ให้บริการเป็นท่าเทียบเรือจำนวน 6  ท่า พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ซึ่งแผนพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบจะประกอบด้วยโครงการดังนี้

-โครงการศึกษา  สำรวจ และออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์พื้นที่  ทั้งด้านความมั่นคงและการส่งเสริมโครงการขนส่งของภาครัฐ

-โครงการก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ เพื่อเชื่อมต่อจุดท่องเที่ยวหลักและเชื่อมการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย  ด้วยการปรับปรุงท่าเทียบเรือหมายเลข 6 ท่าเรือจุกเสม็ด  เป็นสะพานท่าเทียบเรือกว้าง  13  เมตร  ยาว  75  เมตร จำนวน  2 สะพาน  โดยแต่ละสะพานสามารถเทียบเรือได้ทั้งสองด้าน

-โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับเรือเฟอร์รี่  พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 1 อาคาร  พื้นที่ประมาณ 20,000  ตารางเมตร

-โครงการปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ  เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่

-โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้  เพื่อให้บริการเรือสินค้าขนาดใหญ่ สามารถเข้าออกท่าเทียบเรือน้ำมัน ( ท่า POL )

-โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือน้ำมัน ( ท่า POL ) ให้สามารถรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise)

-โครงการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และท่าเทียบเรือเอนกประสงค์

-โครงการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการรองรับ  Multimodel  ให้เชื่อมโยงทุกระบบการขนส่ง  ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ  เพื่อรองรับการเป็น Logistics  Hub ของภาคตะวันออก

-โครงการจัดหาเครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงสำหรับกระจายสินค้า

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sattahipcommercialport.com

 

 

คลิกอ่านแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ

ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)