สนข.ร่วมมือ JICA ศึกษาและจะเสนอทิทางนโยบายการจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 (M-MAP 2 )  พร้อมเสนอให้ครม.รับหลักการภายในปีนี้ 

 

การจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560  ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 % ล่าสุดวันนี้(30 เม.ย. 2561)  กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือสนข. ร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศองญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA)จัดสัมมนา “The Blueprint for the 2nd Bangkok Mass Rapid Transit Master Plan  (M-MAP 2)” เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ทิศทางนโยบายการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตุกรุงเทพและปริมณฑลตามแผน ระยะที่ 1 (M-MAP1) โครงข่ายรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ส่งผลให้การพัฒนาเมืองและการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรค่อนข้างมากในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น การที่จะดำเนินการตามแผนแม่บทระยะที่ 2 (M-MAP 2) จะเป็นแผนโครงข่ายเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลักนั้นจำเป็นต้องศึกษาหรือสำรวจข้อมูลใหม่ ซึ่งจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ของโครงข่ายหลักตามแผน M-MAP1 สอดรับกับการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันและอนาคต

 

ทั้งนี้ การจัดทำแผนระยะ 2 มีเป้าหมายดังนี้

1.เน้นแผนโครงข่ายในกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเป็นลักษณะรถไฟ Missing Link  เพิ่มเติมโครงข่ายในกรุงเทพฯที่มีการเสนอคือ รถไฟฟ้าสายสีทอง สายสีน้ำตาล หรือสายสีเทา

 

2.เน้นโครงข่ายเชื่อมต่อระบบการเดินทางกับสถานีใหญ่ โดยทางญี่ปุ่นมีความเห็นตรงกันกับรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการเชื่อมต่อกับสถานีใหญ่ ไม่ว่าจะป็นรถไฟระหว่างจังหวัด รถไฟความเร็วสูง รถไฟในเมือง หรือรถไฟชานเมือง เป็นต้น โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้ในอนาคตยังต้องสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งทางน้ำด้วย

 

3.การดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตุกรุงเทพและปริมณฑลตามแผน ระยะที่ 1 ในปัจจุบันการเชื่อมต่อของสถานีนั้นยังไม่สมบูรณ์  ดังนั้น การที่จะดำเนินการตามแผนแม่บทระยะที่ 2 การออกแบบจะต้องเข้าถึงสถานี ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายในตัวอาคาร

 

4.การจูงใจการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยกระทรวงคมนาคมจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจะทำได้แค่ไหนอย่างไร

 

และ5.เน้นการเชื่อมต่อสนามบิน ( Global gateways)  เพื่อเป็นการรองรับการเดินทางทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งมีปริมาณนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากปัจจุบันปริมาณนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 32-35 ล้านคนต่อปี

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่รอบสถานีรถไฟ ซึ่งยอมรับว่าของไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากนัก ซึ่งจะมีการสำรวจรายละเอียด นำข้อมูลมาสรุปและจะดำเนินการต่อไป โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในอีก 3เดือน เบื้องต้นจะมีพื้นที่ 3 จุดหลักที่ต้องเน้น คือ พื้นที่บางซื่อ , พื้นที่มักกะสัน และพื้นที่บริเวณสถานีแม่น้ำ

 

“แผน M-MAP 2 ต้องการจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับหลักการภายในรัฐบาลชุดนี้ คือภายในปี 2561 เพื่อจะส่งมอบการพัฒนาโครงการในรัฐบาลชุดต่อไป” นายอาคมกล่าว พร้อมระบุว่า หลังจากนั้นในปี 2562 จะเริ่มลงสำรวจในแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละเส้นทาง ในปี 2563 อนุมัติเปิดและศึกษาความเป็นไปได้ในแต่ละโครงการ รวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  และในปี 2564-65 จะสามารถเริ่มต้นโครงการระยะที่ 2 ได้

 

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังกล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) นั้นคงนำเข้าดำเนินการตามแผนแม่บทระยะที่ 2 (M-MAP 2)  ซึ่งจากเดิมจะนำเข้าสู่แผน M-MAP1 ระยะทาง 22 กม.  * อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่>>บอร์ด คจร.อนุมัติสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม)  https://prop2morrow.com/2018/02/22

 

อย่างไรก็ดี ในงานสัมมนาดังกล่าวยังได้มีการเสนอเส้นทางตามอุปสงค์และอุปทานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (เน้นการให้บริการในที่ที่มีอุปทานสูง) อาทิ  1.เส้นที่เชื่อมโยงพื้นที่ศูนย์กลางย่านบางนา – สนามบิน ระยะทาง 33 กิโลเมตร(กม.) เพื่อบริการพื้นที่ในฝั่งตะวันออกและใต้  2.พื้นที่ส่วนต่อขยายสายสีเทา สู่ทางเหนือ เส้นนี้จะบริการประชาชนในพื้นที่โซนตะวันออก-เหนือ เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อสายสีเขียว เข้าเมืองได้สะดวกสบาย ระยะทาง 14 กม. 3. เส้นปทุมธานี (รังสิต-ธัญญะบุรี) จะเชื่อมต่อกับสายสีแดงเข้มและเข้าสู่เมืองได้สะดวกสบายระยะทาง 12 กม. เป็นต้น