วันแรกเอกชน 7 รายแห่ซื้อซองเอกสาร โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคึกคัก

 

วันนี้ (18 มิ.ย.2561) เป็นวันแรกที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ทำการขายซองเอกสารโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าซื้อซองเอกสาร (TOR)ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อซื้อซองเอกสารได้ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น.และ 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ราคาซองละ 1 ล้านบาท (หนึ่งล้านบาท)

 

สำหรับวันนี้มีเอกชนที่สนใจซื้อเอกสารโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันแรกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นทั้งเอกชนชาวไทยและต่างประเทศจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย  1) บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 2) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด  3)บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 4) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) 5)บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) 6) บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ7) บริษัท Sinohydro Corporation Limited

 

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) มีผู้ถือหุ้นคือ บริษัท ปตท. จำกัด  (มหาชน) หรือ PTT  และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ถือหุ้นฝ่ายละ 50%

 

โดยหลังจากทำการขายซองเอกสารเสร็จสิ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 จะมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 และครั้งที่สองวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ณ สโมสรรถไฟชั้น 2 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดย รฟท.จะนำผู้ยื่นข้อเสนอไปดูสถานที่ก่อสร้างของโครงการในวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 และจะเปิดให้มีการส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนระว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 9 ตุลาคม 2561 ในเวลาราชการ

 

สำหรับกำหนดการรับซองข้อเสนอจะมีขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561เวลา 09.00-15.00 น. โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับการซื้อซองเอกสารข้อเสนอมูลค่า 200 ล้านบาท และต้องชำระค่าธรรมเนียม การประเมินขอเสนอให้แก่ รฟท.เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ที่สำนักงานโครงการ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน และผู้ที่ยื่นเสนอผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้กับ รฟท.ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฎิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา

 

ทั้งนี้จากข้อมูล ที่ระบุใน www.eeco.or.th ถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ นั้นมีรายละเอียดดังนี้

 

ลักษณะโครงการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ) ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

 

โครงสร้างทางวิ่งของโครงการ ประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร 2) ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3) ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

 

การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในพื้นที่มักกะสันของ รฟท. ประมาณ 150 ไร่ ต้องเป็นการพัฒนาร่วมไปกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้ทันที

ที่ตั้งโครงการ

แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิมและมีการออกแบบใหม่เฉพาะบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า) โดยแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย 3 โครงการ คือ

 

1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Link and City Air Terminal: ARL)

2.โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท (ARL Extension)

3.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง

 

สภาพแวดล้อมที่ตั้งโครงการปัจจุบัน

ที่ตั้งโครงการปัจจุบันมีรถไฟที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ช่วงพญาไทถึงสนามบินสุวรรณภูมิ) รถไฟทางสาม (ช่วงหัวหมากถึงฉะเชิงเทรา) รถไฟทางคู่ (ช่วงดอนเมืองถึงยมราช และช่วงฉะเชิงเทราถึงแหลมฉบัง) และรถไฟทางเดี่ยว (ช่วงยมราชถึงหัวหมาก และช่วงแหลมฉบังถึงมาบตาพุด)

วัตถุประสงค์ของโครงการ

 

เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกรวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น

 

เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางระหว่างท่าอากาศยานเข้าสู่   เขตเมืองและเขตธุรกิจได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 

พัฒนาพื้นที่เพื่อสนันสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานาคร กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา

 

เป็นโครงการฯ ที่ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและลดอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีระบบควบคุมที่มีความปลอดภัยสูง จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้น้อยมาก

 

องค์ประกอบโครงการ

1.งานโยธา ประกอบไปด้วย ทางรถไฟยกระดับ ทางรถไฟใต้ดิน (อุโมงค์) สถานีรถไฟความเร็วสูง ศูนย์ซ่อมบำรุง

2.งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบไปด้วย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้ากำลังและไฟฟ้าเหนือศรีษะ ระบบสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบประตูกั้นชานชาลา ขบวนรถไฟฟ้า

3.การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟบริเวณสถานีมักกะสัน และสถานีศรีราชา

และ4.การเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ

 

ผลตอบแทนโครงการ

ผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับ

 

1.ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

2.การจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี

3.การจ้างงานระหว่างก่อสร้าง 16,000 อัตรา

4.ใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ (เหล็ก 1 ล้านตัน ปูน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร)

5.การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศ

6.ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจ ตลอดอายุโครงการ 652,152 ล้านบาท

– ผลตอบแทนทางการเงิน 127,985 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดของเอกชนร้อยละ 6.06 ใน 1-50 ปี และคิดลดด้วยอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.5 ระหว่างปีที่ 51-100)

– มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเศรษฐกิจ (รัศมี 2 กม.ตามเส้นทางรถไฟ) 214,621 ล้านบาท  (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจร้อยละ 3)

– ภาษีเข้ารัฐเพิ่ม 30,905 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจร้อยละ 3)

– มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 150,000 ล้านบาท

– ลดการใช้น้ำมัน เวลา อุบัติเหตุ และสิ่งแวดล้อม 128,641 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจร้อยละ 3)