รฟท. จัดเวที Q&A พร้อมพาผู้ซื้อเอกสารเดินสายลงพื้นที่ ชี้เป้าก่อสร้างจริง โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)เชื่อมสามสนามบิน

วันนี้ (23 ก.ค. 61) เวลา 09.10 น. ณ อาคารสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ครั้งที่ 1 เพื่อให้ข้อมูลโครงการ และเปิดเวทีให้ผู้ซื้อเอกสารได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนและข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ โดยมีเอกชนผู้ซื้อเอกสารทั้ง 31 ราย ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และสื่อมวลชนร่วมงาน กว่า 150 คน

 

นายวรวุฒิกล่าวว่าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกำหนดให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยเป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางระบบหลักเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ EEC และเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารสามท่าอากาศยานเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ท่องเที่ยว ให้เดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ตอบสนองความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทางถนน และทางเรือได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ระบบการขนส่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก การประชุมชี้แจงโครงการในวันนี้จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจลงทุนโครงการได้ซักถามข้อมูลอย่างละเอียด โดยจะมีวิทยากรตอบชี้แจงเบื้องต้นในที่ประชุม และจะตอบข้อซักถามดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไปด้วย

 

ภายหลังการประชุม รฟท.จะนำผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสารทั้ง 31 ราย ลงพื้นที่เพื่อชมสถานที่ก่อสร้างโครงการฯ ในวันที่ 24 และ 26 กรกฎาคม 2561 โดยในวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 จะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เช่น การก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การจัดการพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จากนั้นจึงนำชมสถานีมักกะสัน ทั้งจุด Check in บริเวณชานชาลาของ City Line และ Express Line การเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่นๆ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน (Depot) จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อให้เห็นรูปแบบการเดินทางอย่างเป็นระบบ ส่วนในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 จะเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดูสถานที่จริงตามแนวเส้นทางและจุดสำคัญต่างๆ ของโครงการฯ ทั้งบริเวณสถานีรถไฟลาดกระบัง สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรีและสถานีบ้านฉาง ตลอดจนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ รฟท. จะเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนตลอดจนตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2561 และกำหนดรับซองข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 – 15.00 น. ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะถือเป็นมิติใหม่และการเริ่มต้นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีศักยภาพและร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> รฟท.สรุปยอดเอกชนไทย-ตปท.31ราย แห่ซื้อเอกสารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> “ทศ จิราธิวัฒน์”เผยเหตุผล CPN ชิงไฮสปีดเทรน

** อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> บีทีเอส-ซีพี-อิตาเลียนไทย -เครือปตท.ซื้อซองไฮสปีดเทรน

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> ครม.เคาะแผนสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> บอร์ดอีอีซีเคาะแผนสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้านบาทเชื่อม 3 สนามบินรับอีอีซี