คลังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปี61ขยายตัวดีร้อยละ4.5 มีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐในกทม.-ปริมณฑล-ภูมิภาค  เชื่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีนไม่กระทบ ขณะที่ความผันผวนทางการเงินยังเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ-การพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค3กลุ่มใหญ่ ทั้งเร่งชงพ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ์ หวังเพิ่มมูลค่าภาคอสังหาฯ

 

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในฐานะประธานการเปิดงาน “อภิมหกรรมบ้าน-คอนโดฯและสินเชื่อแห่งปี2018” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่รัฐบาลยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาให้เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน เพื่อให้ภาคธุรกิจต่างๆ กลุ่มคนต่างๆภูมิภาคต่างๆเติบโตแบบหน้ากระดาน หรือที่เรียกว่า Inclusive Growth เห็นได้จากไตรมาส1/2561 เศรษฐกิจยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.8 ต่อปี เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการขยายตัวในระดับที่ดีมาก และขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการ  ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย และโรงแรม

 

นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชน การเร่งลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้เกิด Crowding-in effect ไปยังภาคเอกชนให้ร่วมลงทุน ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดูได้จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเครื่องชี้วัดด้านเสถียรภาพภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 1.5/ว่างงานต่ำประมาณร้อยละ1 ของกำลังแรงงาน/หนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 ของGDP ยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของGDP/หนี้ครัวเรือนยังไม่เกินร้อยละ80 ของ GDP แต่ที่ไม่น่าห่วงเพราะหนี้ก้อนใหญ่ๆ เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย  หนี้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและยานพาหนะ ส่วนหนี้บัตรเครดิตยังมีน้อย Net NPL ยังไม่ถึงร้อยละ 3 และอัตรากองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่มาก ขณะที่เสถียรภาพภายนอกพบว่า มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากกว่าร้อยละ10 ของ GDP และทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดีมาก แม้เราจะอยู่ภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ก็คงไม่กระทบมากนัก ส่วนในครึ่งปีหลัง ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังจะขยายตัวได้ดี โดยทั้งปี คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งมาจากปัจจัยภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งในปีนี้ได้วางงบเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในกทม.และภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ วึ่งจะเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย”นายวิสุทธิ์ กล่าว

 

 

นายวิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)คาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยในปี2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกทม.-ปริมณฑล  จะมีการขยายตัวร้อยละ 10.7 ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาค ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยการเติบโตของภาคอสังหาฯในเขตกทม.-ปริมณฑล จะเป็นอาคารชุดเป็นหลัก ขณะที่ภูมิภาคจะเป็นการเติบโตในตลาดทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยวเป็นหลัก คาดการณ์ว่าในปี 2561 ในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล จะมีหน่วยโครงการเปิดขายใหม่ประมาณ 117,100 หน่วย โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 107,800-128,800 หน่วย สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาคคาดการณ์ว่า จะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมประมาณ 111,300 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 79,900 หน่วย และโครงการอาคารชุด 31,400 หน่วย

 

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตของภาคอสังหาฯในเขตกทม.-ปริมณฑล คือ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีการเปิดให้บริการเดินรถช่วงบางซื่อ-เตาปูน แล้วตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2560โดยช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี2563,โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีกำหนดเปิดให้บริการในปี2563 ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2564 ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2564 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีล้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรแห่งประเทศไทย-มีนบุรี มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566

 

ส่วนปัจจัยบวกในภูมิภาค คือ รถไฟทางคู่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจอสังหาฯที่อยู่นอกเขตกทม.-ปริมณฑลต่างก็มีความคืบหน้า ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปี 2562-2566 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆอีก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ,โครงการมอเตอร์เวย์ ,โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือEEC ,โครงการสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุโดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน,โครงการSenior Complex สำหรับผู้สูงอายุ,มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด เป็นต้น  ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ธุรกิจอสังหาฯขยายตัวมากขึ้น

 

ขณะที่ความท้าทายสำคัญของภาคอสังหาฯคือ ความผันผวนทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ เพราะปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้การคาดการณ์ตัวแปรทางการเงินยากตามไปด้วย และความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ การตอบโจทย์ผู้บริโภคใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงาน ที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจถึงประมาณ 41.4 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) แต่มีอัตราการเพิ่มลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นกำลังซื้อ กำลังผ่อนชำระ และขนาดของที่อยู่อาศัยอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือจะต้องเป็นโครงการที่อำนวยความสะดวกสบาย ดังนั้นโครงการที่อยู่แนวรถไฟฟ้าจึงตอบโจทย์คนกลุ่มดังกล่าวได้ดีที่สุด แต่มีความต้องการสินเชื่อที่มีต้นทุนไม่สูงและสามารถผ่อนชำระได้ระยะยาว

 

2.กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีตัวเลขประมาณ 9.5 ล้านคน แต่กลับมีอัตราการเพิ่มเร็วมากติดอันดับต้นๆของโลก และไม่เกิน 10 ปี จะมีจำนวนแตะร้อยละ 20  ของประชากร โดยกลุ่มนี้มีความต้องการความสะดวกสบายตามสภาพร่างกาย และความสามารถในการผ่อนชำก็เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ส่วนบ้านแนวราบชั้นเดียว ชานเมืองน่าจะตอบโจทย์คนกลุ่มดังกล่าวมากที่สุด

 

3.กลุ่มคนมีรายได้น้อยและคนจน ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 11.4 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้รูปแบบของบ้านไม่ใช่ปัญหา แต่ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กำลังซื้อและความสามารถในการผ่อนชำระคือปัญหาสำคัญ ซึ่งจะต้องทำให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำเป็นพิเศษ และสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ โดยเฉพาะคนจนในเมือง

 

นอกจากนี้ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการเสนอพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ ซึ่งเป็นช่องทางให้นักลงทุนและประชาชนสามารถนำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์อิงสิทธิได้ โดยผู้ที่ได้สัญญาไปจะสามารถปล่อยเช่าต่อ ขาย โอน ให้กับบุคคลอื่น หรือตกทอดให้แก่ทายาทได้ ซึ่งหากกฏหมายดังกล่าวมีผลข้อบังคับใช้จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอสังหาฯ ผ่านการเพิ่มความคล่องตัวให้กับสัญญาเช่าอีกด้วย

 

ด้านนโยบายพัฒนาเมืองเป็น Green City เป็นแนวทางที่ ภาครัฐจะมุ่งเน้นการสร้างเมืองที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากมลพิษ และ Smart City หรือการสร้างเมืองอัจฉริยะที่เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัย และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการก้าวเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยการนำเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เป็นเมืองที่สะดวกสบาย ทั้งยังทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ดีมีสุขด้วยกัน ซึ่งได้เริ่มไปแล้วโครงการแรกที่จังหวัดภูเก็ต

 

นอกจากนี้ภาครัฐยังสนับสนุนให้มีการแชร์ข้อมูลระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกัน เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์การพัฒนาต่างๆได้อย่างแม่นยำและรอบคอบมากขึ้น ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องมองโจทย์ในอนาคตว่าจะเป็น Green City หรือ Smart City ได้อย่างไร จะมีส่วนสนับสนุน อย่างไร ตรงไหน และตอบโจทย์ปัจจุบันว่าเราจะช่วยคนหนุ่มสาว วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตัวเองอย่างไร