เดินหน้าผังเมืองรวมกทม.-ปริมณฑล พร้อมเพิ่มมาตรการทางผังเมือง ส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาโครงการ-ที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า  คาดมีผลบังคับใช้ 2562

นายมนตรี ศักดิ์เมือง

นายมนตรี ศักดิ์เมือง รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “แผนการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ” ในงานเสวนาเรื่อง “กรุงเทพจตุรทิศ : ผ่า! ผังเมืองใหม่ พลิกโฉมกรุงเทพฯ สู่มหานครโลก” จัดโดย บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด ว่า ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเดินหน้าแผน “ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ” เนื่องจากสถานการณ์ประชากรในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ประชากรในปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีประชากรแฝงในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มขึ้น หากไม่มีการควบคุมจะทำให้ภาคมหานครสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม และเกิดการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาการจราจรมากขึ้นด้วย

 

นอกจากนั้น กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศรวมถึงอาเซียน การพัฒนาโครงข่ายถนนจึงส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชุมชนเมือง และอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันขยายไปตามถนนสายหลักในจังหวัดโดยรอบ อย่างไรก็ตามโครงข่ายคมนาคมขนส่งในปัจจุบันยังขาดการเชื่อมโยงที่ดี

 

ในปัจจุบัน งานผังเมืองเป็นเรื่องที่รัฐบาลพูดถึงบ่อยครั้ง ทั้งในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และจัดการกิจกรรมการใช้พื้นที่ จากปัญหาการร่วมกันในการใช้พื้นที่ของหลายภาคส่วนที่แตกต่างกัน เช่น ความต้องการใช้พื้นที่บางส่วนอาจทำให้สูญเสียพื้นที่การเกษตรในการทำกิจกรรมซึ่งไม่สมควร กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดสรรการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมถึงเป็นการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย

 

ดังนั้นในการพัฒนาการวางผังเมืองกรุงเทพและปริมณฑล ต้องมีการกระจายศูนย์กลาง ( ) และต้องทำให้แต่ละศูนย์มีความเชื่อมโยงกัน มีระบบโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามเมื่อดูกติกาและข้อกำหนดของแต่ละศูนย์ในปัจจุบัน ยังมีความไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้บริเวณรอยต่อมีปัญหาได้

 

ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการร่างการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อยึดเป็นแม่แบบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปี 2561 นี้ ทั้งนี้ร่างผังเมืองฉบับใหม่จะมีข้อแตกต่างจากเดิม คือ จะไม่มีการบังคับใช้ต่อภาคประชาชน แต่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายเพื่อบังคับองค์กรของรัฐให้ยึดถือผังเมืองฉบับใหม่เป็นพื้นฐาน เพื่อเป็นการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ

**อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> แผนการจัดทาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ

นายศักดิ์ชัย บุญมา

ขณะที่นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการ สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการร่างผังเมืองฉบับใหม่ โดยมีหลักการและแนวคิดเบื้องต้นมาจากความต้องการปรับระดับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่จากการได้ประโยชน์จากการพัฒนารถไฟฟ้าเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในบางพื้นที่ อาทิ บริเวณพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเอกชน ประชาชน หรือผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่สำนักผังเมือง และคาดว่าช่วงกลางปี 2562 จะมีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ  ว่ามีความต้องการให้กรุงเทพมหานครมีผังเมืองอย่างไร ผ่านทางเว็บไซต์ ประมาณ 90 วัน หากไม่มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงอีก ก็คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ร่างผังเมืองฉบับใหม่ได้ภายในปี 2562

 

ทั้งนี้ มีแนวคิดที่จะเปิดพื้นที่ปิดล้อมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ จากโครงข่ายถนนที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามผังเมือง และการขยายถนนตามโครงข่ายเดิม แต่ต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมก่อนว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ใช้วิธีการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากจะกระทบต่อภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้มีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น

 

นอกจากนั้นจะมีการเพิ่มมาตรการทางผังเมือง ในประเด็นการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) เพิ่มเติมจากมาตรการเดิม คือ 1.) การจัดให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการสัญจรบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.) การจัดให้มีพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะริมแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะ และ 3.) การจัดให้มีพื้นที่สำหรับใช้เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน

 

รวมถึงจะมีการเพิ่มเติมมาตรการทางผังเมืองใหม่ๆ ได้แก่ ข้อกำหนดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development : PUD), การวางผังโครงการปรับปรุงพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Orient Development : TOD) และมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (Tranfer of Development Right : TDR) ด้วย

 

นอกจากนี้รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะในจุดเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญ เช่น สยาม บางหว้า ตลิ่งชัน ท่าพระ บางกะปิ โดยการเพิ่มระยะส่งเสริมการพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าจาก 500 เมตร เป็น 800 เมตร และ 1,000 เมตร  นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดศูนย์กลางคมนาคมบางซื่อ  การส่งเสริมย่านพระราม 9 การส่งเสริมพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ บริเวณเจริญกรุง การส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมือง 8 แห่ง ได้แก่ มีนบุรี ลาดกระบัง ศรีนครินทร์ บางขุนเทียน บางมด ตลิ่งชัน และสะพานใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชน ยังสามารถเสนอแผนในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้ โดยการรวมกลุ่มกันวางแผนพัฒนาพื้นที่เสนอให้กทม. เป็นผู้ดำเนินการ และ จะมีการตั้งกรรมการร่วมกันเพื่อดูแล บริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเมืองอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

**อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> ความคืบหน้าการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพ ฯ