นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเตรียมแนะธปท. กำหนดกฎเกณฑ์ชัดเจน ระบุเพิ่มวงเงินดาวน์เป็น 20 % กระทบตลาดคอนโดฯ เต็มสูบ  ส่วนบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปลอยตัว  ทั้งกำหนดผู้ซื้อที่ไม่มีภาระหนี้กู้บ้าน ต้องไม่รวมเป็นบ้านหลังที่สอง เชื่อหลังประกาศมาตรการส่งผลผู้ประกอบการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ ยอดโอนอาจไม่เป็นตามเป้า

 

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 นี้ จะเข้าไปรับฟังกฎเกณฑ์ใหม่ของการกำหนดวงเงินดาวน์การซื้อบ้านหลังที่ 2 และการซื้อบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะมีข้อเสนอแนะให้กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น การกำหนดความชัดเจนของประเภทสินค้า ที่ต้องมีการระบุให้ชัดเจน ซึ่งอาจจะกระทบกับกลุ่มสินค้าแนวราบที่เป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่มีผู้ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร อีกทั้งจะกระทบกับผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่เป็นคอนโดมิเนียม และต้องการเปลี่ยนเป็นอยู่โครงการบ้านจัดสรร ซึ่งมองว่าการเพิ่มวงเงินดาวน์จาก 10% เป็น 20% สำหรับบ้านจัดสรร ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นมาก และระยะเวลาการดาวน์โครงการบ้านจัดสรรเพียง 6 เดือน ซึ่งมีระยะเวลาสั้น จะมีผลกระทบหากเหมารวมโครงการบ้านจัดสรรไปด้วยส่วนผู้ซื้อบ้านที่ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเกณฑ์เดิมที่วางเงินดาวน์อย่างน้อย 20%

 

รวมไปถึงการกำหนดกฏเกณฑ์จะต้องมีการระบุเกี่ยวกับผู้ซื้อชำระเงินกู้ธนาคารหมดแล้วหรือซื้อบ้านเป็นเงินสด จะต้องไม่รวมเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งจะต้องนับเฉพาะการผู้ซื้อที่ซื้อบ้านหลังแรก และยังผ่อนธนาคารอยู่ และซื้อบ้านหลังที่ 2 และการทำสัญญาการวางเงินดาวน์ที่ยุติธรรมจะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่เกณฑ์ใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ ส่วนสัญญาที่เริ่มมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 จะต้องอนุโลมเป็นเกณฑ์เดิมไปก่อน เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งโดยในภาพรวมแล้วทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะระบุเงื่อนไขให้ชัดเจนและตรงจุด ไม่ควรที่จะออกเกณฑ์มาแบบเหมารวม

 

ทั้งนี้มองว่าโครงการคอนโดมิเนียมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าที่ซื้อโครงการคอนโดมิเนียมที่เป็นบ้านหลังแรกและหลังที่ 2 ที่ 50:50 ขณะที่โครงการบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัดก็จะกระทบตามไปด้วย เพราะการซื้อบ้านพักตากอากาศส่วนใหญ่ก็ซื้อเป็นบ้านหลังที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยที่แนวโน้มหลังจากวันนี้ที่เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมาในช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2561 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 จะทำให้การเปิดตัวโครงการใหม่ชะลอตัวลง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 นี้เป็นต้นไป และการโอนกระทบในปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าการโอนโครงการคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการหลายรายอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ โดยที่การโอนโครงการคอนโดมิเนียมทั้งตลาดในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000ล้านบาท/ปี

“เกณฑ์วางเงินดาวน์ใหม่จะทำให้ผู้ซื้อสับสนและกังวลใจ  ก็สงสัยว่าแบงก์ชาติเลือกเวลาการกำหนดมาตรการมาเหมาะสมกับงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 39 หรือไม่ เมื่อข่าวแบบนี้ออกมาชาวบ้านก็เกิดความสับสน อะไรที่ไม่เข้าใจก็จะ wait and see ไม่รู้ว่าแบงก์ชาติคุยกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะเมื่อตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบ ภาพรวมเศรษฐกิจก็จะกระทบตามไปด้วย  และการป้องกันของแบงก์ชาติก็ไม่รู้ว่าระวังมากเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับเมืองไทยยังไม่มีหิมะแต่เอาโซ่มารัดล้อรถ  หลังจากนี้ก็จะเห็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ชะลอการเปิดตัว เพราะการปรับ LTV (loan-to-value ratio) ใหม่ต้องใช้เงินดาวน์สูง และต้องรอดูลูกค้าตอบรับโครงการปัจจุบันอย่างไรบ้าง” นายอธิป กล่าวในที่สุด