โจนส์ แลง ลาซาลล์ฯ เผยภาพรวมตลาดคอนโดฯ ให้เช่าในกทม. ยังแข่งเดือด ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาบริการกลุ่มเพนท์เฮาส์เริ่มรองรับผู้เช่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องการห้องขนาดใหญ่ ค่าเช่าระหว่าง 250,000-350,000 บาท/เดือน ระบุถึงสิ้นปีมีห้องชุดเพนท์เฮาส์เพียง 1,590 ยูนิต คิดเป็นไม่ถึง 0.3 % มั่นใจยังเป็นสินทรัพย์ที่ดึงดูดนักลงทุน

 

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดคอนโดฯ ให้เช่าในกรุงเทพฯ ว่า  มีการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีโครงการใหม่ทยอยสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันบริษัทที่ปรึกษา และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโดฯ ในกลุ่มเพนท์เฮาส์ เริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอรองรับความต้องการของผู้เช่า และสถานการณ์ดังกล่าวนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น

 

โดยเพนท์เฮาส์ที่เสนอให้เช่าในกรุงเทพฯ โดยทั่วไป มีขนาด 4-5 ห้องนอนและพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 300 ตารางเมตร โดยมีค่าเช่าอยู่ระหว่าง 250,000-350,000 บาท/เดือน และมีผู้เช่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ต้องการเช่าห้องชุดขนาดใหญ่สำหรับเป็นที่พักอาศัยให้กับครอบครัว

 

“เพนท์เฮาส์ โดยทั่วไปหมายถึงห้องชุดที่อยู่ในชั้นบนสุดของอาคารคอนโดมิเนียม และมักมีขนาดที่ใหญ่พิเศษกว่ายูนิตอื่นๆ ทั่วไปในอาคารเดียวกัน ซึ่งด้วยคำจำกัดความนี้ ทำให้เพนท์เฮาส์ที่มีอยู่ คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนยูนิตคอนโดมิเนียมที่อยู่ทั้งหมดในตลาด” นางสุพินท์ กล่าว

 

ศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทย เจแอลแอล ระบุว่า ณ สิ้นปี 2561 นี้ กรุงเทพฯ มีห้องชุดคอนโดมิเนียมที่เป็นเพนท์เฮาส์จำนวนรวมทั้งสิ้นเพียง 1,590 ยูนิต คิดเป็นไม่ถึง 0.3 % ของจำนวนยูนิตคอนโดฯ ที่มีอยู่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยในช่วงระหว่างปี 2556-2561 มีจำนวนเพนท์เฮาส์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 80 ยูนิต โดยเพนท์เฮาส์ที่มีเสนอให้เช่าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในอาคารคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จมานานหลายปีแล้ว ซึ่งเจ้าของซื้อมาในราคาที่ไม่สูงเท่ากับเพนท์เฮาส์ในโครงการใหม่ๆ จึงยังคงสามารถได้รับผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าได้ในอัตราเฉลี่ยที่ 3 % ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่พบว่ามีการลงทุนซื้อเพนท์เฮาส์ในโครงการคอนโดฯ ใหม่เพื่อนำออกมาปล่อยเช่า โดยเฉพาะในโครงการระดับหรู เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่ไม่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน

 

นางสุพินท์ กล่าวว่า  โดยทั่วไปเพนท์เฮาส์จะมีราคาขายต่อตารางเมตรสูงกล่าวคอนโดฯ ยูนิตธรรมดา ประมาณ 20 % ในขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาขายทั้งคอนโดฯ ยูนิตปกติและเพนท์เฮาส์ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 30 % แต่ค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นเพียงไม่ถึง 10 % ดังนั้น ผู้ที่คิดจะซื้อเพนท์เฮาส์ในโครงการใหม่เพื่อปล่อยเช่าในขณะนี้ อาจได้รับผลตอบแทนการลงทุนไม่ถึง 1 %”

 

“แม้การซื้อเพนท์เฮาส์เพื่อปล่อยเช่าจะไม่เป็นที่นิยมในขณะนี้ แต่ความต้องการซื้อเพื่ออยู่เองยังคงมีอยู่สูง โดยผู้ที่ซื้อเพนท์เฮาส์ในโครงการใหม่ขณะนี้ มีทั้งผู้มีฐานะชาวไทยที่ซื้อเพื่อใช้เป็นบ้านหลังที่สองในย่านศูนย์กลางธุรกิจ เพิ่มเติมจากบ้านหลักในย่านชานเมือง และชาวต่างชาติที่ซื้อไว้เพื่อใช้เป็นที่พักในช่วงที่เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยอีกเหตุผลหนึ่งที่ซื้อเพนท์เฮาส์คือการต้องการเป็นเจ้าของยูนิตที่พิเศษที่สุดในโครงการซึ่งมีเพียงไม่กี่ยูนิตเท่านั้น” นางสุพินท์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่า แนวโน้มจำนวนเพนท์เฮาส์ จะไม่เพียงพอรองรับความต้องการของผู้เช่าจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ ยังคงมีชาวต่างชาติจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เข้ามาทำงานกับบริษัทข้ามชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศทั้งที่มีอยู่เดิมและที่เข้ามาเปิดใหม่ ในขณะที่ผลตอบแทนลงทุนจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดึงดูดใจให้มีการซื้อเพนท์เฮาส์ใหม่เพื่อปล่อยเช่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้มากที่สุดคือ เจ้าของเพนท์เฮาส์ในโครงการเก่าที่มีการปล่อยเช่าอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี เพนท์เฮาส์ในโครงการเก่าที่ขาดการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาที่ดีจะไม่ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้การเกิดภาวะขาดแคลนอาจไม่ได้หมายความว่า เจ้าของจะสามารถปรับค่าเช่าสูงขึ้นได้มากนัก เพราะผู้เช่ายังคงมีที่พักอาศัยทางเลือกอื่นๆ อีกมาก