ผู้ว่ากคช.เผยเตรียมสร้างโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ตามแผนแม่บท20ปี พร้อมเปิดกว้างผู้ประกอบการร่วมทุน คาดผลตอบแทนที่ 10-15% ระบุที่ดินแนวรถไฟฟ้าหลายทำเลเหมาะสม สร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อย ส่วนโครงการมิกซ์ยูสต้องสร้างทั้งที่อยู่อาศัยและCommercial ด้านรฟท.ทยอยนำที่ดินศักยภาพผุดบิ๊กโปรเจกต์

 

 ดร. ธัชพล กาญจนกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ผังเมืองใหม่-เมกะโปรเจกต์ : พลิกโฉมกทม.” ภายใต้หัวข้อ “ปรับปรุงผังเมือง เปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯอย่างไร” ว่า โครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในส่วนของกคช.มีโครงการขนาดใหญ่ในการสร้างที่อยู่อาศัย  ซึ่งตามแผนแม่บท 20 ปี มีแผนสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย จำนวน 5.8 ล้านครัวเรือน โดยส่วนของกคช.ต้องรองรับจำนวน 2.7 ล้านหน่วย ดังนั้นการพัฒนาจะต้องมีการเปิดกว้างในการร่วมลงทุน ซึ่งโครงการใหญ่ที่กคช.กำลังดำเนินการได้แก่ โครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดง ที่จะมีการสร้างที่อยู่อาศัย 36 ตึก มูลค่าโครงการกว่า 40,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในเฟสที่ 3 และ 4 บนเนื้อที่ 100 ไร่ จะมีการก่อสร้างอาคารไม่ต่้ำกว่า 30 อาคาร ส่วนนี้จะมีการเปิดกว้างในการร่วมลงทุน คาดว่าอัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ 10-15% เนื่องจากเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์

 

สำหรับโครงการบนที่ดินร่มเกล้า พื้นที่ 700-800 ไร่ จะจัดสรรมาดำเนินการ จำนวน 130 ไร่ พัฒนาเมืองรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ธุรกิจสตาร์ทอัพ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินอยู่ในผังสีเหลือง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย) ทำให้อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน(Floor Area Ratio : FAR) ในการก่อสร้างได้เพียง 1.5 เท่า อย่างไรก็ตามได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ทางกรุงเทพฯ ขอพิจารณาในเรื่องโอกาสปรับผังสี เนื่องจากเป็นแปลงที่มีศักยภาพสูง อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใกล้รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ซึ่งหากสามารถปรับผังสีได้เช่น สีน้ำตาล (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) จะมี FAR 7 เท่า ผังสีส้ม (เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) FAR 5 เท่า ก็จะทำให้มูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนน่าจะประมาณ 20% เนื่องจากทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

 

“ยังมีอีกหลายทำเล เช่น โซนลำลูกกา กม. 11 ที่สามารถสร้างที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้มีรายได้น้อยในการเข้าถึงการคมนาคม ซึ่งการพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูสนั้น จะต้องสร้างควบคุมไปทั้งที่อยู่อาศัยและCommercial  ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า กคช.ได้รับอานิสงส์จากการขยายของคมนาคม ทำให้ราคาที่ดินกคช.มีศักยภาพมากขึ้น”ดร. ธัชพล กล่าว

 

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ในส่วนของกรมทางหลวง ตามแผนแล้ว ภายใน 20 ปีของยุทธศาสตร์แล้วจะมีการลงทุนประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท ตามแผนจะขยายเส้นทางประมาณ 6,612 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการเปิดกว้างในการร่วมลงทุนด้วย

 

ขณะที่นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น แปลงที่ดินย่านบางซื่อ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่คาดว่าในเฟสแรกน่าจะเห็นความคืบหน้าในการเปิดให้บริการใกล้เคียงกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง(รังสิต-บางซื่อ) ที่มีแผนจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 ,ที่ดินแปลงพระราม 3 เนื้อที่ 273 ไร่ ตรงข้ามกับคุ้งบางกระเจ้า ที่กำลังศึกษาทำโครงการเกตเวย์ทางน้ำ และที่พักอาศัย มูลค่าการลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน 10-15% คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนในระยะ 8 ปี