ปี 2562 ก่อสร้างภาครัฐมีศักยภาพที่จะขยายตัวสูงกว่าปี 2561 จากแรงหนุนของ Mega Projects ทั้งกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงโครงการที่ได้รับการอนุมัติและมีความชัดเจนว่าจะได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้าที่มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 950,200 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมของการพัฒนารายพื้นที่ที่ภาครัฐเน้นเป็นยุทธศาสตร์

 

ประเด็นสำคัญปี 2562

  • โครงการก่อสร้างภาครัฐเริ่มเดินหน้าหลายโครงการทั้งกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง เช่น รถไฟทางคู่เฟสที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร  รวมถึงโครงการที่ได้รับการอนุมัติและมีความชัดเจนว่าจะได้รับการอนุมัติเพิ่มเติม อันสามารถก่อสร้างได้ในปี 2562 อาทิ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ EEC, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีม่วง รวมถึงรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่จะเริ่มก่อสร้างสายแรกเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
  • การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโครงการใหม่ในปี 2562 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกจะเป็นขั้นตอนการสรรหาผู้ชนะการประกวดราคาและโครงการต่างๆ น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง
  • ภายใต้เงื่อนไขที่การดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ไม่กระทบความคืบหน้าของการเบิกจ่ายโครงการ Mega Projects อย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเม็ดเงินเบิกจ่ายในโครงการ Mega Projects ในปี 2562 จะสูงกว่าในปี 2561 ซึ่งจะสนับสนุนให้มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐ (GDP ก่อสร้างภาครัฐ) ในปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปี 2561

 

นับตั้งแต่ที่ภาครัฐประกาศแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ระยะเร่งด่วน (Action Plan) ในปี 2559-2561 รวมถึงการเร่งรัดผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมจำนวนโครงการเป็นจำนวนมาก และมีเงินลงทุนรวมเป็นหลักหลายล้านล้านบาท ปัจจุบันหลายโครงการมีความคืบหน้า โดยมีโครงการที่สร้างเสร็จแล้วได้แก่ ท่าเทียบเรือ A ของท่าเรือแหลมฉบัง และในส่วนของงานโยธารถไฟฟ้าสายสีแดง และบางโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเช่น โครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 ทั้ง 7 เส้นทาง, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา ในส่วนของสัญญาที่ 1, รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครจำนวน 3 เส้นทาง อาทิ สายสีแดง, สายสีชมพู, และ สายสีเหลือง  ในขณะที่หลายโครงการมีความคืบหน้ามากขึ้นทั้งที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนแล้วและอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมที่จะเริ่มก่อสร้าง รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะได้รับอนุมัติในช่วงที่เหลือของปี สะท้อนถึงเม็ดเงินส่วนเพิ่มจากเงินงบประมาณประจำปีที่มีแนวโน้มจะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

สำหรับทิศทางการลงทุนและก่อสร้างของภาครัฐในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

ปี 2562 มูลค่าการก่อสร้างโครงการภาครัฐคาดขยายตัว

ตามแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันฯ

 

ในปี 2562 จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจมีช่วงเวลาที่ความต่อเนื่องของการดำเนินการโครงการต่างๆ อาจจะดำเนินการได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ข้างต้น อยู่ภายใต้แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น จึงเชื่อว่า โครงการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะได้รับการสานต่อหรือผลักดันให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่น่าจับตาคือ โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 ที่มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 950,200 ล้านบาทแสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมของการพัฒนารายพื้นที่ที่ภาครัฐเน้นเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคือ พื้นที่ EEC ที่มีโครงการรัฐเป็นมูลค่ารวมเกือบ 684,018 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 72 % ของมูลค่าโครงการที่อยู่ในแผนงานการก่อสร้างทั้งหมดของปี 2562 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ชนะการประกวดราคา อันประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามท่าอากาศยาน, โครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดเฟสที่ 3, และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับผ่าน พรบ.EEC

 

นอกจากนี้ในส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัตินอกเหนือจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ EEC แล้ว ที่สำคัญยังมีโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ ที่คาดว่าจะก่อสร้างเป็นเส้นทางแรกจากทั้งหมด 9 เส้นทาง รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ที่จะมีการประมูลภายในช่วงต้นปีและเชื่อว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เช่นเดียวกัน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2562 ภายใต้เงื่อนไขของการเลือกตั้ง และการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ไม่กระทบต่อความคืบหน้าของการดำเนินโครงการต่างๆอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงขั้นตอนการหาผู้ชนะการประกวดราคาของโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้ คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) เป็นจำนวนมาก โดยหากพิจารณาความเป็นไปได้ของเม็ดเงินเบิกจ่ายที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากโครงการที่กำลังก่อสร้างและโครงการใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง โดยแบ่งการเบิกจ่ายเป็นเฟสย่อยๆ ตามความก้าวหน้าของแต่ละโครงการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2562การเบิกจ่ายเงินของภาครัฐจาก Mega Projects สำคัญ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะสูงกว่าปี 2561 โดยการเร่งตัวของการเบิกจ่ายน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หรือหลังผ่านการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกแล้ว

 

ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าการเบิกจ่ายของภาครัฐในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในปี 2562 ที่เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่ทีี่ประมาณ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากหลายโครงการอยู่ในขั้นตอนที่ต่อเนื่องของการเบิกใช้เงิน ได้แก่ รถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ทั้ง 7 เส้นทาง, รถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังมีการเบิกจ่ายในส่วนของงานโยธาสถานีกลางบางซื่อ ขณะเดียวกันก็มีโครงการอีกกลุ่มหนึ่งที่คืบหน้ามาถึงจังหวะที่จะเริ่มก่อสร้างและเริ่มเบิกจ่ายเงินในปี 2562 ได้แก่ รถไฟทางคู่เฟสที่ 2 เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง, และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ภาครัฐต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในข้อกำหนดด้านความโปร่งใสในการก่อสร้างรัฐ (Construction Sector Transparency Initiative: CoST) ของกรมบัญชีกลาง และการเตรียมการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFFIF) ขณะที่โครงการต่างๆ อยู่ในช่วงเริ่มต้นด้วย จึงทำให้การเบิกใช้เงินในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกัน การประเมินเม็ดเงินก้อนนี้ ได้คำนึงถึงเงื่อนไขการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการหลักในพื้นที่ EEC ที่เป็นรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเงินลงทุนก่อสร้างจะไม่ได้มาจากภาครัฐแต่ภาคเอกชนที่ชนะการประกวดราคาจะเป็นผู้ลงทุนเป็นหลักแล้ว

จากมูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐอันประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ งบลงทุนจากรายจ่ายงบประมาณประจำปีซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าในปี 2562 น่าจะเบิกจ่ายได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับในปี 2561 และอีกส่วนคือมูลค่าการเบิกจ่ายของภาครัฐในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2562 ภายใต้เงื่อนไขทั้งในประเด็นการเลือกตั้ง และ ขั้นตอนกระบวนการสรรหาผู้ชนะการประกวดราคามีความลงตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่ามูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐ (GDP ก่อสร้างรัฐ) ในปี 2562 อาจมีศักยภาพของการเติบโตที่สูงกว่าปี 2561

 

แน่นอนว่า ในปี 2562 แนวโน้มที่ดีของเม็ดเงินก่อสร้างจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบที่สูงขึ้นกว่าปี 2561 นี้จะมีบทบาทกระตุ้นห่วงโซ่อุปทานทั้งในส่วนต้นน้ำ คือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มปลายน้ำคือกลุ่มผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเมินต่อไปในช่วงปีถัดๆ ไป หรืออย่างน้อยในปี 2563 ที่คาดว่าการเบิกจ่ายเงินสำหรับการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นอีก บนสมมติฐานที่ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีการผลักดันโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ภายใต้สถานการณ์ที่ต้นทุนทางการเงินในประเทศมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีข้างหน้า