สนข.เผยโครงสร้างระบบราง ส่งผลประโยชน์กับประชาชน ช่วยลดต้นทุนเดินทาง ระบุแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี (2561-2580) กรอบวงเงินทะลุ  2.02 ล้านล้านบาทแล้ว จาก 44 โครงการ มั่นใจไม่มีรัฐบาลชุดไหนเพิกถอนได้ ด้านรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง จะเป็นตัวแปรเกิดเมืองใหม่ตอนปลายสถานี

 

นายวิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนการขนส่งหลักไปสู่ระบบรางมากขึ้น ระบบรางจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบชุมชน รอบๆสถานีจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จากปัจจุบันที่ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานของไทย จะพึ่งพาทางโครงสร้างถนนสูงถึง 467,221 กิโลเมตร ในขณะที่ทางราง มีเพียง 4,044 กม.ทั้งนี้ การให้น้ำหนักโครงสร้างระบบราง จะมีผลประโยชน์กับประชาชน ช่วยลดต้นทุนในการเดินทาง ต่างกับการโครงสร้างถนน ที่เป็นเรื่องของการตัดถนน ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่ม เอกชนรายใดมีกำลังซื้อ ก็จะได้โอกาสในการลงทุน

 

 

“ปัจจุบัน เรามีแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี (2561-2580) โดยสภานิติแห่งชาติ(สนช.)รับทราบหลักการ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละโครงการที่อยู่ในแผนต้องใช้เวลาดำเนินการ 6-10 ปี คิดว่า โครงการต่างๆ เดินนโยบายโดยรัฐบาลชุดนี้ และคิดว่า รัฐบาลไหน ก็อาจจะไม่เข้ามาปรับปรุง เพราะมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว และแต่ละโครงการมีมูลค่าสูงมากๆ เป็นที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้กรอบวงเงินได้ทะลุ  2.02 ล้านล้านบาทไปมากแล้ว จาก 44 โครงการ แบ่งเป็นได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (Private Partnership :PPP) คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแล้ว 21 โครงการ และที่เหลืออีก 23 โครงการ ประกวดราคาแล้วเสร็จ/เริ่มก่อสร้างได้ /พร้อมเปิดให้บริการ”นายวิจิตต์ กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม โครงการแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง ระยะเร่งด่วน 4 เส้นทาง 1,248 กิโลเมตร  โดยเฉพาะเส้นที่จะหาผู้เข้ามาลงทุนคือ กรุงเทพฯ-ระยอง รวม260 กิโลเมตร โดยระยะที่ 1 รถไฟเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ระยะทาง 220 กิโลเมตร และระยะที่2 คืออู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 40 กิโลเมตร เป็นเส้นที่มีการแข่งของบริษัทเอกชนรายใหญ่ เนื่องจากเป็นเส้นที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯมาก ซึ่งเป้าหมายสำคัญ จะมีการเปลี่ยนแปลงการเกิดเมืองใหม่ตอนปลายของสถานี ขณะที่ สถานีบางซื่อ จะเป็นศูนย์กลาง(ฮัป)ที่เชื่อมการเดินทางไปสู่ทุกประเทศทั่วโลก   ขณะที่อีก 3 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (253 กิโลเมตร), กรุงเทพฯ-พิษณุโลก (380 กิโลเมตร) และนครราชสีมา-หนองคาย (355 กิโลเมตร)