วันนี้ (6 ธ.ค.61) เวลา 07.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดทดลองให้บริการ เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารจังหวัดสมุทรปราการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ร่วมพิธี ณ โรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสมุทรปราการ จากนั้นเวลา 07.30 น. นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงาน และสื่อมวลชน โดยสารรถไฟฟ้าจากศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ไปยังสถานีเคหะสมุทรปราการ

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นโครงการรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอด เส้นทาง ระยะทาง 13 กม. จำนวน 9 สถานี ประกอบด้วย สถานีสำโรง E15 สถานีปู่เจ้า E16 สถานีช้างเอราวัณ E17 สถานีโรงเรียนนายเรือ E18 สถานีปากน้ำ E19 สถานีศรีนครินทร์ E20 สถานีแพรกษา E21 สถานีสายลวด E22 และสถานีเคหะฯ E23 เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการ ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร บีทีเอส ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง บริเวณ ซอยสุขุมวิท 107 ไปตามแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ แนวจะเปลี่ยนจากเกาะกลางไปทางทิศตะวันตก ของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเปลี่ยนกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวดจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อย บางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตกและลดระดับเพื่อเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง

ในส่วนการก่อสร้างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เริ่มการก่อสร้างงานโยธาและ งานรางตั้งแต่ต้นปี 2555 จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยประมาณต้นปี 2560 จากนั้นกรุงเทพมหานคร ได้เริ่มเข้าดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเมื่อเดือนต.ค.2559 และสามารถเปิดเดินรถได้ 1 สถานีที่สถานี สำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ในส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในเดือน ต.ค.-พ.ย.2561 เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีความพร้อมและมีความปลอดภัยสำหรับการเปิดใช้งานให้บริการแก่ประชาชน

 

สำหรับ ศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการมีพื้นที่ประมาณ 123 ไร่ ในพื้นที่ประกอบด้วย อาคารบริหารและศูนย์ควบคุม การปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอดรถไฟฟ้า รางทดสอบ และอาคารประกอบอื่นๆ

นอกจากนี้ รฟม. ได้จัดให้มีอาคารจอดรถแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีปลายทางเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ สามารถจอดรถรวมกันได้ประมาณ 1,200 คัน

 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยบีทีเอสได้ทดสอบการเดินรถ อย่างต่อเนื่อง ทั้งใช้รถขบวนเก่าและรถขบวนใหม่ 3 ขบวน เพื่อให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี 4 เดือน ตั้งแต่ วันที่ 6 ธ.ค.2561 ถึงวันที่ 15 เม.ย.2562 ระหว่างเวลา 06.00-24.00 น. พร้อมทั้งหารือกับทางบีทีเอส เพื่อกำหนดอัตราค่โดยสารเบื้องต้น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้เพดานค่าโดยสารทั้งโครงการส่วนแรกในสายสุขุมวิท สายสีลม และส่วนต่อขยาย สูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งต้องได้ข้อสรุปก่อนเปิดเดินรถจริงในเดือนเม.ย.2562 หลังการทดลองเสร็จสิ้น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.61 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการจำหน่ายและโอนทรัพย์สินของโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ (ใต้) แบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งเป็นผล สืบเนื่องมาจากการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวงคมนาคม รฟม. และ กทม. ว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 เรื่อง การมอบหมายให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2559 และจากการประสาน ความร่วมมือกันของทุกฝ่ายส่งผลให้กระทรวงคมนาคม รฟม. และ กทม. สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และนำมาสู่ การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อให้ กทม. สามารถบริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่งสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ในระหว่างที่กระบวนการโอนกรรมสิทธิ์ยังอยู่ในระหว่าง การดำเนินการ โดยบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขและหน้าที่ระหว่าง รฟม. และ กทม. ได้แก่ การจำหน่ายทรัพย์สินและที่ดินของโครงการ การโอนภาระทางการเงินของโครงการ และภาระผูกพันกับหน่วยงานอื่นให้กับ กทม. นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย