“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รมช.คมนาคม เปิดตัวโครงการ “Smart Community”ตามแผนแม่บท ทกท.หวังย้ายประชาชนชุมชนคลองเตยออกนอกพื้นที่กว่า 199 ไร่ 12,000 ครัวเรือน เปิด 3 แนวทางเลือกต่อ 1 สิทธิ์ ภายใต้งบ 12,000 ล้านบาท  หวังเป็นโมเดลต้นแบบให้หน่วยงานราชการอื่น พร้อมเร่งดันงานก่อสร้างอาคารแรกแล้วเสร็จในปี 2562 คาดเคลียร์พื้นที่จบเดินหน้าพัฒนาระบบท่าเรืออัตโนมัติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้า-เมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก

 

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการ “พัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย” หรือ “Smart Community”เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบ ทกท. ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการต่างๆ กทท. จึงได้เร่งเดินหน้าพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทฯ โดยให้ผู้ที่พักอาศัยในชุมชนคลองเตย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ชุมชนในพื้นที่ของ กทท. จำนวน 26 ชุมชน ชุมชนใต้ทางด่วน  5 แห่ง จำนวนประมาณ 12,000 ครัวเรือน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สถาบันการศึกษา และอื่นๆในพื้นที่รวม 199 ไร่เศษ มีสิทธิเลือกรับสิทธิประโยชน์จากโครงการได้ 1 สิทธิ จาก 3 ทางเลือก  ได้แก่

ทางเลือกที่ 1.พื้นที่บริเวณโรงฟอกหนัง(เดิม) กระทรวงกลาโหม จำนวน 58 ไร่ ตั้งอยู่ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง พัฒนาเป็นอาคารพักอาศัยสูง 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร เป็นห้องขนาด 33 ตารางเมตร (ตร.ม.)อาคารละ 1,536 ยูนิต รวมทั้งสิ้น 6,144 ยูนิต โดยแต่ละอาคารมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1,500 ล้านบาท (ลบ.)ส่วนอาคารส่วนกลางที่เป็นสถานที่ราชการสำนักงานต่างๆ รวมถึงพื้นที่ให้เช่าภายในอาคาร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกกับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการฯ พร้อมด้วยอาคารจอดรถส่วนกลาง เพื่อให้บริการแก่ผู้พักอาศัย อาคารตลาดหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เช่าขายสินค้า  (Community Mall) โรงเรียน รวมถึง อาคารอเนกประสงค์อื่นๆ และพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน โดยทั้งโครงการคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ด้านการก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีเศษจึงจะแล้วเสร็จ

 

“เราต้องการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นอาคารที่พักอาศัยทรงสูง สำหรับรองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ (Smart Community) เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนคลองเตยในอนาคต เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ทันสมัย รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชมชนให้มีมาตรฐานและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเสมอภาคในสังคม อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่ง ของศูนย์กลางเมืองใหม่ในใจกลางเมือง (New Urban Core Development)”นายไพรินทร์ กล่าว

 

ส่วนทางเลือกที่ 2 คือ ที่ดินเปล่า ขนาด 19.5 ตารางวาพร้อมโฉนด ในพื้นที่การเคหะหนองจอก มีนบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 2,140 แปลง จากทั้งหมด 214 ไร่ ซึ่งซื้อมาเมื่อปี 2537 ในราคาตารางวาละ 3,500 บาท  ปัจจุบันราคาที่ดินพุ่งสูงไปที่ 10,000 บาท/ตารางวา  สามารถปลูกเป็นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กและทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นการให้อยู่ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

 

 

ทางเลือกที่ 3 คือ การจ่ายเงินทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อใช้กลับไปบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีประมาณ 500 ครัวเรือน ที่ขอเลือกกลับภูมิลำเนาค่อนข้างมาก เพราะต้องการเงินทุนปเริ่มต้นครอบครัวใหม่ ดังน้ันจึงจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ เนื่องจากหากยึดรูปแบบของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)จะกำหนดจ่าย 400,000บาทต่อครัวเรือน ซึ่งยังไม่สามารถสรุปข้อมูลได้

 

ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนั้นจะใช้เม็ดเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยหลังจากที่เปิดตัวโครงการดังกล่าวแล้ว ทางกทท.จะเริ่มเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจสำมะโนประชากร รับฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนารถไฟสำหรับชุมชนเพื่อเชื่อมกับพื้นที่ภายนอกด้วย โดยจากนี้ไปจะนำรถไฟสายเก่าที่เคยขนส่งน้ำมันดิบจากกำแพงเพชรมาที่คลังน้ำมันบางจาก มาปรับเป็นรถไฟชุมชนวิ่งส่งผู้อยู่อาศัยในโครงการไปยังพื้นที่พระราม4 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานมาก  เชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทั้งหมดที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้สุขลักษณะ ,มลพิษ และยาเสพติด เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการตัวอย่างสำหรับหน่วยราชการอื่นที่ยังมีปัญหาในเรื่องของชุมชมแออัดและการบุกรุกที่ดิน  ได้ดูเป็นแบบอย่าง ซึ่งทางคสช.ได้แสดงให้ประชาชนได้เห็นถึงความตั้งใจในการที่จะแก้ปัญหาและยกระดับการครองชีพในการอยู่อาศัย และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเร่งการก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้มีความชัดเจนและประชาชนได้จับต้องอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

 

“เรื่องนี้ทางฝ่ายจัดการจะนำเสนอบอร์ดของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเร็วๆนี้ แต่ในด้านของแผนงานก่อสร้างอาคารชุดนั้นค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ต่อไปก็จะเป็นเรื่องการออกแบบรายละเอียดและการประมูลงานก่อสร้าง ซึ่งตามแผนจะต้องดำเนินการได้ในปี2563 แต่ถ้าหาสามารถเร่งให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแรกได้ในปีนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการสำรวจสำมะโนประชากร คาดว่าจะไม่เกิน 6 เดือน เชื่อว่าเมื่อโครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาได้ก็จะทำให้กทท.มีรายได้เพิ่มมากขึ้น”นายไพรินทร์ กล่าวในที่สุด

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ด้านเรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ในเบื้องต้นหากชาวชุมชนบางคนยังคงกังวลใจเกี่ยวกับการขึ้นอยู่อาศัยอาคารสูง เนื่องจากปัจจุบันอยู่อาศัยในที่ราบและในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบ จำนวนสมาชิกในครอบครัวหลายคน อาชีพการงาน  ที่เหมาะสม ซึ่งการท่าเรือฯ ได้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชุมชนและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วย   โดยประสานประโยชน์ของแต่ละฝ่ายได้ คาดว่าจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ เพราะทำเลที่ตั้งของโครงการ อยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา โรงพยาบาล ศูนย์การค้า หน่วยงานราชการ และใกล้ระบบขนส่งมวลชน รวมถึงในอนาคต จะมีระบบการคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น ด้วยระบบการเดินทางโดยรถโมโนเรล จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT คลองเตย ไปสิ้นสุดปลายทางที่โครงการ Smart Community ด้วย

ขณะนี้ในพื้นที่ดังกล่าวมีเนื้อที่ 199 – 3 – 73.80 ไร่ คิดเป็น 8.41 % ของพื้นที่ทั้งหมดของ การท่าเรือฯ จำนวน 2,353 ไร่ มีชุมชนรวม 26 ชุมชน ประมาณ 12,000 หลังคาเรือน สำหรับผู้ที่พักอาศัยในชุมชนคลองเตย ผู้มีสิทธิสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์จากโครงการ ได้ 1 สิทธิ จาก 3 ทางเลือก โดยต้องเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยการเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ใหม่นั้นจะพิจารณาตามลำดับความเร่งด่วน  ซึ่งหลังจากนี้จะเริ่มทำการสำรวจสำมะโนประชากร พร้อมทำความเข้าใจกับชุมชุม ซึ่งข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า ทางเลือกที่1 มีสัดส่วนประมาณ 50%  ทา งเลือกที่ 2 สัดส่วน 30% และทางเลือกที่ 3สัดส่วน 20%

 

“การให้ประชาชนในชุมชนเข้าไปอยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่จะให้อยู่อาศัยฟรี แต่อาจจะต้องเสียค่าส่วนกลาง แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ซึ่งอาจจะนำโมเดลของกรมธนารักษ์มาใช้ในการบริหารจัดการ โดยอาจจะเป็นการให้อยู่อาศัย 30 ปี บวก 30 ปี ซึ่งสามารถโอนต่อให้ทายากได้ แต่ไม่สามารถทำการซื้อขายต่อได้ ซึ่งในส่วนของอาคารชุดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ออกแบบ และอยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เมื่อผ่านแล้วจึงจะจัดการเรียกผู้รับเหมาก่อสร้างมาประมูลราคาต่อไป”เรือโทกมลศักดิ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจาให้หน่วยงานภาครัฐจาก 2 กระทรวง รวม 6 หน่วยงาน ซึ่งใช้ที่ดินของกทท.เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน แบ่งเป็นหน่วยงานจากกระทรวงกลาโหม 3 หน่วยงาน และจากกระทรวงอุตสาหกรรม 3 หน่วยงาน เพื่อขอคืนพื้นที่ แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการเคลียร์พื้นที่ของกทท.ทั้งหมด อย่างน้อยประมาณ 10 ปี

 

“หากจะเคลียร์พื้นที่ได้ทั้งหมด ก็มีแผนที่จะทำเป็นท่าบริการสินค้าขาเข้า-ออก ของกทท. รวมไปถึงท่าเรืออัตโนมัติ และพื้นที่อีก 400 ไร่ ก็มีแผนที่จะพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ต และพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ซึ่งจะพัฒนาเทียบเท่ากับ ไอคอนสยาม และเอเชียทีค เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ”เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวในที่สุด

 

อนึ่ง พื้นที่ชุมชนคลองเตย เริ่มมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2510 และมีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการมาเป็นระยะๆสำหรับการให้ย้ายออก