สมาคมการผังเมืองไทย รับทุนสกว.วิจัยโครงการทดสอบรูปแบบพัฒนาเมือง นำโมเดล“Smart Growth จากสหรัฐฯ นำร่อง 12 จังหวัดต้นแบบ ลงพื้นที่ระดมสมองภาครัฐ-เอกชน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ล่าสุด “อุดรธานี”ขานรับเป็นธงนำ เตรียมเซ็นMOU “กฎบัตรอุดรธานี” 7 มี.ค.62 นี้ ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จาก 22 เท่า เหลือ 15 เท่าในปี 72

 

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย  เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สมาคมฯได้รับทุนวิจัย “การสร้างกลไกการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม” จากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อทดสอบรูปแบบการพัฒนาเมือง ที่ต่างจากหน่วยงานอื่น ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง โดยใช้รูปแบบ“Smart Growth” จากสหรัฐอเมริกา มาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินการ ด้วยการระดมความคิดจากหน่วยงานราชการและเอกชนในแต่ละพื้นที่  โดยกำหนด 12 จังหวัดในการวิจัยเรื่องดังกล่าว  ระยะเวลา 3 ปี ได้แก่ 1.จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่บริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ 2.จังหวัดสุโขทัย พื้นที่บริเวณตลาดโต้รุ่งในเขตเทศบาลเมือง 3.จังหวัดสระบุรี พื้นที่บริเวณถนนสุดบรรทัด 4. จังหวัดระยอง พื้นที่บริเวณตลาดโต้รุ่งเทศบันเทิง 5.จังหวัดอุดรธานี พื้นที่บริเวณย่านยูดี ทาวน์ และถนนประจักษ์ศิลปาคม 6.จังหวัดขอนแก่น พื้นที่บริเวณย่านสามเหลี่ยมและกังสดาล ติดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

7.จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ถนนแจ้งสนิทบริเวณมหาวิทยาราชภัฏอุบลราชธานี 8.จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่บริเวณคูเมืองเก่า 9.จังหวัดสงขลา พื้นที่บริเวณถนนธรรมนูญวิถี 10.จังหวัดภูเก็ต พื้นที่บริเวณถนนเจ้าฟ้า-เมืองใหม่เจ้าฟ้า  11.จังหวัดนนทบุรี พื้นที่เวณถนนสนามบินน้ำ ตั้งแต่สี่แยกพระนั่งเกล้า-กระทรวงพาณิชย์ และ12.จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่บริเวณถนนเศรษฐกิจและตลาดมหาชัย

 

ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มโครงการมาแล้วประมาณ 5 เดือน ซึ่งการดำเนินการจะเริ่มจากการพัฒนาถนนสีเขียว,ปลูกต้นไม้ใหญ่ย่านใจกลางเมือง, การพัฒนา Street Food, Night Markets,ตลาดการเกษตรรูปแบบใหม่,การค้าปลีก ,การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและหน้าร้าน โดยทั้งหมดนี้ทางสมาคมผังเมืองไทยจะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบให้ทั้งหมด และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ จะช่วยสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน

แต่ทั้งนี้จะมีบางจังหวัดที่มีศักยภาพอาจจะร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa,สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau :TCEB) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการพัฒนาฟื้นฟูเมืองให้เป็น  Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions : MICE อาทิ อุดรธานี,ขอนแก่น,เชียงใหม่,สระบุรี,ระยอง,สงขลาและภูเก็ต

 

ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่หารือกับตัวแทนองค์กรในทุกจังหวัดแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดี โดยขณะนี้จังหวัดอุดรธานีถือว่ามีความพร้อมและรวดเร็วในการพัฒนาฟื้นฟูเมืองมากที่สุด โดยในวันที่ 7 มีนาคม 2562 นี้ จะมีการประชุมกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชน จังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินนโยบายในขั้นตอนแรก คือเตรียมการกำหนดเป้าหมายและร่วมลงนามจัดทำ “กฎบัตรอุดรธานี” หรือ “Udonthani Charter” และขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้

 

“ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่าง “กฎบัตรอุดรธานี” คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนมกราคม 2562 นี้ และจะเริ่มมีการประชุมกลุ่มย่อยเตรียมการจำแนกรายสาขาในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจัดประชุมใหญ่เพื่อการลงนามความร่วมมือ(MOU)ขับเคลื่อนเป้าหมาย “กฎบัตรอุดรธานี” ระหว่างผู้รับผิดชอบแต่ละสาขา จังหวัด เทศบาล องค์กรเครือข่ายแนวร่วมทั้งหมด โดยมีบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด เป็นแกนกลาง ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 เวลา 09.00-16.30 นี้”นายฐาปนา กล่าว

 

นายฐาปนา กล่าวเพิ่มเติมว่า  ได้กำหนดทำข้อตกลงร่วมการขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี โดยจำแนกเป้าหมายการพัฒนาใน 7 สาขา  ประกอบด้วย 1.สาขาการประชุมและนิทรรศการ (MICE) กำหนดเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของศูนย์ประชุมและนิทรรศการ จากปัจจุบันจังหวัดอุดรธานีมีศูนย์การประชุมของมหาวิทยาลัยราชภัฎรองรับการประชุมได้ 5,000 คน โรงแรมเซ็นทารา รองรับได้ 7,000 คน และศูนย์ประชุมยูดีทาวน์ซึ่งจะเปิดให้บริการระยะแรกในเดือนพฤษภาคม 2562 รองรับได้ 12,000 คน รวมความสามารถรองรับการประชุมได้ 24,000 คน โดยเป้าหมายในปี 2572 อุดรธานีจะต้องลงทุนเพิ่มเติมให้สามารถรองรับการประชุมได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อเป็นศูนย์การประชุมของโครงการพัฒนาความรวมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS)

 

2.สาขาโรงแรมและที่พัก กำหนดเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของจำนวนห้องพักไม่น้อยกว่า 3 เท่าจากปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของเครือข่ายตลาด international hotel chain พร้อมด้วย international tourism agency ที่ต้องเพิ่มขึ้นรองรับการท่องเที่ยวและการพำนักในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยเน้นความเข้มข้นของโรงแรม 70% ในพื้นที่พัฒนาพิเศษไมซ์ หรือ MICE Special Districts หรือ MSD

 

3.สาขาการคมนาคมขนส่ง กำหนดการลงทุนเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนรองครอบคลุมพื้นที่เมืองและหน่วยบริการรองเพื่อธุรกิจ MICE โดย บริษัท อุดรพัฒนาเมือง จำกัด ทำหน้าที่ในการลงทุนระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจากการประมาณการจะมีการลงทุนระบบขนส่งมวลชนจำนวน 300 ล้านบาทในช่วงแผน 5 ปีต่อจากนี้  นอกจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยจะลงทุนพัฒนาสถานีรถไฟความเร็วสูงจังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานีจะพัฒนาศูนย์กลางคมนาคมขนส่งจังหวัดอุดรธานีซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ MSD  เช่นเดียวกับท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีจะขยายการรองรับผู้เดินทางจากปัจจุบัน 2.7 ล้านคนเป็น 7 ล้านคนในปี 2572

 

4.สาขาการพัฒนาตลาดอาหารสด ตลาดริมทางเดิน ตลาดกลางคืน พร้อมเครือข่ายเกษตรกรผลิตอาหารปลอดภัย โดยบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด จะร่วมกับเครือข่ายสมาร์ทฟาร์มเมอร์อุดรธานี พัฒนาผักผลไม้และอาหารสดสนับสนุนการบริการโรงแรม ร้านอาหาร ตลาดสด และส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยไปยังต่างประเทศ โดยจะขยายพื้นที่ปลูกผักผลไม้ปลอดภัยจาก 3,000 ไร่ในปัจจุบันเป็น 1.2 หมื่นไร่ในปี 2572

 

5.สาขาการค้าปลีกและร้านค้าท้องถิ่น เป้าหมายเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกของ department stores, discount stores, convenience stores, grocery stores พร้อมด้วยกิจกรรมค้าปลีกท้องถิ่น โดยเฉพาะศูนย์การค้านั้น จะมีการลงทุนขยายพื้นที่ของศูนย์การค้ายูดีอีก 10,000 ตารางเมตรในปี 2024 และจะมีการลงทุนศูนย์การค้าของเครือข่ายแบรนด์ดังอีก 30,000 ตารางเมตรในปี 2568 เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของธุรกิจไมซ์และการท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว

 

6.สาขาการพัฒนาอาคารสำนักงาน coworking spaces ที่อยู่อาศัยหลายระดับราคา เข้มข้น โดยเทศบาลนครอุดรธานีจะเปิดให้เอกชนพัฒนาอาคารบริเวณสถานีขนส่งอุดรธานีเป็น coworking spaces และศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่ 400 ตารางเมตร นอกจากนั้น ยังมีนักลงทุนจะก่อสร้างอาคารสำนักงานผสมผสานศูนย์อาหารบนพื้นที่ยูดีทาวน์อีก 5,000 ตารางเมตรในปี 2568

 

7.สาขาการท่องเที่ยววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา กำหนดเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าชมการแสดง วิถีชีวิต พิพิธภัณฑ์ (พิพิธภัณฑ์ไทย-ญวนและพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง แปลงการเกษตรนิเวศ และวัดที่มีชื่อเสียงทางความเชื่อ ทั้งวัดป่าบ้านตาด หรือวัดคำฉะโนด ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเพิ่มค่อนข้างสูง

 

ทั้งนี้ ในส่วนการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมืองสมาคมการผังเมืองไทยจะสนับสนุนการออกแบบเมืองให้แก่เทศบาลนครอุดรธานีเพื่อจัดสร้างพื้นที่พัฒนาพิเศษไมซ์ หรือ MICE Special Districts หรือ MSD บนพื้นที่ 3 ตารางกิโลเมตรในเขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีพื้นที่ยูดี ทาวน์เป็นจุดใจกลาง ซึ่งจะมีความเข้มข้นกิจกรรมศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมระดับ 4-5 ดาว โรงพยาบาลและศูนย์บริการสุขภาพ ตลาดดลางคืน

 

“เชื่อว่าโมเดลนี้จะเป็นแนวทางที่ตอบสนองคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ได้ในระยะยาว ส่วนรัฐบาลจะสนใจนำโมเดลนี้ไปใช้หรือไม่ก็แล้วแต่ภาครัฐ”นายฐาปนา กล่าวในที่สุด

 

ด้านพ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัดในฐานะผู้ประสานงาน  กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด, สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี ,เทศบาลนครอุดรธานี, มาดีอีสาน ,อุดรฟอรัม ,หอการค้าจังหวัดอุดรธานี และสมาคมการผังเมืองไทย ได้สรุปและมีมติจัดทำ “กฎบัตรอุดรธานี” หรือ “Udonthani Charter” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดอุดรธานีสู่เมืองรายได้สูง โดยกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์จังหวัดหรือ GPP เพิ่มขึ้นสองเท่าในปี 2572 โดยอาศัยกลยุทธ์ “MICE & Walkable City” หรือธุรกิจการประชุมและนิทรรศการ พร้อมด้วยธุรกิจในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง การค้าปลีกเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การนันทนาการด้านตลาดอาหารกลางคืน หรือ Night Market อาหารริมทางหรือ street food การพัฒนาอาคารสำนักงานและโคเวิร์คกิ้งสเปซ และการพัฒนากายภาพถนน

 

“เพื่อปรับปรุงอุดรธานีให้เป็นเมืองแห่งการเดินที่ได้มาตรฐาน คาดหวังให้จังหวัดพัฒนาธุรกิจสีเขียวและการจ้างงานสีเขียวเพิ่มขึ้นพร้อมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จาก 22 เท่าลงมาเหลือ 15 เท่าในปี 2572”พ.ท.วรายุส์ กล่าวในที่สุด