ปัจจุบันประชากรโลกกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ประชากรในสังคมมีอายุยืนขึ้น เนื่องจากมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรโลกปรับตัวสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นที่จับตามอง ส่งผลให้ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัวกับความท้าทาย และใช้ประโยชน์จากสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประชากรโลก บทความนี้จะพูดถึงแนวโน้มที่สำคัญจาก Euromonitor’s Households ในการบรรยายสรุปกลยุทธ์ของปี 2030


กลุ่มประชาการที่มีอายุมากกว่า 50 ปีกำลังเป็นตลาดหลัก

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรในลักษณะนี้ กำลังเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในปัจจุบันกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็กำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์นี้ เนื่องจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ช่วงอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น   อย่างไรก็ตามทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต่างปรับตัวให้เพื่อเข้าถึงตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และตระหนักถึงผลกระทบของประชากรสูงอายุ

ในปีค.ศ. 2000  ร้อยละ 23.1 ของประชากรที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน (ผู้มีรายได้หลักในครัวเรือน) แต่ละครัวเรือนมีอายุมากกว่า 60 ปี   และภายในปีค.ศ. 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.4 และถ้าหากรวมผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปด้วยแล้วหัวหน้าครอบครัวจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งหมายความว่ารายได้ครัวเรือน และการตัดสินใจใช้จ่าย จะเป็นกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคที่เฉพาะตัว

ความท้าทาย: การเคลื่อนที่โยกย้าย การอยู่อาศัยคนเดียว และการว่างงาน

นอกเหนือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคที่กว้างขึ้น (เช่น การลดลงของผลิตภาพแรงงาน และความกดดันต่อรัฐสวัสดิการ) ประชากรสูงอายุ ก็มีความท้าทายในเรื่องของครัวเรือนที่ต่างออกไป

  • ผู้สูงอายุมีความต้องการที่พักอาศัยที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยังขาดการวางแผนที่เพียงพอสำหรับการโยกย้าย เคลื่อนที่ผู้สูงวัยที่พิการ หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อย่างบันได ห้องน้ำ หรือทางเดิน ทางออกต่างๆ อาจกลายเป็นจุดอันตรายได้
  • เนื่องจากหลายครอบครัวมีการหย่าร้างส่งผลให้ สัดส่วนของหัวหน้าครัวเรือน ทั่วโลกที่เป็นผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 2015 ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อยู่บ้านคนเดียว ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวอาจเผชิญกับปัญหา เช่น ภาวะซึมเศร้า การถูกทอดทิ้ง และความยากจน
  • หัวหน้าครอบครัวจำนวนมาก พบว่า ตนเป็นผู้ตกงาน และไม่มีใครต้องการเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ การหาอาชีพที่พวกเขาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกำลังเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาล ซึ่งทางออกหนึ่งคือ การส่งเสริมให้วัยเกษียณทำงานอาสาสมัครในชุมชนของพวกเขา หรือประกอบอาชีพอิสระโดยเริ่มจากการทำธุรกิจเล็กๆ

โอกาส: เทคโนโลยีอัจฉริยะ การพัฒนาที่อยู่อาศัย และบริการออนไลน์

  • กลุ่ม “grey” หรือผู้สูงวัย เป็นกลุ่มลูกค้าหลักจากการเติบโตของเทคโนโลยีอัจฉริยะในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคสูงอายุ ได้แก่ เตียงอัจฉริยะที่สามารถตรวจสอบการเต้นของชีพจร และการหายใจ เครื่องตรวจจับการล้มที่แขวนบนเพดาน อุปกรณ์เครื่องครัวอัจฉริยะที่ลดขั้นตอนการปรุงอาหารและกล้องวงจรปิดที่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพติดตามดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยที่ป่วยได้อย่างใกล้ชิด เกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั่วโลกมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในปี 2016
  • การเปลี่ยนแปลงลักษณะความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นโอกาสให้นักพัฒนาและกลุ่มก่อสร้างในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ที่ใช้งานง่ายขึ้นและไม่ซับซ้อน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น ลิฟต์เคลื่อนที่
  • เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผู้สูงวัยเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ใช้เทคโนโลยีใดๆ ช้าที่สุด และมีความรู้ด้าน IT ที่ค่อนข้างจำกัด บริการออนไลน์ที่สร้างมาเพื่อรับรองผู้สูงวัยจึงช่วยอำนวยความสะดวกของการใช้งานให้ง่ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น e-government portals ที่ให้บริการชำระบิล ค่าบริการจัดส่งของชำ และแม้แต่ความช่วยเหลือด้านการสุขภาพจากระยะไกลผ่าน webcam หรือเซ็นเซอร์จากร่างกาย

 

สินค้าในครัวเรือนที่เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ

มีบริษัทจำนวนมากที่เริ่มเข้าสู่ตลาดผู้สูงวัย และนี่คือตัวอย่างของสินค้า

  • Amazon (ร้านค้าปลีกออนไลน์ของสหรัฐฯ) สร้างร้านสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งสินค้าจะเน้นไปที่ความต้องการด้านสุขภาพที่หลากหลาย เช่น วิตามิน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
  • CareLinx เป็นตลาดออนไลน์ที่เชื่อมโยงผู้คนที่ต้องการค้นหา คนดูแลบ้าน ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทางการแพทย์ พยาบาล และอื่นๆ
  • ElliQ เป็นระบบอำนวยความสะดวกภายในบ้าน (คล้ายกับ Amazon Echo) ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุช่วยให้พวกเขาสนทนาผ่านวิดีโอคอลกับครอบครัว หรือเตือนให้พวกเขาทานยา
  • ผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันกำลังเข้าสู่ตลาดเช่นกัน เช่น Easy Button เป็นปุ่มเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้แต่งตัวเร็วขึ้นสำหรับผู้ที่อวัยวะบางส่วนไม่สามารใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ Liftware เป็นช้อนอัจฉริยะที่ช่วยให้ผู้ที่มีอาการสั่น สามารถทานอาหารได้เอง

ที่มา : https://blog.euromonitor.com