ศุภาลัยฯเผยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวไม่กระทบภาคส่งออกไทยเชิง Absolute Value ขณะที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบุการหยุดซื้ออาคารชุดไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยระยะสั้น แต่ระยะยาวผู้ประกอบการลดผุดโครงการใหม่แน่
ดร.ประศาสน์  ตั้งมติธรรม กรรมการที่ปรึกษา บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน)หรือ SPALI เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวทำให้หลายๆ ฝ่ายห่วงใยถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย ถ้าหากคิดโดยภาพรวม คงจะบอกว่าทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องของไทยลดลง ในเชิงของ Absolute Value  ซึ่งจริงๆ แล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะโดยทั่วไปแล้ว เศรษฐกิจทุกประเทศจะต้องขยายตัว แต่อัตรามากน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากกว่า

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ Absolute Value หรืออัตราการขยายตัวลดลง การพิจารณาผลกระทบเพียงผิวเผินก็คงไม่ทำให้สามารถบอกขนาดของผลกระทบที่แน่นอนได้  อย่างไรก็ตาม การพิจารณาข้อมูลในระดับที่ลึกขึ้นจะให้ภาพที่ชัดขึ้น เพื่อใช้เป็นนัยสำคัญเชิงนโยบายได้

ทั้งนี้จากบรรทัดแรกของตารางที่ 1 แสดงมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนและมูลค่าการนำเข้าของไทยจากจีนในปี 2017(พ.ศ.2560) และ 2012 (พ.ศ.2555)ตามลำดับ การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวประมาณ 32% ระหว่างสองปีดังกล่าวและการนำเข้าของไทยจากจีน ขยายตัวเพียง 9% ในช่วงเดียวกัน  แต่ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงดังกล่าว ลดลงจาก 7.9% เป็น 6.9% ต่อปี

“ข้อเท็จจริงตรงนี้ดูจะขัดๆ กับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเศรษฐกิจขยายตัวจะนำไปสู่การนำเข้าที่ขยายตัวด้วย หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว การนำเข้าต้องชะลอตัวลงด้วย  แต่นี่ไม่ใช่  เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อสันนิษฐานมีได้เพียงประการเดียวคือการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงดังกล่าว ควรจะต้องมีการเจาะตลาดย่อยๆ ในจีนเพิ่มขึ้นจากสินค้าชนิดเดิมๆ นี่คือความเป็นจริงที่จะบอกว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องห่วงใยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเลย ในกรณีที่เรามีความสามารถเพิ่มชนิดสินค้าหรือปริมาณสินค้าชนิดเดิมๆ ในตลาดจีนโดยรวมได้อย่างที่เกิดขึ้นแล้ว”ดร.ประศาสน์  กล่าว

ส่วนการนำเข้าของไทยจากจีนในช่วงเวลาเดียวกันมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าการส่งออกของไทยไปจีนมาก สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าการนำเข้าของไทยจากจีนเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จสำหรับใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่และการส่งออกของไทยในที่นี้เป็นผลรวมของการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากมาย ดังนั้น การขยายตัวของการนำเข้าของไทยจากจีนจึงแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยรวม ความผันผวนจึงมีได้น้อยกว่า

 

 

ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนนั้นจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของจีนและนโยบายเฉพาะของจีนประเทศเดียวเป็นหลัก นอกเหนือไปจากความสามารถในการเจาะตลาดจีนของไทยทั้งในเชิงปริมาณและชนิดสินค้า เมื่อประกอบกับตลาดส่งออกของจีนมีการกระจายตัวน้อยกว่าไทย ความผันผวนของการส่งออกไทย     ไปจีนจึงมีได้มากกว่า ทั้งๆ ที่ลักษณะการนำเข้าของจีนจากไทยก็เป็นไปเพื่อใช้สินค้ากึ่งสำเร็จไปผลิตเป็นสินค้าส่งออกเช่นเดียวกับไทย

“บรรทัดอื่น ๆ (ยกเว้นบรรทัดที่ 1) ของตารางที่ 1 แสดงชนิดของสินค้าต่างๆ ทั้งฝั่งที่จีนนำเข้าจากไทย และฝั่งที่จีนส่งออกมายังไทย ในฝั่งของสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยนั้น ปรากฏว่า สินค้าที่มีสัดส่วนจากการส่งออกรวมของไทยสูงสุด 10 อันดับแรกเพิ่มขึ้นจาก 32.5% เป็น 54.1% ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ว่า สินค้าส่งออกของไทยกลุ่มเดียวกันมีสัดส่วนจากสินค้าส่งออกรวมเพิ่มขึ้น  อีกทั้งมูลค่าส่งออกรวมของไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยที่สัดส่วนของสินค้าส่งออก 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 22 หน่วยเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การกระจุกตัวของชนิดสินค้าส่งออกของไทยไปจีนมีมากขึ้น”ดร.ประศาสน์  กล่าว

เมื่อพิจารณาด้านของสินค้านำเข้าของไทยจากจีนแล้วพบว่า สัดส่วนของสินค้านำเข้าของไทยจากจีนโดยรวม 10 อันดับแรกลดลงจาก 27.6% เป็น 22.5% ซึ่งแสดงว่าสินค้านำเข้าของไทยจากจีน กระจายออกไปในชนิดสินค้าสินค้าที่มีจำนวนหลากหลายเพิ่มขึ้น


ตารางที่ 2 แสดงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยและเงินลงทุนต่างประเทศโดยตรงจากจีนมาไทยในช่วงปี 2009-2018 เมื่อดูจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยแล้วจะเห็นว่าการขยายตัวมีอัตราสูงในช่วงปี 2010-2013 และ 2015 ส่วนอัตราการขยายตัวชะลอในช่วงปี 2016-2018 ซึ่งอาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นสืบเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงดังกล่าวได้ แต่ก็คงต้องยอมรับว่าการขยายตัวปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์เป็นสิ่งที่ไม่อาจคงอยู่ได้ในระยะยาว ที่น่าสังเกตคือปี 2014(พ.ศ.2557) ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง  เหตุการณ์นี้เกิดจากการที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามนักท่องเที่ยวจีนมาไทยในช่วงการประท้วงของกลุ่มการเมือง  ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลจีนมากกว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ  เมื่อพิจารณาจำนวนเงินลงทุนโดยตรงจากจีนมาไทยแล้ว อาจได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วได้ว่า การลงทุนโดยตรงของจีนในไทยหารูปแบบอะไรที่ชัดเจนไม่ได้ ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่ามาจากนโยบายการกำกับเงินทุนไหลออกเองทางการจีนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจ


ส่วนการซื้ออาคารชุดของชาวจีนในไทยไม่ส่งผลกระทบต่อจีดีพีในระยะสั้น เนื่องจากโครงการ      อาคารชุดที่มีอยู่แล้วจะต้องก่อสร้างและกลายเป็นจีดีพีอยู่แล้ว แม้ว่าการซื้อของชาวจีนจะหยุดลงโดยทันทีทันใด อย่างไรก็ตามสินค้าที่คงเหลือขายไม่ได้ก็ยังคงเป็นจีดีพี ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่ในอนาคตที่ผู้ประกอบการอาจจะลดการทำโครงการใหม่ลง

“เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ถือได้ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเชิงของ Absolute Value ที่ลดลง แต่อาจจะอัตราการขยายตัวอาจจะส่งผลให้ชะลอตัวได้บ้างเล็กน้อยในลักษณะของ Random effect ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีลักษณะแตกต่างจากที่อาจจะเกิดขึ้นกับการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าด้วยอัตราที่ไม่สูงเท่าในสมัยก่อน ปัญหาจะกลายเป็นว่าไทยจะรับได้กับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาได้มากน้อยเพียงใดมากกว่า ส่วนเงินลงทุนโดยตรงในไทยจากจีน เป็นสิ่งที่หวังพึ่งไม่ได้มานานแล้วและมีขนาดที่ไม่มีนัยสำคัญ แม้ว่าจะเทียบกับสิงค์โปรหรือฮ่องกงก็ตาม การหยุดซื้ออาคารชุดโดยทันทีของชาวจีนไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่อาจมีได้ในระยะยาว”ดร.ประศาสน์   กล่าวในที่สุด