ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(REIC) ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) ณ ไตรมาส 1 ปี 2562 โดยภาพรวม “ทรงตัว”หากเจาะลึกพบผู้ประกอบการรายใหญ่มีความเชื่อมั่นลดลง 3 ไตรมาสติดต่อกัน การขยายลงทุนที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อยยังมีมุมมองเชิงบวก เชื่อความต้องการซื้อจริงมี

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ในไตรมาส 1 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 50.9 จุด ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า(ไตรมาส 4/ 2561)ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 จุด แต่เมื่อพิจารณาในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 52.2 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 55.7 จุด โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงในทุกปัจจัยแต่ยังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด ในเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านต้นทุนการประกอบการ ที่ยังต่ำและขาดความเชื่อมั่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง รวมถึงความกังวลเรื่องค่าแรงต่างๆที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

“ยอมรับว่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่ม Listed Companies ลดลง 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2561 ถึงไตรมาส 1 ปีนี้” ดร.วิชัย กล่าว

ทั้งนี้ระดับความเชื่อมั่นที่ลดลงนี้ อาจเป็นผลมาจากที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากมาตรการการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และอุปสงค์ในตลาดมีจำนวนลดลงจากปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการระบายอุปทานเหลือขายออกไปซึ่งทำให้ผู้ประกอบการอาจมีการปรับตัวในการทบทวนแผนการเปิดโครงการใหม่ และการขยายลงทุนที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 47.7 จุด แม้จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 42.3 จุดพอสมควร แต่ยังคงมีค่าต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจในภาวะปัจจุบันดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยเป็นผลจากปัจจัยยอดขาย และผลประกอบการ (กำไร) ที่ลดลงมากจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ดูตารางที่ 1 และแผนภูมิที่ 1)

ฝากความหวังรัฐบาลใหม่ดันศก.ดีขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ในภาพรวมไตรมาส 1 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 58.4 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.5 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางของธุรกิจ โดยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นหลังการจัดตั้งรัฐบาล

หากพิจาราณาเป็นรายกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 59.9 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.4 จุด โดยมีสาเหตุจากปัจจัยผลประกอบการ (กำไร) และยอดขายในอนาคตจะลดลง ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและจะกระทบต่อการจ้างงานลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 56.1 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.2 จุด เนื่องจากส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นกว่าไตรมาสปัจจุบันทุกด้าน(ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 2)

อนึ่ง :โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย มีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50 ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นและมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในทางตรงกันข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง จะหมายถึง ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นและมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการคำนวณค่าดัชนีจะให้น้ำหนักบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Listed Companies) ต่อบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Non-listed Companies) เป็น 70 : 30