บริษัทพัฒนาเมือง เป็นโมเดลใหม่ที่ช่วยเติมเต็มการพัฒนาเมืองสู่ Smart City ให้เป็นจริงได้รวดเร็วขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองสู่ Smart City ซึ่งยุทธศาสตร์เมืองมีหลายรูปแบบ ความแตกต่างของยุทธศาสตร์เมืองวัดได้จากระดับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนและกลไกที่คัดเลือกเป็นเข็มมุ่งในการพัฒนา ผู้บริหารเมืองและผู้บริหารแผนต้องทำความเข้าใจรูปแบบแต่ละยุทธศาสตร์ให้ถ่องแท้ ต้องคัดเลือกรูปแบบยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้ยุทธศาสตร์นั้นสอดคล้องกับกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหลายจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายฐาปนา บุญยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย เปิดเผยว่า การที่จะตั้งบริษัทพัฒนาเมือง (Smart City) ของแต่ละจังหวัดขึ้นมาได้นั้นจะต้องมีการร่างกฎบัตรร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยดำเนินการสำเร็จมาก่อน ซึ่งการร่างกฎบัตรขึ้นมานั้นเพื่อชี้ให้เห็นร่วมกัน โดยอาจจะเป็นการวางแผนไว้ระยะ 10-20 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎบัตรของแต่ละเมืองที่ร่างขึ้นมา ล่าสุดจ.อุดรธานี ได้มีการลงนามในการเป็น “อุดรธานี เมืองไมซ์&เมืองเขียว” (Udon Thani MICE & Greenest City)

“ณ วันนี้ภาคราชการมีการเติบโตมาก พร้อมๆกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ไปบดบังในหลายๆภาคส่วน ในหลายประเทศประสบปัญหาหน่วยงานราชการโตและโดดเด่นจนเกินไป ก็ต้องมีการปรับบทบาทให้ลดลงมาเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น”

นายฐาปนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่การพัฒนาเมืองต้องมีกฎบัตรนั้นเพื่อต้องการยกระดับภาคส่วนต่างๆให้มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งในกระบวนการวางแผนจะต้องมีการทำยุทธศาสตร์เมือง ร่วมกันขึ้นมาก ซึ่งที่หลายๆประเทศดำเนินการมา จะมีทั้งหมด 4 ระดับด้วยกัน คือ

1.การมีส่วนร่วมระดับที่หนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ยกร่างแผนและนำแผนรับฟังความคิดเห็น โดยภาคส่วนต่างๆ อยู่ในฐานะเสนอความต้องการ ซึ่งหน่วยงานจะพิจารณานำข้อเสนอประยุกต์ใช้

 2.การมีส่วนร่วมระดับที่สอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ยกร่างแผนและนำแผนรับฟังความคิดเห็น ภาคส่วนเป็นผู้ติดตามแผน ร่วมประเมินและเสนอแนะการปรับปรุงแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน

 3.การมีส่วนร่วมระดับที่สาม ภาคส่วนร่วมกันยกร่างแผนยุทธศาสตร์เมืองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ร่วมติดตามประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้บรรลุผลตามที่ได้ยกร่าง

 4.การมีสวนร่วมระดับที่สี่ ภาคส่วนร่วมกันยกร่างแผนยุทธศาสตร์เมืองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคส่วนสามารถนำเสนอแผนและความต้องการ พร้อมร่วมรับผิดชอบในการปฏิบัติการขับเคลื่อนตามกลยุทธ์ของแผน ร่วมติดตามประเมินผลและปรับปรุงแก้ไข ขั้นตอนนี้จัดเป็นระดับการทำแผนยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “กฎบัตร (Charter)” โดยผู้แทนของภาคส่วนต้องลงนามความตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่างแผนปฏิบัติการ (Action Plan) จะต้องกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ต้องสื่อสารวิสัยทัศน์ให้สาธารณะรับทราบและแสดงข้อคิดเห็นอย่างอิสระ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะดำเนินการยกร่างแผน ปฏิบัติตามแผน และรับผิดชอบแผนเพียงหน่วยงานเดียวหรือเฉพาะกลุ่มเดียวไม่ได้

ทั้งนี้แนวความคิดที่แต่ละภาคส่วนได้เสนอไปเมื่อร่างในกฎบัตรแล้วจะต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่นำเสนอ  โดยกฎบัตรนั้นมีทั้งหมด 9 ขั้นตอน  ซึ่งจ.อุดรธานี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 6 ขณะที่จ.สระบุรี อยู่ในขั้นตอนที่ 3

“เดิมภาครัฐจะไม่ค่อยกล้าลงนามร่วมในกฎบัตร แต่เมื่อได้พิจารณาเงื่อนไขในเอกสารหมดแล้ว ภาครัฐกลับเป็นฝ่ายเสนอตัวมาเข้าร่วมร่างกฎบัตรเอง และกรรมการกฎบัตรก็จะมีหน้าที่นำแผนบรรจุในยุทธศาสตร์ในแต่ละจังหวัดต่อไป ซึ่งแต่ละจังหวัดร่างกฎบัตรจะแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยเฉพาะจ.อุดรธานี ที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก”นายฐาปนา กล่าวในที่สุด